Research & Report

ไทยมี “ผ้าขาวม้า” สกอตแลนด์มี “ทาร์ทัน” ลายทอเหมือนกัน แต่ความดังไม่เท่ากัน

ความพยายามที่จะให้ต่างชาติหันมาสนใจ “ผ้าขาวม้าไทย” ของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เป็นเรื่องน่าชื่นชม ผ้ากว่า 30 ผืนทั่วไทยที่ถูกหยิบนำไปใช้ระหว่างเยือนต่างประเทศ ล้วนมีความหมายกับทั้งผู้ผลิตและผู้พบเห็น แต่มันจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มได้ถึง 20 เท่าหรือไม่ ลองถอดวิธีการที่สกอตแลนด์ใช้กับ “ทาร์ทัน”

ในโลกแห่งสิ่งทอที่หลากหลายและมีเสน่ห์ "ผ้าขาวม้า" ถือเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของไทยที่มีเรื่องราวน่าสนใจและยาวนาน คำว่า "ขาวม้า" คาดว่ามีที่มาจากคำในภาษาอิหร่านที่ใช้ในสเปน "คามาร์ บันด์" หมายถึงผ้าคาดเอว โดยได้เข้ามาสร้างความนิยมในแถบนี้ ตั้งแต่อาณาจักรโยนกนาคนคร ผ่านการเดินทางสำรวจโลกของจักรวรรดิสเปน ในไทยผ้าขาวม้ามีหลากหลายลวดลายการทอ ซึ่งสะท้อนถึงเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชนและแพร่หลายไปในทุกพื้นที่ของประเทศ ในเชิงฟังก์ชันผ้าขาวม้าได้กลายเป็นผ้าอเนกประสงค์ที่ไม่จำกัดเพียงเครื่องแต่งกายเท่านั้น แต่ยังถูกใช้สำหรับโพกศีรษะ เช็ดเหงื่อ ปูนอน นุ่งอาบน้ำ หรือผูกเปล

ในอีกซีกโลก ผ้าลายสก็อตหรือทาร์ทัน (Tartan) ของสกอตแลนด์เป็นผืนผ้าที่มีเรื่องเล่าอันยาวนานไม่แพ้กัน ต้นกำเนิดของผ้าลายนี้สามารถย้อนกลับไปถึงยุคของชาวเซลติก (Celtic) บรรพบุรุษของชาวสก็อต ที่ใช้ผ้าทอจากขนสัตว์ ประดับตกแต่งด้วยแถบสีต่าง ๆ เพื่อสร้างเป็นเครื่องนุ่งห่ม ในยุคนั้นลวดลายทาร์ทันอาจจะเรียบง่าย ด้วยการใช้สีย้อมธรรมชาติ แต่เมื่อเวลาผ่านไปผ้าทาร์ทันเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้น กลายไปเป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจและเอกลักษณ์ประจำตระกูล แต่ละลวดลายสามารถบอกเล่าถึงตำนานของครอบครัว ภูมิภาค และประวัติศาสตร์ เปรียบเสมือนเป็นหน้าต่างสู่อดีต 

การบริหารจัดการลายผ้าทาร์ทันไม่ได้ปล่อยให้เกิดขึ้นอย่างไร้ทิศทาง รัฐบาลสกอตแลนด์ให้ความสำคัญถึงขั้นตราเป็นกฎหมายผ่าน Scottish Register of Tartans Act 2008 ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมและรักษามรดกทางวัฒนธรรมของผ้าทาร์ทันให้คงอยู่ เครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งในการส่งเสริมและอนุรักษ์ผ้าชนิดนี้ คือ Scottish Register of Tartans (SRT) เป็นฐานข้อมูลอย่างเป็นทางการสำหรับใช้บันทึกและปกป้องลวดลายผ้าทั้งจากอดีตและร่วมสมัย ดำเนินการโดย National Records of Scotland (NRS) ใช้ขั้นตอนการจดทะเบียนที่มีความเข้มงวด เพื่อให้แน่ใจว่าลวดลายที่ถูกบันทึกนั้นมีคุณภาพและมาตรฐานที่สูง อย่างไรก็ตาม การจดทะเบียนไม่ได้หมายถึงการได้รับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาโดยอัตโนมัติ แต่เป็นการบันทึกสถานะของลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าที่อาจเกี่ยวข้อง

ผ้าทาร์ทันยังคงเป็นสัญลักษณ์ที่ร่วมสมัยไร้กาลเวลา ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าแบรนด์แฟชั่นไฮเอนด์อย่าง Vivienne Westwood หรือ Burberry มีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับผ้าลายนี้ วิเวียน เวสต์วูด ซึ่งมีความหลงใหลในประวัติศาสตร์และประเพณีของอังกฤษและสกอตแลนด์ ได้นำผ้าทาร์ทันมาใช้ในหลายคอลเล็กชันของเธอ เช่น Anglomania และ On Liberty นอกจากนี้ เธอยังร่วมมือกับ Lochcarron of Scotland ซึ่งเป็นโรงทอเก่าแก่ของสกอตแลนด์ในการออกแบบลายผ้าทาร์ทันของเธอเอง มีชื่อว่า MacAndreas นอกจากความเป็นผ้าแล้ว ทาร์ทันยังถูกใช้เป็นตัวแทนสืบต่อวัฒนธรรมและมรดกของสกอตแลนด์ข้ามทวีป อย่างในสหรัฐอเมริกามีการจัดงานที่ชื่อว่า “NYC Tartan Day Parade” ทุกวันที่ 6 เมษายน ของทุกปี ณ กรุงนิวยอร์ก เพื่อเป็นการระลึกถึงบรรพบุรุษชาวสกอตที่ข้ามทะเลมาตั้งรกรากที่นี่ โดยเฉลิมฉลองผ่านรหัสทางวัฒนธรรมสกอตที่แข็งแรงทั้งดนตรี การแต่งกาย การเต้นรำ และวิสกี้

ผ้าขาวม้าไทยอาจมีศักยภาพเทียบเท่า หากเราเรียนรู้วิธีการบริหารจัดการวัฒนธรรมทาร์ทันแบบสกอตแลนด์ การสร้างฐานข้อมูลลายผ้าเป็นก้าวสำคัญในการจำแนกและคุ้มครองลวดลายแบบดั้งเดิมและเปิดรับการครีเอตลายใหม่ ๆ นอกจากนี้การใช้ลายผ้าเป็นสิทธิ์ใบอนุญาต (License) เป็นวิธีหนึ่งที่สามารถเพิ่มมูลค่าและขยายขอบเขตการใช้งานของลายผ้าได้ เปิดโอกาสให้นำไปใช้พัฒนาไลน์สินค้าอื่น ๆ เช่น เฟอร์นิเจอร์ Digital Wallpaper หรือการสร้างลวดลายให้กลายแบรนด์ ยกตัวอย่างเช่น Loganair ของสกอตแลนด์ ที่พัฒนาลายผ้าของตัวเอง “Loganair Tartan” และนำไปใช้สร้างภาพจำผ่านชุดของลูกเรือและตกแต่งที่หางเครื่องบิน เป็นต้น เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ไทยอาจใช้เป็นแนวทางยกระดับสถานะของผ้าขาวม้าให้เป็นที่ยอมรับและน่าสนใจในสายตาโลกได้

 

ศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Information Center: CIC)