Wonder Waste เปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงานไฟฟ้าแบบสุดคูล

“ขยะ” คือสิ่งที่หลายคนมักมองว่าไร้ค่าและสกปรก ยิ่งผู้คนในสังคมขาดความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการจัดการขยะที่เพียงพอแล้ว ปัญหาขยะก็ยิ่งสร้างผลกระทบต่อทั้งชุมชนและสิ่งแวดล้อมในหลายพื้นที่ ทั้งที่จริงแล้ว หากเราจัดการขยะกันอย่างถูกวิธี สิ่งไร้ค่าของใครหลายคน ก็สามารถถูกนำไปต่อยอดและสร้างคุณค่าให้กับผู้คนได้อย่างน่าอัศจรรย์ ดังนั้น การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดขยะ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญเพื่อการแก้ไขปัญหาในระยะยาว 

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA จึงได้ดำเนินโครงการสร้างนวัตกรรมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือ Wonder Waste! ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สํานักงานคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2563 เพื่อพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการบริหารจัดการขยะ บนพื้นฐานของการศึกษาพฤติกรรมของผู้ทิ้งในระดับครัวเรือนและชุมชน จำนวน 4 พื้นที่ต้นแบบ ได้แก่ ย่านเจริญกรุง, ย่านหนองแขม, ย่านศรีจันทร์ จังหวัดขอนแก่น และย่านเมืองเก่า จังหวัดภูเก็ต โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้สังคมมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการคัดแยกชยะ กระตุ้นให้เกิดการตระหนักในการบริหารจัดการให้ได้ขยะคุณภาพ ก่อนนำไปกำจัดหรือเพิ่มทางเลือกด้วยการนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าต่อไป

โครงการ WONDER WASTE! เป็นโครงการเวิร์กช็อปด้วยกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking Workshop) ผ่านการลงมือทำจริง เพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเรื่องการคัดแยกขยะจากชุมชนเพื่อเปลี่ยนขยะมูลฝอยที่ไม่มีใครต้องการเป็นพลังงานไฟฟ้าใน 4 พื้นที่นำร่อง


4 โปรเจกต์ในพื้นที่ต้นแบบการบริหารจัดการขยะ

POWER PICK (ย่านเจริญกรุง จ. กรุงเทพฯ) - ไอเดียจากกระปุกออมสินที่เปลี่ยนมาอยู่บนดิจิทัลแพลตฟอร์มและแอพพลิเคชัน ซึ่งอาศัยแนวคิดการออมพลังงานไฟฟ้าเพื่อเป็นตัวช่วยในการรีไซเคิล เริ่มจากการนำขยะประเภท RDF ที่เผาไหม้ได้แต่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ด้วยตัวเองที่บ้านมาส่ง ณ จุดรับฝากต่าง ๆ เพื่อแลกเป็นคะแนนพลังงาน (Waste to Energy Point) ซึ่งสามารถนำไปใช้ซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นส่วนลดในการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า รวมถึงใช้แลกสิทธิ์ลุ้นรางวัลต่าง ๆ ได้ ส่วนขยะที่นำมาแลกคะแนนไปก็จะถูกนำส่งไปยังโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าสำหรับชุมชนต่อไป

PRESENCE (ย่านหนองแขม จ. กรุงเทพฯ) - ระบบการจัดการขยะในคอนเซ็ปต์ “เด็กเดินขยะ Bike & Bin” ที่จะมีน้อง ๆ ปั่นจักรยานไปเก็บขยะถึงหน้าบ้านและร้านค้าในชุมชน โดยจักรยานที่ปั่นไปรับขยะจะเป็นจักรยาน 3 ล้อ ที่มีช่องเก็บขยะแยกเป็น 4 ประเภทก่อนจะนำไปจัดเก็บที่จุดพักเพื่อรอส่งต่อให้กับโรงเผาขยะ โรงงานรีไซเคิล หรือนำไปทำปุ๋ยต่อไป ซึ่งคนในชุมชนที่เข้าร่วมกับระบบการเก็บขยะนี้ จะได้มีส่วนในการรับผลตอบแทนจากขยะของตนเองด้วย เช่น ได้รับปุ๋ยจากขยะอินทรีย์ หรือถุงแยกขยะ เป็นต้น

BABA BIN (ย่านเมืองเก่า จ. ภูเก็ต) - ไอเดียถังกรองขยะลดความชื้นจากเกาะภูเก็ต อย่างที่รู้กันว่าภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยว ดังนั้นขยะที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จึงเป็นขยะอินทรีย์ (อาหาร) และบรรจุภัณฑ์ที่ปนเปื้อน นำมาสู่ที่มาของแนวคิดการจัดการกับเศษอาหารและการลดความชื้นจากขยะก่อนที่จะนำเข้าโรงเผา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้า โดยรูปแบบของบ่าบ๋า บิน จะเป็นถังกรองขยะลดความชื้นที่เหมาะสำหรับใช้ในร้านอาหารหรือคาเฟ่ ภายในถังจะมีการแยกส่วนสำหรับใส่บรรจุภัณฑ์และเศษอาหารออกจากกัน ส่วนที่ใส่เศษอาหารสามารถลดความชื้นได้ด้วยถังปั่นที่อยู่ภายใน สามารถบดอัดบรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บขยะ และมีตัวกรองสำหรับแยกของเหลวตกค้างเพื่อลดความชื้นด้วย

บุญบุญ (ย่านศรีจันทร์ จ. ขอนแก่น) - หุ่นยนต์สร้างเครือข่ายเก็บขยะที่ตั้งใจทำให้ผู้คนเข้าถึงถังขยะได้ง่ายขึ้น และยังเป็นหุ่นยนต์หน้าตาคล้ายแมวที่คอยทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยในการให้ข้อมูลสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องการแยกขยะอย่างถูกวิธี โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ หุ่นยนต์สำหรับใช้ภายในร้านค้าที่จะสร้างความตระหนักรู้เรื่องขยะให้แก่ผู้มาใช้บริการ และหุ่นยนต์สำหรับใช้ภายนอกที่มีขนาดใหญ่กว่าและจะคอยรับขยะจากร้านค้าที่ทำการแยกไว้แล้วตั้งแต่ต้นทาง เพื่อสร้างความมั่นใจว่าขยะที่รับจากการแยกนั้นจะถูกนำไปจัดการต่ออย่างมีประสิทธิภาพ

 

Info & Download

Factsheet โครงการฯ

Wonder Waste! Showcase