CEA Global OTOP 2022

โควิด-19 คือตัวแปรสำคัญที่ทำให้เห็นว่าการทำธุรกิจแบบดั้งเดิมไม่สามารถอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะภาคธุรกิจ OTOP ของไทยที่จะต้องเปลี่ยนกระบวนการคิดใหม่ในการดำเนินกิจการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA จึงได้จัดทำโครงการ CEA Global OTOP ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2564 รวมถึงในปี 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม “อัจฉริยภาพแห่งพื้นที่” (Genius Loci) พร้อมตั้งเป้าปฏิรูปความคิดของ OTOP ไทย ผ่านการค้นหา “แก่นคุณค่า” ที่เป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ประจำพื้นที่จากสินทรัพย์หรือเสน่ห์ชุมชนที่มีหลากหลายด้าน ตั้งแต่วิถีการดำเนินชีวิต วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ศิลปะ ดนตรี แหล่งท่องเที่ยว ซึ่งสั่งสมมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แล้วนำมาปรับใช้ในการริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ต่าง ๆ โดยการรวมทีมเพื่อพัฒนา “โครงการริเริ่ม” ให้เป็น “โครงการต้นแบบ” อย่างเป็นรูปธรรม 

CEA Global OTOP ปี 2565: Strategic & Creative Renewal in Triverse

โครงการ CEA Global OTOP ปี 2565 จัดขึ้นระหว่างเดือนพฤษภาคม - กันยายน 2565 มาพร้อมแนวคิดหลัก “Strategic & Creative Renewal in Triverse” หรือ “การริเริ่มใหม่เชิงกลยุทธ์และสร้างสรรค์ในโลกสามธุรกิจ” เพื่อให้ภาคธุรกิจปรับตัวให้เข้ากับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมโลกในศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรอบด้าน โครงการฯ เน้นการคิดใหม่ ริเริ่ม ออกแบบวางแผนธุรกิจ OTOP และ/หรือเตรียมเปลี่ยนผ่านธุรกิจ OTOP อย่างมียุทธศาสตร์และสร้างสรรค์ โดยสร้างสรรค์คุณค่าจากพื้นที่และส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน (Value Creation from Genius Loci & Sustainable Development) เพื่อรองรับหรือปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป พร้อมต่อยอดให้ก้าวไกลสู่ระดับสากล


ผนึกกำลังผู้คน พื้นที่ และธุรกิจ ผลักดันสู่โครงการริเริ่มต้นแบบและการจัดทำโร้ดแม็ป

สำหรับขั้นตอนการดำเนินโครงการเริ่มต้นที่การคัดเลือก 15 ทีมธุรกิจ/พื้นที่ จากผู้สมัครในพื้นที่จังหวัดเป้าหมายหลักตามโครงการเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย (Thailand Creative District Network: TCDN) ที่ส่งข้อเสนอเข้าร่วมโครงการจากทั่วประเทศ จากนั้นทุกทีมจะเข้ารับคำปรึกษาเชิงลึกเพื่อพัฒนาโครงการริเริ่มต้นแบบ 

โครงการฯ ให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่ม คน / พื้นที่ / ธุรกิจ เน้นการมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายและทิศทาง รวมถึงการร่วมคิดริเริ่ม ร่วมทำ และร่วมรับผิดชอบของสมาชิกผู้ประกอบการในกลุ่ม (Bottom-Up) โดยผู้จัดทำโครงการฯ ได้มอบเครื่องมือเพื่อใช้สร้างสมดุลระหว่าง “กลยุทธ์ธุรกิจและการสร้างสรรค์” ให้กลุ่มคณะทำงานฯ นำไปพัฒนาและต่อยอดธุรกิจในพื้นที่ด้วยตนเองได้ต่อไปอย่างมีทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจน ที่สำคัญการดำเนินธุรกิจนี้เป็นการดำเนินธุรกิจใน 3 โลกพร้อม ๆ กัน ได้แก่ โลกกายภาพ โลกดิจิทัล และโลกเสมือน เพื่อให้สอดรับกับวิธีการดำเนินธุรกิจที่หลากหลายและอยู่บนแพลตฟอร์มหลากหลายรูปแบบในปัจจุบัน    

แนวทางการทำงานหลักคือการสร้างกลุ่มผู้ประกอบการคณะทำงานในพื้นที่ที่มีความหลากหลายและมีความรู้ความสามารถ โดยกลุ่มที่ปรึกษาของโครงการฯ จาก CEA จะจัดทำกระบวนการและใช้เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อให้ “แต่ละกลุ่มผู้ประกอบการคณะทำงาน” มองเห็นสถานการณ์ในปัจจุบันของชุมชน พื้นที่ และธุรกิจ จากนั้นจึงค้นหาทางเลือกและพิจารณาโอกาสความเป็นไปได้ทางธุรกิจต่าง ๆ ในอนาคตตามศักยภาพของแต่ละกลุ่ม และริเริ่มวางแผนในการกำหนด “โครงการริเริ่มต้นแบบ” นอกจากนี้ยังมีการจัดให้กลุ่มผู้ประกอบการคณะทำงาน มีการวางแผนทั้งระยะสั้น (ทำวันนี้ NOW) และจัดทำโร้ดแม็ป (Roadmap) รวมถึงการวางแผนโครงการระยะกลางและระยะยาว 3 - 5 ปี (ทำวันหน้า NEXT) อีกด้วย  

ภาพจำลองการทำงานโครงการฯ ในปี 2565

ผลลัพธ์ 12 กลุ่มผู้ประกอบการ และ 12 ผลิตภัณฑ์/บริการ จาก CEA Global OTOP ปี 2565

ผลลัพธ์ของโครงการ CEA Global OTOP ปี 2565 คือกลุ่มผู้ประกอบการจากพื้นที่จังหวัดเป้าหมายหลักตามโครงการ TCDN จำนวน 12 กลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มได้พัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่น่าสนใจและสะท้อนอัตลักษณ์ของพื้นที่ ดังนี้ 

1. Nanglae Plern & CO. โดย กลุ่ม Nanglae Plern & CO.
ผลิตภัณฑ์ชุดการเรียนรู้ศิลปะจากใบสับปะรด
จังหวัดเชียงราย

กลุ่มศิลปินรุ่นใหม่ที่มีความมุ่งมั่นร่วมมือกับผู้ผลิตสับปะรดนางแลและภูแล สร้างมูลค่าเพิ่มจากสับปะรดทุกชิ้นส่วน ผ่านการแปรรูปขนมและผลิตภัณฑ์ด้านงานศิลปะ เช่น การพัฒนาเป็นกล่องการเรียนรู้ ชุดทำกระดาษสา ชุดระบายสี และชุดเปเปอร์มาเช่ ภายใต้แบรนด์ Nanglae Plern & CO. 

2. Born Thailand โดย กลุ่ม Born Thailand 
แพลตฟอร์มผลิตภัณฑ์อุปโภคและบริโภคจากการเกษตรในชุมชน
จังหวัดน่านและทั่วประเทศ

Born Thailand ประกอบด้วยผู้ประกอบการ 4 ราย ได้แก่ Chorkoon Remedy, Mulberry Bangkok and Organic Farm, อัตถ บิวตี้แคร์ และ Medisci International ที่รวมตัวกันเพื่อเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์อุปโภคและบริโภคจากการเกษตรในชุมชน พัฒนาระบบนิเวศ และสร้างแพลตฟอร์มทางการตลาดสำหรับชุมชนของ Born Thailand ที่เน้นชุมชนเป็นศูนย์กลาง

3. กิ๋นกรีน โดย กลุ่ม กิ๋นกรีน 
ผลิตภัณฑ์อาหารและการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์วิถีชุมชนจากวัตถุดิบพื้นถิ่น
จังหวัดลำพูน

การรวมกลุ่มของคนรุ่นใหม่และคนในชุมชน เพื่อบูรณาการองค์ความรู้และมีส่วนร่วมสร้างผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบเหลือทิ้งในท้องถิ่น เพิ่มมูลค่าข้าวหัก ด้วยการแปรรูปเป็นข้าวแต๋นน้ำลำไยและข้าวเกรียบฟักทองขนาดพอดีคำ รวมถึงสร้างประสบการณ์การจัดเลี้ยงสีเขียว เพื่อเพิ่มมูลค่าของอาหารผ่านการรับประทานอาหารท่ามกลางป่าชุมชนอันเป็นแหล่งที่มาของวัตถุดิบ พร้อมทั้งเรียนรู้วิถีชุมชนจากเรื่องเล่าวัตถุดิบตามฤดูกาลของคนในท้องถิ่นภายใต้แบรนด์กิ๋นกรีน 

4. KIND โดย กลุ่ม KIND
ผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค วัตถุดิบจากการเกษตรปลอดภัย
จังหวัดลำปาง

กลุ่มเพียงไพลิน ออร์แกนิกฟาร์มจากจังหวัดลำปาง ที่มีเครือข่ายผู้ประกอบการทั่วประเทศ ร่วมกับ S2S Selected บริษัทผู้ผลิตอาหารเฉพาะบุคคลจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี พัฒนาแบรนด์ KIND ผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค วัตถุดิบจากการเกษตรปลอดภัย โดยสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น โกโก้ นิปส์ ซึ่งเป็นเมล็ดโกโก้เปี่ยมโภชนาการ น้ำยาบ้วนปากและน้ำยาล้างจานออร์แกนิก ภายใต้แนวคิดการสื่อสารที่โปร่งใสด้วยการแสดงคุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ และความเท่าเทียมที่ให้เกษตรกรผู้ประกอบการได้รับผลตอบแทนอย่างเป็นธรรม

5. Papacraft โดย กลุ่ม กองคร้าฟต์ 
ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ ของแต่งบ้าน จากงานหัตถกรรมพื้นถิ่น
จังหวัดลำปาง

ความตั้งใจในการเชื่อมความสัมพันธ์กับกลุ่มคราฟต์คนรุ่นใหม่ของจังหวัดลำปาง เกิดเป็นกลุ่มกองคร้าฟต์ เพื่อปลุกชีวิตและฟื้นฟูงานคราฟต์เซรามิกท้องถิ่น ทั้งชามผลไม้ ที่วางของร้อน เชิงเทียน และมุ่งสร้างพื้นที่ตลาดสำหรับกลุ่มคนรักงานฝีมือ อย่างกาดกองต้าและ Pop-Up Store พื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนนำสินค้างานคราฟต์มาจำหน่ายและประกอบธุรกิจในชุมชนของตนเอง

6. PHRAE Gleaneco NEXT โดยกลุ่ม Hug Phrae
มาสคอตส่งเสริมผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน และเครื่องดื่มหมักจากสูตรล้านนาดั้งเดิม
จังหวัดแพร่

การพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มหมัก Craft Soda (Non-Alcohol) ที่ผลิตจากผัก ผลไม้ เห็ด ดอกไม้ และสมุนไพรท้องถิ่นในจังหวัดแพร่ ภายใต้แบรนด์ Hug Phrae Craft Soda ที่มีรสชาติซาบซ่า ใช้กลิ่น สี รส สารกันบูดจากธรรมชาติ 100% พร้อมกับพัฒนามาสคอตประจำท้องถิ่นอย่าง ‘น้องซาซ่า’ โดยให้ลิขสิทธิ์แก่แบรนด์ท้องถิ่นในการนำไปใช้ออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อโปรโมตและสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน

7. สุม โดย กลุ่ม สุม Multi-Brand Store 
ผลิตภัณฑ์จากผ้าพื้นถิ่นแปรรูป และเครือข่ายการพัฒนาแบรนด์สินค้าไทย  
จังหวัดสกลนคร 

สุม Multi-Brand Store สร้างสรรค์ประสบการณ์ใหม่ในการเลือกซื้อสินค้าจากแบรนด์ สุม และ สุมโชว์เคส แหล่งรวมสินค้าไลฟ์สไตล์และของตกแต่งบ้านจากจังหวัดสกลนคร โดยรวบรวมสินค้าทั้งเครื่องแต่งกายและของตกแต่งบ้านที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อย่างรองเท้าและที่ใส่แก้วจาก Nada ชุดกันเปื้อน ชุดรองจาน กระเป๋าจาก isarnCRAFT เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของแบรนด์ไทย  

8. ขอน โดย กลุ่ม ขอน 
ผลิตภัณฑ์อาหารท้องถิ่น และเครือข่ายการพัฒนาแบรนด์สินค้าไทย
จังหวัดขอนแก่น

สัมผัสประสบการณ์ใหม่ในการเลือกซื้อสินค้า ขอน แหล่งรวมผลิตภัณฑ์ด้านอาหาร จากจังหวัดขอนแก่น ที่รวบรวมสินค้าทั้งผลิตภัณเบเกอรี่จาก AYA SWEET และผลิตภัณฑ์น้ำพริกท้องถิ่น แม่ลำดวน ที่จะมอบประสบการณ์การรับประทานอาหารรูปแบบใหม่ ด้วยชุดอาหารและเบเกอรี่ที่ทานคู่กับน้ำพริก เพื่อขยายฐานลูกค้าที่ชื่นชอบอาหารทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

9. Kan Cool โดย กลุ่ม Kan Cool 
เครือข่ายชุมชนเพลงอีสานสมัยใหม่ 
จังหวัดขอนแก่น

We Can Do กลุ่มครอบครัวนักดนตรีรุ่นใหม่ ผนึกกำลังกับปูชนียบุคคล อย่างสมาคมหมอลำและหมอแคน และกลุ่มนักดนตรีพื้นถิ่น ร่วมต่อยอดศักยภาพทางด้านดนตรีด้วยการผสานแนวดนตรีของคนรุ่นใหม่เข้ากับอัตลักษณ์พื้นถิ่นจากเครื่องดนตรีอย่างแคนและนักร้องหมอลำรุ่นเก๋า เกิดเป็น Kan Cool ช่องสร้างสรรค์คอนเทนต์ ที่จะช่วยปลุกเครือข่ายศิลปินพื้นถิ่นเพื่อเจาะตลาดกลุ่มลูกทุ่งอินดี้

10. ร้อยเอ็ด เมตตา โดย กลุ่ม Metta 
ผลิตภัณฑ์แปรรูป และศูนย์ให้ความรู้ด้านระบบนิเวศวิทยาสุขภาพ
จังหวัดร้อยเอ็ด

ความร่วมมือของวิสาหกิจชุมชนจังหวัดร้อยเอ็ดและวิสาหกิจชุมชนจังหวัดกาฬสินธ์ุ นำมาสู่การสร้างสรรค์การท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิตเพื่อสุขภาพรูปแบบใหม่ในชื่อ ‘ร้อยเอ็ด เมตตา’ ศูนย์ให้ความรู้ด้านระบบนิเวศวิทยาสุขภาพ โดยเน้นการดูแลสุขภาพองค์รวม มีการแปรรูปผลผลิตสารอาหารสูงในพื้นที่ อย่างผงกล้วยน้ำว้าดิบ ผงเห็ดไค และผงชาสมุนไพรปรุงสำเร็จ พร้อมมุ่งเน้นพัฒนาการเกษตรแบบโคกหนองนา เพื่อให้เกษตรกรสามารถประกอบธุรกิจบริการด้านสุขภาพ (Wellness) ด้วยการทำการเกษตรควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีไปพร้อม ๆ กัน   

11. DURi โดย กลุ่ม DURi Sisaket Handcrafts
ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้า เครื่องประดับแฟชั่น จากเปลือกทุเรียน 
จังหวัดศรีสะเกษ

ตัวแทนกลุ่มชาวบ้านจาก 5 ชุมชนที่เชี่ยวชาญด้านหัตถกรรมและแปรรูปสินค้าจากจังหวัดศรีสะเกษ รวมตัวกันเพื่อต่อยอดสินค้าเหลือใช้อย่างเปลือกทุกเรียน เพิ่มมูลค่าด้วยแนวคิดความยั่งยืน พัฒนาสู่แบรนด์ DURi ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้า เครื่องประดับแฟชั่น จากเปลือกทุเรียน ที่โดดเด่นด้วยแนวคิด Upcycling การทำรองเท้าจากเปลือกทุเรียนผสมยางพาราขึ้นรูป และการออกแบบที่ดึงเอกลักษณ์ในพื้นถิ่นอย่างผ้าสีกุลามาผสานกับเทคนิคการแซ่ว (การเย็บ/การปัก)

12. Arkrit’s Farm โดย กลุ่ม Arkrit’s Farm
ปลากะพงแปรรูปและตัดแต่ง และการพัฒนาชุมชนยั่งยืนด้วยวัตถุดิบพื้นถิ่น
จังหวัดสงขลา

Arkrit’s Farm ผู้คัดสรรวัตถุดิบคุณภาพสูงจากจังหวัดสงขลา ผนึกกำลังกับชุมชนรักเกาะยอ ชาวบ้านที่สืบทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาการเลี้ยงปลากะพง 3 น้ำ สู่การพัฒนาแบรนด์ Arkrit’s Farm ที่จำหน่ายปลากะพงแปรรูปและตัดแต่งเกรดพรีเมียม โดยเป็นปลากะพง 24 เดือนที่เลี้ยงในทะเลสาบสงขลาบริเวณเกาะยอ ไม่ก่อให้เกิดขยะเหลือใช้ (Zero Waste) และเป็นการส่งต่อสินค้าคุณภาพดีที่สุดให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนและโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG 

Info & Download

ดาวน์โหลด แนวคิด วิธีการ และเครื่องมือที่ใช้ในโครงการ CEA Global OTOP ปี 2565

CEA Global OTOP ปี 2565 - รายละเอียดและขั้นตอนการดำเนินโครงการ

CEA Global OTOP ปี 2565 - ชุดเครื่องมือองค์ความรู้การริเริ่มเชิงกลยุทธ์และสร้างสรรค์ (Strategic & Creative Renewal Canvas) 

สนใจแนวคิดและการดำเนินโครงการฯ ติดต่อได้ที่
นายวริทธิ ตีรประเสริฐ โทร. 081-561-7449

ดาวน์โหลดรายละเอียดและข้อมูลของ 12 ผลิตภัณฑ์และบริการจาก 12 กลุ่มผู้ประกอบการ  

ติดตามบทความที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการ CEA Global OTOP ปี 2565 ได้ที่  
www.creativethailand.org

คลิปวิดีโอเกี่ยวกับโครงการ CEA Global OTOP ปี 2565 
https://youtu.be/M1z5Zv1eZiA