ECO Creator สร้างนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมสู่การพัฒนายั่งยืน

TCDC ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) และศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (VGREEN) จัดทำโครงการ ECO Creator สร้างนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมสู่การพัฒนายั่งยืน เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภค ไม่ว่าจะเป็นสินค้า Lifestyle เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน วัสดุ สิ่งทอ บรรจุภัณฑ์ และอื่นๆ ที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์แล้วสามารถส่งออกตลาดในต่างประเทศ โดยมีจุดประสงค์เพื่อที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับความรู้ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์เพื่อสิ่งแวดล้อมบนแนวคิดการออกแบบโดยตลอดวัฏจักรชีวิต (Life cycle design) ที่จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยพิจารณาประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การใช้หลักการพัฒนาผลิตภัณฑ์ แนวทางการสร้างนวัตกรรม และกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design thinking) เพื่อสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ ผ่านการเวิร์กช็อปด้วยกระบวนการ Design Thinking เพื่อค้นหาแนวคิดผลิตภัณฑ์ (Product concept) อย่างเป็นระบบ และต่อยอดในโครงการ คิด ผลิต ขาย D.R.I.V.E

กิจกรรมจะจัดเป็น 3 ช่วง ดังนี้
ช่วงที่ 1 / ECO journey starts / สัมมนาเปิดตัวโครงการ ECO Creator / 6 กันยายน 2560
ช่วงที่ 2 / ECO journey starts: Design Thinking เวิร์กช็อปกระบวนการ Design Thinking เพื่อค้นหาแนวคิดผลิตภัณฑ์ (Product concept) และโจทย์ที่จะไปพัฒนาต่อในโครงการฯ / 12-13 และ 20 กันยายน 2560
ช่วงที่ 3 / ECO journey starts: Life cycle design งานบรรยายหัวข้อ การออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์เพื่อสิ่งแวดล้อมด้วยแนวคิดการออกแบบโดยตลอดวัฏจักรชีวิต (Life cycle design) / 21 กันยายน 2560

เมื่อเสร็จสิ้นการอบรม นอกจากจะได้ทิศทางของธุรกิจ ECO business model และหัวข้อที่จะพัฒนาต่อแล้ว ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถสมัครเข้าโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) โดยมี สวทช.เป็นผู้ให้การสนับสนุนทุนและให้คำปรึกษา

Info & Download

E-book “ECO Creator”
เรื่องราวของ 10 ผู้ประกอบการได้รับความรู้ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์เพื่อสิ่งแวดล้อมบนแนวคิดการออกแบบโดยตลอดวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Design)

Project Update

21.09.2560

เวิร์กช็อปครั้งที่ 4 "ECO Creator"

ผศ.ดร.รัตนาวรรณ มั่งคั่ง ผู้อำนวยการ VGREEN มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้ความรู้เกี่ยวกับ “การออกแบบโดยตลอดวัฎจักรชีวิตและการตลาดเพื่อสิ่งแวดล้อม (Life Cycle Design & Green marketing)” และแนวความคิดในการคำนึงถึงเรื่อง Life Cycle Design Thinking ที่ผู้ประกอบการทุกคนควรคำนึงตั้งแต่จุดเริ่มต้นของวัสดุตั้งต้น การออกแบบ การผลิต การขนส่ง การใช้งาน ไปจนถึงการแยกชิ้นส่วนในการทำลายผลิตภัณฑ์ รวมทั้งระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทุกขั้นตอน เพราะทุกกระบวนการนั้นล้วนมีความสัมพันธ์และส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น จากนั้นยังได้แนะนำตัวอย่าง “มาตรฐานการรองรับด้านสิ่งแวดล้อม” ทั้งไทยและต่างประเทศที่มีการรับรองถึงระดับการส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในรูปแบบโรงงานและผลิตภัณฑ์ ช่วยให้ผู้ประกอบการได้เห็นถึงขั้นตอนในการพัฒนา ปรับปรุงธุรกิจให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากลอย่างครบกระบวนการ

อาจารย์ภัทรพล จันทร์คำ อาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้มาบรรยายเรื่อง “Sustainable Design & Life Cycle Design” ผ่านแนวความคิดจากมุมของนักออกแบบ 10 ประเด็น ซึ่งจะนำไปสู่การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มาความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังได้นำกรณีศึกษาและตัวอย่างผลงานออกแบบจากทั่วโลกมาให้ผู้ประกอบการได้เห็นภาพแนวความคิดการออกแบบที่ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการได้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการผลิตของอุตสาหกรรมทั่วโลก

หลังสิ้นสุดการเวิร์กช็อปผู้ประกอบการทั้ง 10 ทีมจะนำไอเดียที่ได้ระดมความคิดไปพัฒนาต่อในโครงการ ITAP for SMEs 4.0 (โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กในยุค 4.0) โดยมี สวทช.เป็นผู้ให้การสนับสนุนทุนและให้คำปรึกษาเพื่อพัฒนาให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์หรือระบบอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคตได้อย่างยั่งยืน

20.09.2560

เวิร์กช็อปครั้งที่ 3 "ECO Creator"

“เพราะไอเดียที่สร้างขึ้นมักเป็นสิ่งใหม่กับผู้ฟัง เราจึงต้องสื่อสารให้ผู้ฟังสามารถเข้าใจและจินตนาการภาพสิ่งใหม่ที่จะเกิดขึ้นได้ใกล้เคียงกับภาพที่เราออกแบบไว้มากที่สุด และที่สำคัญต้องทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าไอเดียใหม่มีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตเดิม ไม่เปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่เดิมมากเกินไป” พงศธร ละเอียดอ่อน ผู้อำนวยการ FIF Studio

ทุกทีมนำเสนอที่มาของไอเดียใหม่ มีทั้งไอเดียในเชิงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ พัฒนาระบบ รวมทั้งแพลตฟอร์มที่ล้วนยกระดับความอีโค่ตามแบบเฉพาะของแต่ละบริษัท หลังจากนั้นเป็นช่วงเวลาของการรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญ และเพื่อนผู้ประกอบการ ช่วยเสริมการต่อยอดไอเดีย จุดประกายให้ผู้ประกอบการได้นำไปไอเดียจากการเวิร์กช็อปไปพัฒนาต่อให้เกิดขึ้นจริง

13.09.2560

เวิร์กช็อปครั้งที่ 2 "ECO Creator"

หลังจากผู้ประกอบการทั้ง 10 บริษัท ได้ระดมสมองจนเห็นภาพกลุ่มเป้าหมาย ประเด็นความยั่งยืนของธุรกิจ ไปจนถึงการสร้างคำถามที่จะนำไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ในวันแรกไปแล้ว ทุกทีมจะได้ต่อยอดกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ด้วยการ "ปรับเป้าหมายการพัฒนาผลิตภัณฑ์” ให้มีความสอดคล้อง และสร้างคุณค่าที่ตอบโจทย์กับกลุ่มเป้าหมายอีกครั้ง จากนั้นมีการนำเอา "คำถามที่จะนำไปสู่การค้นหาไอเดียใหม่” มาจัดลำดับความสำคัญว่าคำถามไหนควรที่จะต้องหาคำตอบให้ได้ทันที

Need/ Want/ Dream
เมื่อได้กลุ่มคำถามที่ต้องตอบแล้ว ผู้ประกอบการก็ต้องสวบบทบาทเป็นกลุ่มเป้าหมาย กลับมาดูที่ Customer Journey ว่ากลุ่มเป้าหมายมี ความต้องการที่จำเป็น (Need), ความต้องการที่ทำให้ดีขึ้น (Want) และความใฝ่ฝัน (Dream) ในแต่ละลำดับขั้นของ Customer Journey อะไรบ้าง เมื่อจบกระบวนการนี้ผู้ประกอบการแต่ละทีมจะได้กลุ่มคำตอบที่เป็นไปได้มากมาย

“Data Universe”
กลุ่มคำถามที่ต้องตอบ และคำตอบที่เป็นไปได้มากมายจากการระดมสมองของผู้ประกอบการแต่ละบริษัทได้นำมารวมกันเป็นกลุ่มก้อนไอเดียที่เรียกว่า “Data Universe” จากนั้นได้มีการแบ่งกลุ่มประเภทของคีย์เวิร์ด เพื่อให้ผู้ประกอบการใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำคัญในการระเบิดไอเดียใหม่

Ideation
สมาชิกในแต่ละทีมจะนำคีย์เวิร์ดจาก Data Universe มาคนละ 2-3 คีย์เวิร์ดประกอบร่างกันเป็น "ไอเดียใหม่” ซึ่งต้องคำนึงถึงทั้งคุณค่าที่กลุ่มเป้าหมายจะได้รับและในเชิงธุรกิจด้วย ในขั้นตอนนี้ผู้ประกอบการแต่ละทีมได้ไอเดียมากกว่า 50 ไอเดีย มีการคิดต่อยอดไอเดียของกันและกันภายในกลุ่ม และนำไปสู่การประเมิณคุณค่าของไอเดีย(Evaluation) ในช่วงท้ายเพื่อคัดเอาไอเดียที่ตอบโจทย์มาร้อยเรียงกันเป็นโปรเจคใหม่ที่พร้อมจะพัฒนาตามเป้าหมายที่วางไว้

Visualized Idea !
จากการระดมสมองมาตลอด 2 วันเต็ม ถึงเวลาที่ผู้ประกอบการจะแปลงไอเดียไปสู่ต้นแบบ (Prototype) เพื่อที่จะนำไปทดสอบกับกลุ่มเป้าหมาย โดยกระบวนการทดสอบนี้จะเป็นภารกิจที่แต่ละทีมจะต้องมานำเสนอผลการทดสอบในครั้งถัดไป

12.09.2560

เวิร์กช็อปครั้งที่ 1 “ECO Creator"

คุณพงศธร ละเอียดอ่อน หรือ คุณกั้ง วิทยากรที่มาเป็นโค้ชให้แก่ผู้ประกอบการทั้ง 10 ราย พาไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ในอนาคตของการผนวกรวมโลกแห่งธุรกิจ และความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมผ่านกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking)

แนวคิด "Adaptation หรือ การปรับตัว" เริ่มตั้งแต่ในอดีตยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม มนุษย์เราทุกคนพยายามปรับสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับตัวเรา เราสร้างเครื่องจักรเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ชีวิตอันสะดวกสบาย แต่เมื่อมาถึงในยุคปัจจุบันที่โลกกำลังเสื่อมโทรม ถึงเวลาแล้วที่เราต้องปรับตัวเองให้เข้ากับธรรมชาติ โดยเฉพาะจากฝั่งต้นน้ำอย่างผู้ประกอบการที่จะเข้ามามีบทบาทสร้างการปรับตัวให้กับผู้บริโภค และสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนให้กับผลิตภัณฑ์ในสังคม วิทยากรยังได้แนะนำเครื่องมือที่ผู้ประกอบการทุกคนจะได้ทดลองใช้ตลอดการเวิร์คช็อปทั้ง 4 วัน ซึ่งเน้นการมีส่วนร่วมของคนหลากสาขา (Co-creation) การทำความเข้าใจ (Empathy) สำรวจความต้องการใหม่ในการออกแบบโดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นศูนย์กลาง (Human-centered Design) และแนวทางการจินตนาการถึงนวัตกรรมในอนาคตไปพร้อมกัน

ผู้ประกอบการวางแผน "เป้าหมายของ ธุรกิจ สินค้าและบริการ" ที่ต้องการให้เกิดขึ้น จากนั้นเริ่มระดมสมองเพื่อให้ผู้ประกอบการเห็นภาพกลุ่มเป้าหมายผ่านการทำ Persona Card, Customer Journey รวมไปถึงวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ทั้งยังวิเคราะห์ Life Cycle ของผลิตภัณฑ์ที่สัมพันธ์กับคนทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทาน นำไปสู่การระดมสมองในช่วงสุดท้ายเพื่อ "ตั้งคำถามที่จะนำไปสู่การค้นหาไอเดียใหม่” ซึ่งเป็นภารกิจถัดไปของผู้ประกอบการที่จะทำหน้าที่ค้นหาคำตอบเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายที่สนใจเกิดความเปลี่ยนแปลง ปรับตัว และมีไลฟ์สไตล์ที่ยั่งยืนให้ตรงกับเป้าหมายที่วางไว้

 

06.09.2560

เปิดตัวโครงการ ECO Creator สร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมสู่การพัฒนายั่งยืน

ลงนามความร่วมมือระหว่าง TCDC สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) และ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (VGREEN)