DATA & Statistics

เมื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต้อง Digitize ครีเอเตอร์ยุคใหม่ จึงต้องรู้จัก ‘NFT’

Top Marketplaces

ในยุคที่เพลง ภาพวาด งานศิลปะ และผลงานของนักสร้างสรรค์ทั้งหลาย ต้องปรับตัวเข้าสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล ‘NFT’ จะช่วยแปลงงานเหล่านี้ให้ทำ เงินได้ และเป็นตัวพลิกโฉมวงการสร้างสรรค์โลก ที่สร้างมูลค่าการซื้อขายแล้วเกือบ 5 หมื่นล้านบาท

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ภาพทวีตแรกของ Jack Dorsey ผู้ก่อตั้ง Twitter ถูกขายไปในราคา 2.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 90.8 ล้านบาท ให้กับนักธุรกิจชาวมาเลเซีย ข้อความในทวีตระบุแค่เพียง "just setting up my twttr" เผยแพร่สู่สาธารณะครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2006

การซื้อขายไฟล์ภาพดิจิทัลในราคาอันน่าเหลือเชื่อเช่นนี้ ยังกระจายไปยังภาพและมีมชื่อดังอื่น ๆ ที่ล้วนเคยผ่านสายตาพวกเรากันมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นภาพ “เด็กหญิงมหันตภัย” (Disaster Girl) ที่เพิ่งเคาะขายไปในราคาเกือบ 5 แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 15 ล้านบาท หรือจะเป็น “เจ้าแมวสายรุ้ง” (Nyan Cat) ที่อยู่ในภาพหน้าปกบทความนี้ ก็ถูกขายไปในราคาสูงลิบถึงเกือบ 6 แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 18.7 ล้านบาทเลยทีเดียว    

ถึงเวลานี้ผู้อ่านคงเกิดคำถามผุดขึ้นมาทันทีว่า ทำไมไฟล์ภาพดิจิทัลที่ก๊อปปี้กันได้เกลื่อนกลาด ถึงมีมูลค่าขึ้นมาได้ แถมยังขายได้แพงมหาศาลเช่นนี้

ถ้าเงื่อนไขของราคาอยู่ที่ความพิเศษในการเป็น “ของแท้” ที่คนต้องการ และมี “ชิ้นเดียวในโลก” เหมือนกับภาพ Mona Lisa หรืองานศิลป์ของบรรดาจิตรกรชื่อดัง ถ้าอย่างนั้น เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดจากวงการคริปโตเคอร์เรนซีอย่าง “NFT” ก็คือคำตอบ ที่จะมาช่วยพิสูจน์ความเป็นของแท้ไม่แพ้ Ctrl+C และจะมาพลิกเกมของวงการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั่วโลกในเร็ว ๆ นี้ 

 

NFT: ติดลายเซ็น สร้างมูลค่าให้งานศิลป์ดิจิทัล

NFT หรือ Non-fungible Token คือ สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) รูปแบบหนึ่ง ถ้าอยากเข้าใจให้ง่ายขึ้นก่อนที่จะไปเรียนรู้ความพิเศษของเจ้าสินทรัพย์ตัวนี้ อาจต้องลองเปรียบเทียบกับ บิตคอยน์ (Bitcoin) ที่หลายคนพอจะคุ้นเคยกันมาบ้างแบบ 101 เสียก่อน

บิตคอยน์ คือ สินทรัพย์ดิจิทัลแบบ Fungible Token คือเป็นเหรียญ/เงินดิจิทัลที่เหมือนกัน แลกเปลี่ยนทดแทนกันได้ คล้ายกับเหรียญ 1 บาท ที่ทุกเหรียญเหมือนกันหมดแยกไม่ออก มันจึงทำหน้าที่เป็นเงิน หรือตัวกลางในการซื้อขายสินค้าและบริการได้

แต่สำหรับ Non-fungible Token (NFT) จะเป็นโทเคน/เหรียญดิจิทัลที่มีลักษณะเฉพาะตัว ไม่สามารถทำซ้ำ หรือทดแทนกันได้ เพราะถูกพัฒนาขึ้นให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เปรียบเสมือนเป็นของสะสมที่ไม่สามารถทำซ้ำได้ เป็นลายเซ็นดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ช่วยพิสูจน์ความเป็นเจ้าของชิ้นงาน 

ดังนั้น ไฟล์ดิจิทัลใด ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นให้เป็น NFT ก็เปรียบเสมือนของสะสมที่อยู่ในโลกดิจิทัล ภายใต้คอนเซ็ปต์ที่ทุกอย่างรอบตัวเราจะมี Digital Twin หรือ การทำสำเนาแบบจำลองของวัตถุต่าง ๆ ในทางกายภาพ ให้มีตัวตนและมีมูลค่าอยู่ในโลกดิจิทัลด้วย 

NFT จะทำหน้าที่เป็นใบรับรองความเป็นต้นฉบับของสินค้าและบริการดิจิทัล ชิ้นงานต่าง ๆ จะถูกกำหนด Serial Number เป็นหมายเลขที่ไม่ซ้ำกัน เรียกว่า Token ID โดยเป็นการจัดเก็บอยู่ในเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain)  โดย Token ID นี้จะทำงานในลักษณะเดียวกับบาร์โค้ดสำหรับใช้ระบุข้อมูลเกี่ยวกับรายการของสะสมนั้น ๆ  สามารถแยกแยะและบ่งบอกได้ถึงคุณลักษณะที่แตกต่างกันของชิ้นงาน ในฝั่งของนักสะสม ลูกค้า หรือนักลงทุน จะมี Contract of ownership สัญญาการเป็นเจ้าของชิ้นงานดิจิทัล ที่เปิดเผยข้อมูลให้สามารถตรวจสอบความเป็น Original ของชิ้นงานได้ รวมไปถึงพิสูจน์ทราบได้ด้วยว่า ใครบางคนกำลังถือครองชิ้นงานศิลปะหรือของสะสมดิจิทัลที่วางจำหน่ายอยู่ในตลาด

อย่าเพิ่งคิดว่านี่เป็นเรื่องไกลตัวของพวกพวกนักลงทุนเลือดใหม่ และบรรดาศิลปินครีเอเตอร์ยุคใหม่ที่ผลิตผลงานจากคอมพิวเตอร์เท่านั้น เพราะปัจจุบัน เรากำลังอยู่ในโลกของการทำให้ทุกอย่างเป็นดิจิทัล (Digitization) ตั้งแต่เพลง ภาพวาด ศิลปะการแสดง ไปจนถึงอีกหลายผลงานสร้างสรรค์ที่ทยอยตบเท้าเข้าสู่โลกดิจิทัล เพื่อเข้าสู่ “ตลาดที่ไร้พรมแดน” กันแล้ว

เมื่อเริ่มเข้าใจในวงการคริปโต และจักรู้ความพิเศษของ NFT ไปแล้ว คราวนี้เราจะชวนผู้อ่านย้อนกลับไปดูภาพทวีตแรกของ Jack Dorsey กันอีกครั้ง      

หากเปรียบเทียบกันระหว่าง ภาพเขียนของศิลปินระดับโลก กับ ทวีตแรกของโลกโดยผู้ก่อตั้งทวิตเตอร์ Jack Dorsey (กายภาพ VS ดิจิทัล) คุณคิดว่า 2 ชิ้นงานนี้มีมูลค่าสูสีกันหรือไม่ 

หากในยุคก่อนที่จะมี NFT เกิดขึ้น แน่นอนว่าภาพทวีตแรกนั้นแทบจะไม่มีมูลค่าเลย เพราะเราสามารถแคปเจอร์หน้าจอและก๊อปปี้ภาพนี้ซ้ำไปมาได้ไม่รู้จบเพียงแค่ปลายนิ้วคลิก แต่หลังจากที่มี NFT เราสามารถระบุความเป็นต้นฉบับของภาพได้ ทำให้ภาพทวีตแรกนี้ได้รับการพิสูจน์อย่างเป็นทางการว่าเป็นการพิมพ์ออกจากคอมพิวเตอร์ด้วยมือของ Jack Dorsey จริง 

เมื่อพิสูจน์ความเป็นของแท้ได้แล้ว สิ่งที่จะวัดกันต่อไปว่างานที่แปลงเป็น NFT จะมีมูลค่าแพงได้แค่ไหน ก็อาจต้องขึ้นอยู่กับความพิเศษของงานนั้น ๆ เช่น มีชิ้นเดียวในโลก เป็นโมเมนท์เหตุการณ์สำคัญระดับโลก หรือเป็นงานไวรัลที่ทุกคนในโลกโซเชียลรู้จักกันดี โดยไม่จำเป็นต้องมีการันตีจากสถาบันหรือพิพิธภัณฑ์ไหน ๆ

ความยิ่งใหญ่ของเจ้านกสีฟ้า Twitter ซึ่งกลายเป็นอาณาจักรที่มีบัญชีผู้ใช้งานถึง 192 ล้านบัญชี ในอีก 14 ปีต่อมา จึงทำให้ภาพทวีตแรกของโลกนับเป็นโมเมนต์สำคัญ และเปรียบได้เป็นผลงานชิ้นเอกของโลกไม่ต่างกัน และยังสามารถตอบคำถามไปถึงการซื้อขายประมูลงาน NFT อีกหลายชิ้น ที่ทำราคาพุ่งทะลุโลกไปอย่างน่าเหลือเชื่ออีกด้วย

"Disaster Girl"  มีมสุดดังในโลกออนไลน์ NFT เป็นอีกภาพที่กอบโกยรายได้ให้กับเด็กหญิง Zoë Roth ผู้ซึ่งไม่คาดคิดว่าภาพที่พ่อของเธอถ่ายเมื่อปี 2548 ขณะกำลัง “ยิ้มใส่กล้องอย่างเจ้าเล่ห์ในขณะที่มีฉากหลังเป็นบ้านกำลังถูกไฟไหม้” จะกลายเป็นกระแสและสามารถขายได้สูงถึง 180 ETH (อีเธอเรียม) หรือ เกือบ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในอีก 15 ปีให้หลัง แม้ภาพนี้คงไม่ได้เกิดจากความตั้งใจ แต่เมื่อถ่ายออกมาแล้ว ประกอบกับองค์ประกอบและสถานการณ์ ทำให้ผู้พบเห็นสามารถตีความได้หลากหลาย เสริมกับ Creator หัวใส เอาภาพเธอไปตัดต่อให้เข้ากับเหตุการณ์หายนะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก แม้ว่ามันจะดูเป็นตลกร้าย แต่มันก็สร้างเม็ดเงินให้ทั้งผู้สร้างงานและเจ้าของภาพต้นฉบับได้ไม่น้อยเลย 

มีมชื่อดังที่ทำเงินได้มหาศาลยังรวมถึง Nyan Cat เจ้าแมวสายรุ้งในหน้าปกบทความนี้ โดยฝีมือของ Chris Torres ที่สามารถทำเงินได้เกือบ 600,000 ดอลลาร์ ปัจจุบันก็ยังขยันทำเงินได้อยู่เรื่อย จากการสร้างสรรค์คาแรกเตอร์ที่ไม่ซ้ำกันถึง 781 items (ข้อมูลจาก Nyan Cat Official ใน https://opensea.io/collection/nyan-cat-official

 

วงการศิลปะและของสะสม 
ผู้กล้ากลุ่มแรกในตลาด NFT

ทุกคนย่อมรู้ดีว่าการเป็นคนแรกหรือกลุ่มแรกที่นำตลาดนั้นไม่ง่าย ในความพยายามย่อมสร้างให้เกิดโอกาสใหม่ CEA จึงอยากพาผู้อ่านส่องไปในโลกของ NFT ถึงศิลปิน ชิ้นงาน และตลาดศิลปะของสะสมแบบดิจิทัล ที่กำลังมาแรงและมีมูลค่าอย่างไม่น่าเชื่อ


CryptoPunk 

ตลาด NFT ที่ขายภาพคาแรคเตอร์ของเด็กหนุ่มท่าทางยียวนขนาด 24x24 พิกเซล ที่ถูกพัฒนาขึ้นกว่า 10,000 แบบไม่ซ้ำกัน บางคอลเลคชั่น เช่น Picasso Punks มีการซื้อขายเปลี่ยนมือกันในตลาดกว่า 334,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 10.5 ล้านบาท (ดูเพิ่มเติมที่ https://www.larvalabs.com/cryptopunks)


CryptoKitties 

การ์ดแมวที่นักสะสมสามารถผสมพันธุ์ลูกแมวชนิดใหม่ได้ไม่รู้จบ เกมนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ปี 2017 ปัจจุบันจึงมีแมวหน้าตาต่าง ๆ ที่ถูกผสมให้มีรูปร่าง หน้าตา และสีที่แตกต่างกันถึง 2 ล้านรูปแบบ ลูกเล่นสำคัญทางการตลาดของ CryptoKitties ทำให้กลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง คือ การตามหา แมว Gen 0 ที่ไม่ผ่านการตกแต่งทางพันธุกรรมใด ๆ ซึ่งแมวในกลุ่มนี้มีจำนวนจำกัด โดยเฉพาะ NFT 100 ตัวแรกที่สร้างขึ้นในจักรวาล CryptoKitties หรือที่เรียกว่า Founder Cats บางตัวในคอลเลคชั่นมีมูลค่าสูงถึง 173,311 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 5.4 ล้านบาท (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.cryptokitties.co)


Hashmasks 

งานออกแบบภายใต้หน้ากากสุดอาร์ตนี้ คือแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้ศิลปินกว่า 70 คนทั่วโลก มาออกแบบภาพบุคคลดิจิทัลร่วมกัน ซึ่งแต่ละชิ้นงานจะไม่ซ้ำกันเลย จำนวนกว่า 16,384 ภาพ นำออกสู่ตลาดในนามของ Suum Cuique Labs จาก Zug ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ภาพที่ถูกรังสรรค์จากพหุศิลปินต่าง ๆ เหล่านี้ จะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน ต่างกันที่องค์ประกอบซึ่งถูกสร้างสรรค์ตามแต่จินตนาการของศิลปิน ให้แตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นหน้ากาก สีผิว ลายเสื้อ พื้นหลัง หรือ เพศ เป็นต้น นอกจากนี้ ที่น่าสนใจสำหรับ Hashmasks คือ การออกเหรียญที่ชื่อว่า NCT หรือ The Name Changing Token ให้ผู้ถือเหรียญสามารถตั้งชื่อภาพบุคคลของตัวเองได้ ซึ่งจะถูกจัดเก็บอย่างถาวร พร้อมเปิดเผยต่อสาธารณะบน Ethereum Blockchain ช่วยทำให้ภาพบุคคลดิจิทัลของผู้ถือเหรียญ  กลายเป็นเหมือนสินค้าที่มีอัตลักษณ์และมีมูลค่าเพิ่มได้  (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.thehashmasks.com)


NBA Top Shot 

ตลาด NFT ที่ขายการ์ดสะสมซุปตาร์บาสเก็ตบอล ประกอบไปด้วยภาพเคลื่อนไหว 3 มิติและข้อมูลของผู้เล่นทำขึ้นเพื่อเอาใจแฟนบาสเก็ตบอลให้สามารถรวบรวมและซื้อขายวิดีโอไฮไลต์ของซุปตาร์ NBA ที่ชื่นชอบได้ โดยชื่อเสียงของผู้เล่นและคุณภาพของคลิปจะเป็นตัวกำหนดราคาซื้อขาย ปัจจุบัน NBA Top Shot สามารถสร้างรายได้มากกว่า 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 7,875 ล้านบาท จากการซื้อขายคอลเลคชั่นในตลาด NFT ระหว่างปี 2020 – 2021 จากผู้ซื้อกว่า 100,000 ราย  (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://nbatopshot.com)

  

Christie’s ขอลงสนามประมูลงานศิลป์ดิจิทัล

สำนักประมูลงานศิลป์เก่าแก่อายุกว่า 225 ปีอย่าง Christie’s  ที่ตลอดระยะเวลาทำแต่การประมูลงานศิลปะแบบกายภาพที่จับต้องได้ แต่ยังให้ความสนใจกับกระแสดิจิทัล หันมาเปิดประมูลงานศิลปะดิจิทัลของศิลปินอย่าง “Beeple” (ศิลปิน Mike Winkelmann) โดยจับแพะชนแกะผลงาน 5,000 วันแรกของศิลปินผู้นี้ ให้เป็นชิ้นงานศิลปะดิจิทัลขนาด 21,069 x 21,069 พิกเซล และในเดือนมีนาคม 2021 ก็สามารถขายงานตัดต่อภาพนี้ได้ในราคาสูงถึง 69.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2,182 ล้านบาท


เหล่านี้ยังเป็นเพียงแค่เสี้ยวหนึ่งของวงการศิลปะและของสะสมที่เข้ามาเล่นในตลาด NFT ตลาดใหม่ที่มีอัตราการเติบโตรายไตรมาสถึง 2,627% และมีการซื้อขายถึงเกือบ 5 หมื่นล้านบาท เฉพาะไตรมาสแรกปีนี้ ซึ่งในบทความตอนต่อไป เราจะพาไปเจาะถึงเทรนด์ธุรกิจสร้างสรรค์ในน่านน้ำใหม่แห่งนี้ และโอกาสของตลาดในประเทศไทย ที่มีกลุ่มนักสร้างสรรค์เริ่มทยอยเข้าไปลงสนามกันแล้ว