CEA VACCINE | Explore the "COLOUR OF CHAROENKRUNG"

จากบางรักไปจนถึงทรงวาด ตามตึกเก่า ตรอก ซอก ซอย ผนังที่เก่าทรุดโทรม ขอชวนทุกคนมาร่วมกันค้นหาความหมายที่ซ่อนอยู่ผ่านวิธีถ่ายทอดเรื่องราวของย่านด้วยงานศิลปะและงานออกแบบ ซึ่งล้วนแล้วทำให้เรื่องราวของเจริญกรุงไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องราวในอดีตที่หยุดนิ่งอีกต่อไป แต่เป็นโอกาสและจุดหมายใหม่ให้ทุกคนได้เข้ามาค้นหาศักยภาพ และความเป็นไปได้ในแง่มุมอื่นๆ ผ่านสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ในบริบทของย่านเจริญกรุง

ภายใต้โครงการ “CEA VACCINE ร่วมสร้างสรรค์...ภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจไทย” ที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ดำเนินมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ตลอดช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา หนึ่งในนั้นก็คือ โครงการจ้างงานศิลปิน "COLOUR OF CHAROENKRUNG" ที่ CEA เปิดโอกาสให้ศิลปินนำเรื่องราวของย่านเจริญกรุงมาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะเพื่อย่านแห่งนี้ จนในที่สุดออกมาเป็นงานศิลปะกว่า 30 ผลงาน จาก 30 ศิลปินและนักออกแบบ ที่ทำให้เราเห็นเรื่องราวของย่านเจริญกรุงผ่านแว่นตาของนักสร้างสรรค์ในมุมใหม่ด้วยสีสันจากงานจิตรกรรม งานกราฟิก และงานศิลปะที่สร้างขึ้นด้วยเทคนิคเฉพาะ

เตรียมกล้องให้พร้อมและออกมาเดินเที่ยวในย่านเจริญกรุง งานนี้จะจัดแสดงตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงสิ้นเดือน กันยายน 2563 สามารถเดินตามในหมุด Google map ตามลิงค์ด้านล่างนี้ได้เลย
.
แผนที่เดินชมงาน: google map
#สีสันเจริญกรุง #จัดจ้านย่านเจริญกรุง #Townpainting #ColourofCharoenkrung #CharoenkrungCreativeDistrict #CEAvaccine

 
ผลงาน: ROSARY
ศิลปิน: MUKAE

Rosary ในภาษาไทยมีความหมายว่า “ดอกกุหลาบ” หรือ “ลูกประคํา” อันเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงวัดแม่พระลูกประคํา (กาลหว่าร์) สถานที่ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของเหล่าคริสตชนชาวไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่ชุมชนตลาดน้อย ดอกกุหลาบจึงเปรียบเสมือนตัวแทนของศาสนาคริสต์ โดยสถานที่แห่งนี้ที่ได้รับการดูแลรักษาให้เติบโตและมีชีวิตชีวา เหมือนดั่งดอกไม้ที่ได้รับการรดน้ำเอาใจใส่ดูแลด้วยความรักของชาวไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่ชุมชนตลาดน้อย

Location: ซอยเจริญกรุง 24 ตลาดน้อย



ผลงาน: Bird's Eye View
ศิลปิน: WISHULADA | เทคนิค: ปะติดวัสดุลงบนแผ่นไม้

ด้วยความเป็นจริงในปัจจุบันที่ว่าย่านเจริญกรุงมีจำนวนประชากรอยู่อาศัยในย่านเพิ่มมากขึ้น และเกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งตามมาด้วยการบริโภคทรัพยากรเป็นจำนวนมาก ศิลปินจึงต้องการนำเสนอภาพมุมสูงของแผนที่บริเวณย่านเจริญกรุงที่สร้างสรรค์จากวัสดุเหลือใช้ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ในปัจจุบันที่เกิดการบริโภคทรัพยากรหลากหลายรูปแบบ และสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้ชมในเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างพอประมาณและใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด หลังจากสิ้นสุดผลงานชิ้นนี้จะถูกนำกลับไปสร้างสรรค์เป็นผลงานชิ้นใหม่ตามหลักการของ Circular Economy หมุนเวียนการใช้วัสดุและลดการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

Location: ผนังข้างร้าน Tokyo hot ซอยเจริญกรุง 43


ผลงาน: We’re Human.
ศิลปิน: ease-studio | เทคนิค: ภาพปัก

“เจริญกรุง” เป็นถนนสายแรกที่สร้างตามแบบตะวันตกของประเทศไทยและเป็นศูนย์รวมของผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกที่มาตั้งรกรากเพื่อทำการค้าขายหรือพักอาศัย ความน่าสนใจของพื้นที่นี้คือการที่ผู้คนที่มีความแตกต่างสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยที่ยังคงเอกลักษณ์ความเป็นอยู่ของแต่ละบุคคลไว้เป็นอย่างดี แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะมีศาสนา สีผิว สัญชาติ เพศสภาพ หรือสถานะทางสังคมที่แตกต่างกันไป ศิลปินจึงต้องการให้ผลงานศิลปะจัดวางชุดนี้แสดงถึงการเคารพและเชิดชูในความหลากหลายและความแตกต่างของผู้คน เพราะถึงแม้ภายนอกเราทุกคนล้วนแตกต่างกันแต่แท้จริงแล้วเราต่างก็เป็น “มนุษย์” เหมือนกัน

Location: กำแพงซอยเจริญกรุง 34 (ซอยวัดม่วงแค)


ผลงาน: Mirror Of Aged
ศิลปิน: เขมพงศ์ รุ่งสว่าง

โครงสร้างกระจกแตกสื่อถึงความเก่าแก่ของย่านเจริญกรุง ทั้งลวดลายและสีสันแสดงออกถึงความหลากหลายของเชื้อชาติและวัฒนธรรมของย่านเจริญกรุงในอดีตที่หลอมรวมกันระหว่าง ไทย จีน แขก และฝรั่ง เมื่อมองเข้าไปในกระจกจะเห็นเงาสะท้อนของตัวอักษร Bangkok Hotter Than Tokyo หยอกล้อกับชื่อร้าน Tokyo Hot ที่ศิลปินมีความคิดว่า กรุงเทพนั้นร้อนกว่าโตเกียวเสียอีก เป็นการสื่อสารความคิดและอารมณ์ขบขันของคนใน พ.ศ. นี้ Mirror Of Aged จึงเปรียบดั่งกระจกบานเก่าที่สะท้อนความเป็นไปของปัจจุบันได้อย่างแยบยล

ผนังข้างร้าน Tokyo hot ซอยเจริญกรุง 43


ผลงาน: Weaving Culture
ศิลปิน: Kitt.Ta.Khon | เทคนิค: งานสานเส้นพลาสติก

Weaving Culture เป็นการตีความสีสรรค์ของย่านเจริญกรุงผ่านความหลากหลายของวัฒนธรรมที่รวมอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ศิลปินเชื่อว่าไม่ว่าจะมาจากวัฒนธรรมหรือศาสนาใด ทุกคนล้วนเป็นมนุษย์เหมือนกัน ผลงานชิ้นนี้จึงเลือกสร้างภาษาของลวดลายกราฟิกผ่านลาย “ขัด” ซึ่งเป็นวิธีขั้นพื้นฐานที่ใช้ในการสร้างลวดลายของงานหัตถกรรม อันสื่อถึงรากฐานทางอารยธรรมของมนุษย์และความกลมเกลียว อีกทั้งลวดลายมังกรสื่อถึงถนนเจริญกรุง ที่กลิ่นอายของความเป็นจีนถูกแต่งแต้มด้วยสัญลักษณ์ของแต่ละวัฒนธรรม อาทิ ไม้กางเขน ดาว และลายผ้าไทย กลายเป็นภาษาของลวดลายที่เกิดจากการผสมผสานทางวัฒนธรรมเปรียบเสมือนย่านเจริญกรุง

Location: กำแพงซอยเจริญกรุง 34 (ซอยวัดม่วงแค)


ผลงาน: Untitled Dancer
ศิลปิน: ศรุต บวรธีรภัค

ด้วยความหลงใหลในแสงสีและเสียงดนตรีของย่านเจริญกรุงยามค่ำคืน ย่านเก่าแก่ในอดีตที่ถูกแต่งเติมไปด้วยสีสันจากบาร์ วงดนตรี และงานเลี้ยงเต้นรำ ซึ่งครั้งหนึ่งภาพยนตร์เรื่อง In the Mood for Love (2000) ของ Wong Kar Wai ได้ใช้ย่านเจริญกรุง บางรักในการถ่ายทำ ศิลปินจึงต้องการที่จะนำบรรยากาศความบันเทิงในวันวานมาผสมผสานกับกลิ่นอายของภาพยนตร์ดังกล่าว โดยนำเสนอผ่านภาพคู่ชายหญิงที่กำลังเต้นรำ และดอกไม้ที่ให้ความรู้สึกถึงความรัก ความโรแมนติค และความมีชีวิตชีวา เหมือนดั่งคาแลกเตอร์ของย่านเจริญกรุงที่เคยเป็นและยังคงสัมผัสได้จนถึงตอนนี้

Location: กำแพงซอยเจริญกรุง 32 (ฝั่งด้านใน)


ผลงาน: MONOPOLY
ศิลปิน: Bunjerd.Boy

"อาการประหลาดใจ" เกิดขึ้นกับเราบ่อยครั้งเมื่อมาที่ย่านแห่งนี้ ด้วยเพราะความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมที่ผสมผสานกัน และเกิดการทับซ้อนกันของยุคสมัย หล่อหลอมจนเป็น "เจริญกรุง" ย่านที่มอบอาการลุ้นให้คุณตลอดเวลา ทั้งลุ้นไปกับศิลปวัฒนธรรม ลุ้นไปกับงานสถาปัตยกรรมอันหลากหลาย ลุ้นไปกับอาหารที่มากมาย จบด้วยลุ้นไปกับสิ่งใหม่ที่ไม่เคยเจอ

Location: ผนังข้างร้าน J.henry jewellers ซอยเจริญกรุง 47 ตรงข้ามวัดม่วงแค

 

เกี่ยวกับโครงการ “CEA VACCINE ร่วมสร้างสรรค์ ...ภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจไทย”