DATA & Statistics

น่านน้ำใหม่ของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

Top Collections

จากบทความก่อนหน้าที่เราพาไปรู้จัก ‘NFT’ คริปโตเคอร์เรนซียุคใหม่ ที่กำลังจะพลิกโฉมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั่วโลกไปแล้ว วันนี้ CEA จะพาไปเจาะถึงตลาดซื้อขาย หรือ Marketplace ที่เป็นช่องทางปล่อยของ  การลงสนามของธุรกิจประเภทต่าง ๆ และตัวอย่างศิลปินในวงการสร้างสรรค์ของประเทศไทย  ที่ทยอยออกเรือเข้าสู่น่านน้ำสีคราม (Blue Ocean) แห่งใหม่กันแล้ว
 

ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2021 ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล NFT (Non-fungible Token) ทั่วโลก ได้สร้างปริมาณการซื้อขายสูงถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 47,250 ล้านบาท โดยมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดถึง 2,627% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยตลาดซื้อขาย หรือ Marketplace ที่มีมูลค่าการซื้อขายมากที่สุด ได้แก่ NBA Top Shot, CryptoPunks, OpenSea และ Rarible ซึ่งคิดเป็น 73% ของปริมาณธุรกรรมที่เกิดขึ้นทั้งหมด

การเกิดขึ้นของตลาดเหล่านี้ส่งผลให้ NFT ในกลุ่มศิลปะและของสะสมดิจิทัลเติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ภาพรวมของ NFT Marketplace มีด้วยกัน 2 ลักษณะ คือ 

1. กลุ่มที่มีการผลิตชิ้นงานดิจิทัลของตัวเองและเปิดโอกาสให้นักสะสมหรือนักลงทุนภายนอกมาถือเหรียญ ตัวอย่างตลาดในกลุ่มนี้ เช่น NBA Top Shot และ CryptoPunks เป็นต้น 
2. ตลาดที่เปิดกว้างให้ศิลปินทั่วไปสามารถนำผลงานของตัวเองมาลง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนซื้อขายกันได้ 

และเพื่อเป็นการสนับสนุนวงการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย CEA จึงได้รวบรวมข้อมูลตลาด NFT ที่อาจเป็นอีกหนึ่งโอกาสให้ศิลปินไทยที่สนใจ สามารถนำผลงานมาแปลงเป็น NFT เพื่อวางจำหน่ายให้กับนักสะสม หรือ นักลงทุนทั่วโลกที่สนใจได้ โดยรวบรวมข้อมูลการจัดอันดับ NFT Marketplace จากเว็บไซต์ DappRadar ซึ่งพิจารณาจากปริมาณการซื้อขายและจำนวนผู้ค้า แบบรวมทุกช่วงเวลา 

การตื่นตัวของศิลปินไทยกับตลาด NFT 



“ติ๊ก ชิโร่” ศิลปินผู้มากความสามารถทั้งในวงการเพลงและศิลปะ ตัดสินใจนำผลงานภาพวาด 3 ชิ้นในคอลเล็กชั่นส่วนตัว ชื่อชิ้นงาน “Swim In Tsunami001” “Fossil002” และ “LifeStory003” ไปแปลงชิ้นงานกายภาพ เป็น NFT โดยเปิดประมูลที่ตัวเลข 0.33 ETH* ต่อภาพ (ประมาณ 27,000 บาท) และจำกัดจำนวนไว้ที่ภาพละ 1 ดิจิทัลไฟล์เท่านั้น 

คุณติ๊กได้เลือกจำหน่ายงานในตลาด OpenSea.io โดยเปิดเผยถึงเหตุผลที่ตัดสินใจนำภาพมาแปลงเป็น NFT ว่า “เพื่อปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป และเป็นการบันทึกงานลงในเทคโนโลยีใหม่ ที่ไม่ต้องกังวลกับการฉีกขาด แตกหักเสียหาย สูญหาย หรือเสื่อมสลายตามกาลเวลา เหมือนงานในรูปแบบกายภาพอื่น ๆ” 

ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูรูป รายละเอียด และเสนอราคาประมูลได้ที่ https://opensea.io/accounts/TIK_SHIRO 

*ETH คือ เงินคริปโตในสกุล Ethereum   1 ETH = 128,350 บาท ณ วันที่ 10 พ.ค. 2564 

ธุรกิจไทยชื่อดังอีกรายที่เข้าสู่ตลาด NFT ก็คือ นิตยสารการ์ตูนที่อยู่กับสังคมไทยมานานเกือบ 50 ปีอย่าง “ขายหัวเราะ” โดยมีการนำผลงานชิ้นแรก คือ ภาพดิจิทัลปกขายหัวเราะฉบับแรก ที่ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1973 พร้อมลายเซ็น วิธิต อุตสาหจิต บรรณาธิการของขายหัวเราะ ออกมาขายในตลาด NFT  ซึ่งมีนักสะสมไม่ประสงค์ออกนามประมูลซื้อภาพนี้ไปแล้ว เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 ในราคา 17.3 ETH (34,492.74 ดอลลาร์สหรัฐ) หรือประมาณ 1,060,000 บาท


นางสาวพิมพ์พิชา อุตสาหจิต กรรมการบริหาร บริษัท วิธิตากรุ๊ป จำกัด กล่าวถึงมุมมองต่อตลาดใหม่นี้ว่า ตลาดศิลปะ NFT เป็นโอกาสใหม่ที่น่าสนใจมาก เพราะลักษณะของ NFT เหมาะกับงานศิลปะ โดยเฉพาะงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความ limited edition ทำออกมามีชิ้นเดียวไม่ซ้ำกับชิ้นอื่น ๆ ในโลก อีกทั้งการเกิดขึ้นของตลาด NFT ทำให้การซื้อขายงานศิลปะที่หายากได้ง่ายขึ้นในโลกดิจิทัล สะดวก เข้าถึงง่าย ตรวจสอบได้ ในรูปแบบ CryptoArt ซึ่งช่วยสนับสนุน eco-system ทั้งในฝั่ง creator และ collector รวมถึง investor ด้วย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสีสันในวงการศิลปะและนักลงทุน รวมถึง Creative Economy ในประเทศไทย

สำหรับตลาด NFT ในเมืองไทยนั้น คาดการณ์ว่าแพลตฟอร์ม “Bitkub” จะเป็นเจ้าแรกในการเปิดตลาดให้เกิดการซื้อขายสินค้าหรือบริการในรูปแบบดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น Virtual Assets หรือ Digital Real Estate ที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าไปถือเหรียญและเป็นเจ้าของสินค้าหรือบริการดิจิทัลได้อย่างสะดวก

อย่างไรก็ตาม NFT และคริปโตเคอร์เรนซี ยังถือเป็นเรื่องใหม่ในโลกการลงทุนที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่ถึง 20 ปี และต้องทำความเข้าใจด้วยว่า แต่ละประเทศ มีระเบียบกฎเกณฑ์และกฎหมายการลงทุนใน Digital Asset ที่ “ไม่เหมือนกัน” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ไปจนถึงการคุ้มครองการลงทุน สำหรับประเทศไทยนั้น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำลังเร่งวางระเบียบกฎเกณฑ์พร้อมกับ “ให้ความรู้” ด้านสินทรัพย์ดิจิทัลแก่นักลงทุนและบุคคลทั่วไป ซึ่งสามารถเข้าไปหาอ่านข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจได้ในเพจ https://www.facebook.com/StartToInvest ของ ก.ล.ต. 


น่านน้ำใหม่ในโลกดิจิทัล ที่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ต้องเร่งปรับตัวรับ

หากจะกล่าวว่า NFT คือยุทธศาสตร์น่านน้ำสีคราม (Blue Ocean Strategy) ที่ไม่ได้แข่งขันกันด้วยราคา หากแต่เป็นนวัตกรรมใหม่ในตลาดใหม่ ๆ ก็คงจะไม่ผิดนัก 

อนาคต NFT จะมีอิทธิพลต่อหลายวงการของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ทั้งศิลปะ ดนตรี ทรัพย์สินทางปัญญา โฆษณา หรือแม้กระทั่งวงการอินฟลูเอนเซอร์ ที่มองหาความเป็น Original โดย NFT จะช่วยเปิดโอกาสให้ศิลปินเหล่านี้ได้รับผลตอบแทนจากผลงานของพวกเขา โดยการทำสิ่งที่เคยเป็นสาธารณะให้กลายเป็นทรัพย์สินส่วนตัว 


AR & VR เชื่อมโลกเสมือนกับความจริง

Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR) เป็นเทคโนโลยีสำคัญที่จะทำให้คนเราใช้เวลาในโลกออนไลน์มากขึ้น ช่วยลดช่องว่างของโลกความเป็นจริงและโลกเสมือน ใครอยากเห็นว่าหน้าตาโลกในอนาคตเป็นอย่างไร แนะนำให้ดูภาพยนตร์เรื่อง “Ready Player One” ที่จำลองภาพการใช้ชีวิตของผู้คนในโลกอนาคต ได้ใกล้เคียงกับทิศทางของการพัฒนาเทคโนโลยีในปัจจุบัน ในภาพยนตร์เล่าเรื่องว่า ผู้คนเกือบทั้งหมดครอบครองอุปกรณ์เชื่อมต่อโลกเสมือนของตัวเอง และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการใช้ชีวิตในโลกเสมือน รวมถึงมีการจับจ่ายใช้สอยเหมือนกับในโลกปกติ โดยเฉพาะการใช้เงินไปกับการปรับปรุงร่างอวตารของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อเสื้อผ้า หรือ ซื้ออาวุธ ซึ่ง NFT จะช่วยให้เกิดการซื้อขายได้จริงในโลกเสมือน โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการ Copy ถูกโกง หรือถูกหลอก ซึ่งสิ่งที่คาดการณ์นี้ไม่ได้ไกลจากจุดที่เรากำลังเป็นอยู่เลย


ผลสำรวจจาก Global Web Index เผยแพร่ผ่าน Statista ได้สรุปสัดส่วนการใช้เวลาในโลกออนไลน์ของประชากรทั่วโลก ช่วงอายุ 16 - 64 ปี ในระหว่างปี 2012 – 2020 พบว่า มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2019 - 2020 ผู้คนใช้เวลาไปกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์สูงถึง 145 นาทีต่อวัน หรือ เกือบ 2.5 ชั่วโมงต่อวัน หากคำนวณอัตราการเติบโต นับตั้งแต่ปี 2012 พบว่า มีสัดส่วนสูงขึ้นกว่าร้อยละ 38 


บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook ก็ขยับตัวเรื่องการสร้างโลกเสมือน โดยเข้าไปเทกโอเวอร์ “Oculus” บริษัทด้านเทคโนโลยี VR เพื่อพัฒนา “Horizon” หรือโลกอวตาร ให้เป็นโลกเสมือนที่ผู้คนสามารถมีปฏิสัมพันธ์กันได้ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลกด้วยร่างอวตาร สิ่งที่น่าสนใจอยู่ที่ Facebook ใช้ชื่อเรียกผู้เล่นอวตารเหล่านี้ว่า “Horizon Citizens” หรือ พลเมือง Horizon นั่นแสดงให้เห็นถึงความพยายามของ Facebook ที่ต้องการให้เกิดผู้ใช้จำนวนมากเข้าไปอยู่ใน Horizon จนมีจำนวนประชากรสูงขึ้นเป็นระดับเมือง หรืออาจใหญ่จนถึงขั้นสร้างเป็นประเทศ ซึ่งก้าวต่อไป อาจทำให้เกิดเป็นรัฐบาลในโลกเสมือนก็เป็นได้ ผู้สนใจสามารถเข้าไปชมและทดลองสร้างร่างอวตารในโลกเสมือนของ Facebook ได้ทางลิงค์ https://www.oculus.com/facebook-horizon/
 


การจับจอง “ที่ดินในโลกเสมือน” กำลังมา 

บริษัท Republic Real Estate เปิดตัวกองทุนสำหรับนักลงทุนที่ต้องการซื้อที่ดินเสมือนจริง ซึ่งบริษัทวางแผนที่จะพัฒนาให้เป็นโรงแรมและร้านค้าเสมือน เล็งกลุ่มเป้าหมายนักลงทุนที่นิยมเก็งกำไรกับคริปโตเคอร์เรนซี โดยกำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำไว้อยู่ที่ 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 787,500 บาท 

ผู้บริหารของ Republic Real Estate กล่าวถึงที่มาแนวคิดนี้ว่า “ปัจจุบันอสังหาริมทรัพย์ในโลกจริงเกิดความไม่แน่นอนสูง ในขณะที่ราคาที่อยู่อาศัยก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับการใช้ประโยชน์ที่มีแนวโน้มลดลง โดยยังพบอสังหาริมทรัพย์ถูกทิ้งเปล่าอยู่เป็นจำนวนมาก การซื้อที่ดินในโลกเสมือนอาจให้ความรู้สึกแก่นักลงทุนเหมือนกับการซื้อที่ดินในแมนฮัตตัน ในช่วงทศวรรษที่ 1750 ที่สามารถกระตุ้นความตื่นเต้นในการลงมือพลิกฟื้นพื้นที่ว่างเปล่า ให้เจริญเติบโตได้ต่อเนื่องไม่รู้จบ” 


Cryptovoxels คือตลาดซื้อขายที่ดิน/พื้นที่ในโลกเสมือนจริงบนเทคโนโลยีบล็อกเชนของอีเธอเรียม ที่ผู้เล่นสามารถเลือกซื้อที่ดิน/พื้นที่สำหรับสร้างร้านค้า หอศิลป์ หรือใช้จัดแสดงงานศิลปะในแกลเลอรี่ เป็นต้น โดยพื้นที่ที่มีการซื้อขายกันใน Cryptovoxels นั้น ถูกพัฒนาจาก Metaverse เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเทคโนโลยี VR และ AR สร้างสถานที่หรือสภาพแวดล้อมที่เชื่อมโยงกันระหว่างโลกกายภาพและโลกเสมือน หากจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพได้ง่ายที่สุดก็คือ เกม Pokemon GO ที่ฮิตกันก่อนหน้านี้ ซึ่งมีสถานที่ในเกมกับในโลกจริงเป็นพื้นที่เดียวกัน เป็นต้น



NFT เปลี่ยนโฉมวงการเพลง 

แม้ว่า Music Streaming จะเข้ามาเปลี่ยนวงการเพลงไปสู่การเป็นดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ ในมุมหนึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างมาก แต่เหรียญอีกด้านของการเปลี่ยนแปลงนี้ ศิลปินถูกบีบในเรื่องผลตอบแทนจากการเผยแพร่เพลงในแพลตฟอร์มที่แบ่งจ่ายรายรับให้กับศิลปินค่อนข้างต่ำ NFT จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาให้ศิลปินได้เผยแพร่เพลงด้วยตนเอง และรับส่วนแบ่งผลกำไรได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ที่สำคัญคือสามารถควบคุมการจัดจำหน่าย การกำหนดราคา และวางแผนการตลาดสำหรับผลงานสร้างสรรค์ของตัวเองได้อย่างเต็มที่ 

ศิลปินชื่อดังเช่น King of Leon เริ่มชิมลางทดลองใช้ NFT ปลดล็อกปัญหา โดยปล่อยอัลบั้มใหม่ผ่าน NFT พร้อมเพิ่มความ Rare ด้วยการ “ออกเหรียญสำหรับประมูลตั๋วทองคำ 4 ใบ” มูลค่าราว 161,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5.07 ล้านบาท) เพื่อเป็นสิทธิพิเศษสำหรับผู้ถือเหรียญ ซึ่งจะมีโอกาสนั่งชมแถวหน้า (front row) ในทุกรอบการทัวร์ของ Kings of Leon นอกจากนี้ เหล่าแฟนพันธุ์แท้จะได้รับประโยชน์อื่น ๆ ที่พิเศษและใกล้ชิดกับศิลปินมากขึ้น อาทิ การได้ออกไปเที่ยวสังสรรค์กับวง เป็นต้น   



Snoop Dogg ไม่พลาดขอแจมด้วย

หลายคนไม่รู้จะเรียก Snoop Dogg ว่าเป็นเจ้าพ่อแร๊ปเปอร์ นักลงทุนที่ขยันร่วมหุ้นในเทคสตาร์ตอัพ หรือผู้ขับเคลื่อนรายใหญ่ของธุรกิจสายเขียว (กัญชา) ดี ล่าสุดแร๊ปเปอร์สุดเก๋าในอเมริการายนี้ หันมาตอบรับกับกระแส NFT โดยเปิดตัวคอลเลคชั่นศิลปะพิเศษ 8 ผลงาน ในชื่อ “A Journey With the Dogg” พร้อมแทร็กผลงานเพลงต้นฉบับใหม่ที่ไม่มีใครเคยได้ยินมาก่อน (ชื่อ “NFT”) ผ่าน Crypto.com 

นิตยสาร Vanity Fair ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ถึงที่มาที่ไปของการผลิตชิ้นงาน NFT นี้ โดย Snoop ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “NFT ถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังเปลี่ยนแปลงวิธีที่ศิลปินทำธุรกิจและเชื่อมต่อกับแฟนคลับ มันสามารถรวมผลงานที่อยากจะสื่อสารได้ในคราวเดียว ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ การเล่าเรื่อง หรือเพลงต้นฉบับ ปราศจากแพลตฟอร์มหรือคนกลางคอยกรองเนื้อหาอีกต่อไป ผู้ซื้อจะได้ความเป็นเจ้าของชิ้นงานดั้งเดิมและมีจำนวนจำกัด นอกจากนี้ ยังช่วยในการสานสัมพันธ์กับเหล่าแฟนคลับโดยตรง มันไม่เหมือนกับตอนที่คุณซื้อแผ่นเสียงหรือดาวน์โหลดเพลง ที่ศิลปินไม่สามารถติดต่อกับคุณได้เลย”


Action Token / Fans Token 
แฟนมีตติ้งยุคใหม่ตามใจแฟนคลับ


ศิลปินในวงการเพลง นักแสดง หรือ Influencer สามารถสร้างสรรค์ผลงาน และใช้ NFT มาแปลงให้เป็น “Action Token / Fans Token” ได้แล้ว โดยในอนาคตอันใกล้นี้ ค่ายเพลงหรือช่องทีวีต้นสังกัด อาจจะไม่ได้แค่ขายเสียงหรือการแสดงของศิลปินเท่านั้น ตัวตนของศิลปินอาจจะเป็นสิ่งที่สร้างรายได้ให้กับต้นสังกัดได้ไม่รู้จบเช่นเดียวกัน 

การออก Action Token หรือ Fans Token ให้ศิลปินทำอะไรก็ได้ตามใจแฟนคลับ สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาตีมูลค่าและซื้อขายกันได้จริงผ่าน NFT ตัวอย่างเช่น การขายเหรียญให้ศิลปินดังร้องเพลงแฮปปี้เบิร์ดเดย์ และอวยพรวันเกิดให้กับเราโดยเฉพาะ 

ในอนาคต ผู้คนยังอาจมีโอกาสเป็นเจ้าของชื่อเสียงของศิลปินร่วมกันได้อีกด้วย จากเดิมในอดีตที่ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และชื่อเสียงของศิลปิน คือค่ายเพลงหรือช่องทีวีต้นสังกัด แต่ถ้าใช้ NFT ชื่อเสียงจะสามารถผันเปลี่ยนไปเป็นเหรียญ (Token) และแบ่งปันความเป็นเจ้าของร่วมกันได้ (Fractional Ownership) โดยต้นสังกัดอาจจะออกเป็นเหรียญ ให้แฟนคลับหรือนักลงทุน สามารถถือครองเหรียญซึ่งเป็นตัวแทนของทรัพย์สินทางปัญญาและชื่อเสียงของศิลปินเหล่านี้ได้ เมื่อศิลปินสร้างสรรค์ผลงานและชื่อเสียงจนประสบความสำเร็จ ทำเงินได้ ก็สามารถนำกำไรที่ได้มาปันผลตามสัดส่วนผู้ถือเหรียญ ลักษณะเดียวกับการซื้อหุ้น เป็นต้น 


กลไกตลาดจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้ Action Token เติบโตได้ ในมุมของนักลงทุนหรือแฟนคลับ เมื่อครอบครองเหรียญที่มีผลตอบแทน หรือ Incentive เป็นธรรมดาที่ผู้ถือเหรียญย่อมเชียร์ศิลปินหรือวงที่ตัวเองลงทุน ทำให้ชื่อเสียงศิลปินเหล่านั้น ได้รับอานิสงค์จากการประชาสัมพันธ์มากขึ้นไปด้วย เรื่องนี้สามารถนำมาปรับใช้ในวงการ Influencer ได้เช่นกัน โดยปลายปี 2020 แพลตฟอร์ม Bitkub ได้เปิดตัว Fans Token ให้ผู้คนเป็นเจ้าของชื่อเสียงของกลุ่มยูทูบเบอร์ชื่อดังระดับประเทศที่มีผู้ติดตามรวมกว่า 40 ล้านบัญชี ได้แก่ บี้เดอะสกา, เก๋ไก๋ สไลเดอร์, ปลื้ม VRZO, คิวเท โอปป้า และ SPD สไปรเดอร์ (www.bitkub.com/blog/fans-token-30ac17db1044)

จากตัวอย่างที่สรุปในข้างต้น จะพบว่า NFT สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับหลายวงการ ขึ้นอยู่กับไอเดียและจินตนาการของเรา สิ่งใดที่มีมูลค่า เป็นเอกลักษณ์ และเป็นที่ต้องการสามารถนำมาแปลงเป็น NFT เพื่อสร้างมูลค่าในโลกดิจิทัลได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม การนำไปใช้จริงในหลายๆ อุตสาหกรรม คงต้องศึกษาถึงความเป็นได้ กฏระเบียบและข้อกฏหมายที่เกี่ยวข้องของประเทศนั้น ๆ ไว้ด้วย CEA หวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความนี้จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับศิลปินและบรรดานักสร้างสรรค์ของไทย ให้สร้างสรรค์ผลงานเพื่อแข่งขันในตลาด NFT ซึ่งเป็นช่องทางเผยแพร่ผลงานใหม่ ๆ ที่ยังเปิดกว้างให้เราได้ทดลองทำความคุ้นเคยกับการทำธุรกิจดิจิทัลเต็มรูปแบบในโลกอนาคตได้
 

แหล่งที่มาข้อมูล
https://www.designboom.com/technology/buy-jack-dorsey-first-tweet-nft-03-10-2021/
https://www.statista.com/statistics/433871/daily-social-media-usage-worldwide/
https://www.bitkub.com/blog/nft-fa4990572a6e
https://www.beartai.com/news/movement-of-thai-it-industry/588533
https://www.longtunman.com/28458
https://www.prnewswire.com/news-releases/crypto-brief--non-fungible-token-market-grew-by-299-in-2020-301258309.html
https://dappradar.com/blog/what-are-non-fungible-tokens-nfts
https://dappradar.com/blog/five-picasso-punks-sell-for-over-334000-in-the-last-24-hours
https://dappradar.com/blog/dapp-industry-report-q1-2021-overview
https://www.coolwallet.io/nba-top-shots-nft-crypto/
https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-03-19/virtual-land-prices-are-booming-and-now-there-s-a-fund-for-that
https://www.cryptovoxels.com/
https://medium.com/bitkub/
https://www.businessinsider.com/beeple-nft-mike-winkelmann-digital-art-christies-2021-3
https://bitcoinaddict.org/2021/04/07/tik-shiro-transforming-art-into-nft-crypto-art/?fbclid=IwAR0acOg7VmxTSH8GV22KG7xasetcYUJj1LCb5_ilBLwJmu8SPILnT_Hje8w
https://thestandard.co/fintech-into-decentralized-finance/
https://cointelegraph.com/news/defi-will-bring-a-new-golden-age-for-the-film-industry
https://www.vanityfair.com/news/2021/04/snoop-dogg-talks-crypto-clubhouse-and-nfts