DATA & Statistics

Creative Industry Database: Music

มูลค่าเศรษฐกิจอุตสาหกรรมดนตรี

ฐานข้อมูลอุตสาหกรรมสร้างสรรค์รายสาขา: อุตสาหกรรมดนตรี


สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Database) เป็นรายสาขา โดยมีความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวบรวมข้อมูลในส่วนของ 1) มูลค่าทางเศรษฐกิจ 2) ข้อมูลผู้ประกอบการนิติบุคคล และ 3) ข้อมูลด้านแรงงาน จากนั้นได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลจำแนกรายอุตสาหกรรม เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง สามารถนำข้อมูลที่ได้นี้ไปวิเคราะห์ต่อยอด พร้อมวางนโยบายและกลยุทธ์เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวมของประเทศไทยต่อไป


ECONOMIC VALUE

1)  มูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมดนตรี ณ ราคาประจำปี (Current Price) ตามรหัส TSIC  4 หลัก

CEA รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลมูลค่าทางเศรษฐกิจจาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยพิจารณาเลือกข้อมูลมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดนตรี จากรหัส TSIC 4 หลัก  แบบไม่นับซ้ำ จำนวน 1 รหัสธุรกิจ ประกอบด้วย

 

TSIC 4 หลัก กิจกรรมทางเศรษฐกิจ : อุตสาหกรรมดนตรี
5920  กิจกรรมการบันทึกเสียงลงบนสื่อและการจัดพิมพ์จำหน่ายหรือเผยแพร่ดนตรี

 

ข้อมูล ณ สิ้นปี 2561 อุตสาหกรรมดนตรีของไทย มีมูลค่าอยู่ที่ 1,478 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.1 ของมูลค่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้งหมด ซึ่งอยู่ที่ 1,461,788 ล้านบาท 

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี ระหว่างปี 2557 – 2561 พบว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมดนตรี มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง และอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมฯ ในปี 2561 ก็นับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้ง 15 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์

 

COMPANY STATISTICS

2)  สถิติกิจการประเภทนิติบุคคล ในอุตสาหกรรมดนตรี

•    จำนวนกิจการจำแนกตามขนาด


ข้อมูลนิติบุคคลของ “อุตสาหกรรมดนตรี” CEA ดำเนินการรวบรวมข้อมูลจากรหัสธุรกิจ (TSIC) ที่เกี่ยวข้อง จำนวนทั้งสิ้น 5 รหัสธุรกิจ (TSIC 5 หลัก)  ประกอบด้วย 

 

TSIC 5 หลัก กิจกรรมทางเศรษฐกิจ : อุตสาหกรรมดนตรี
18200 การผลิตซ้ำสื่อบันทึก
59201 กิจกรรมการบันทึกเสียงลงบนสื่อ
59202 กิจกรรมการจัดพิมพ์จำหน่ายหรือเผยแพร่ดนตรี
59203 กิจกรรมการดูแลสิทธิในการผลิตซ้ำดนตรีเพื่อจำหน่ายหรือเผยแพร่
85422 กิจกรรมการเรียนการสอนด้านดนตรี

 

หากจำแนกเชิงพื้นที่ในระดับภูมิภาค พบว่า กิจการส่วนใหญ่จัดตั้งอยู่บริเวณกรุงเทพมหานคร สูงที่สุด จำนวน 461 ราย คิดเป็นร้อยละ 64 ของจำนวนกิจการทั้งหมด รองลงมาคือ ภาคกลาง 143 ราย คิดเป็นร้อยละ 19.8 ส่วนในภูมิภาคอื่นๆ นั้น มีการกระจายตัวของกิจการในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันนิติบุคคลที่อยู่ในอุตสาหกรรมดนตรี มีจำนวนทั้งสิ้น 720 ราย (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2563) เมื่อพิจารณาจำแนกตามขนาดกิจการ  พบว่า ส่วนใหญ่เป็นกิจการขนาดเล็ก (S) มากที่สุด ถึง 705 ราย คิดเป็นร้อยละ 98 

•    ข้อมูลทางการเงิน 

รหัสธุรกิจ (TSIC) รายได้รวม
(ล้านบาท)
กำไรสุทธิ
(ล้านบาท)
จำนวนกิจการที่ใช้
ในการประมวลผล (ราย)
18200 การผลิตซ้ำสื่อบันทึก 1,136.86 -898.27

96

59201 กิจกรรมการบันทึกเสียงลงบนสื่อ 673.41 -12.54 97
59202 กิจกรรมการจัดพิมพ์จำหน่ายหรือเผยแพร่ดนตรี 5,157.61 213.4 49
59203 กิจกรรมการดูแลสิทธิในการผลิตซ้ำดนตรีเพื่อจำหน่ายหรือเผยแพร่ 408.67 19.57 26
85422 กิจกรรมการเรียนการสอนด้านดนตรี 391.73 -19.92 120

 

ข้อมูลทางการเงินของกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมดนตรี   รายได้รวมของนิติบุคคล มีจำนวนทั้งสิ้น 7,768.28 ล้านบาท หากจำแนกสัดส่วนของรายได้ตามขนาดกิจการและประเภทธุรกิจ พบว่า 

•    กิจการขนาดเล็ก (S) มีสัดส่วนรายได้สูงที่สุดอยู่ในกลุ่มธุรกิจ 85422 กิจกรรมการเรียนการสอนด้านดนตรี
•    กิจการขนาดกลาง (M) มีสัดส่วนรายได้สูงที่สุดอยู่ในกลุ่มธุรกิจ 59203 กิจกรรมการดูแลสิทธิในการผลิตซ้ำ 
•    กิจการขนาดใหญ่ (L) มีสัดส่วนรายได้สูงที่สุดอยู่ในกลุ่มธุรกิจ 59203 กิจกรรมการดูแลสิทธิในการผลิตซ้ำ 

อย่างไรก็ตาม เมื่อคำนวณเป็นกำไรสุทธิแล้ว กลับพบว่า อุตสาหกรรมดนตรีมีกำไรสุทธิติดลบถึง -697.76 ล้านบาท ในจำนวนนี้ รหัสธุรกิจที่ 18200 การผลิตซ้ำสื่อบันทึก เป็นกลุ่มที่มีกำไรสุทธิติดลบมากที่สุดถึง -898.27 ล้านบาท โดยมีแรงฉุดหลักมาจากกลุ่มกิจการขนาดเล็ก (S) ที่มีจำนวนธุรกิจถึงร้อยละ 97 ของรหัสธุรกิจนี้ 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณานิยามของรหัสธุรกิจ 18200 “การผลิตซ้ำจากบันทึกต้นฉบับดนตรี หรือการบันทึกเสียงอื่น ๆ ลงบนแผ่นซีดีและเทปการผลิตซ้ำจากบันทึกต้นฉบับภาพยนตร์และวีดิทัศน์อื่น ๆ ลงบนแผ่นซีดีและเทป การผลิตซ้ำจากบันทึกต้นฉบับซอฟต์แวร์และข้อมูล ลงบนแผ่นดิสก์และเทป” มีข้อสังเกตว่า กลุ่มกิจการในรหัสธุรกิจนี้ ยังคงดำเนินธุรกิจในรูปแบบเดิม หรือ เทคโนโลยีแบบเดิมอยู่หรือไม่ และจะมีแนวทางการส่งเสริมกิจการเหล่านี้เพื่อยกระดับหรือปรับเปลี่ยนธุรกิจไปในทิศทางใด ให้ผลประกอบการโดยรวมดีขึ้น และธุรกิจยังคงอยู่รอดได้ในระยะยาว

•    ศักยภาพการดำเนินธุรกิจ

จากข้อมูลงบการเงินของนิติบุคคลในอุตสาหกรรมดนตรี สามารถนำมาวิเคราะห์ถึงศักยภาพการดำเนินธุรกิจ พบว่า มีกิจการในอุตสาหกรรมดนตรีมากถึง 116 ราย ที่มีศักยภาพการดำเนินธุรกิจอยู่ในระดับแข็งแกร่ง (Strong) หรือคิดเป็นร้อยละ 35.9 ส่วนกิจการอีก 110 ราย อยู่ในระดับปานกลาง (Regular) หรือคิดเป็นร้อยละ 34 และกิจการอีก 97 ราย อยู่ในระดับอ่อนแอ (Weak) หรือคิดเป็นร้อยละ 30 อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมแล้วเมื่อวิเคราะห์ในส่วนของอัตราการอยู่รอดของธุรกิจ จะพบว่า เกือบทุกรหัสธุรกิจมีอัตราการอยู่รอดในระดับสูง มากกว่าร้อยละ 90 
 

CREATIVE LABOUR STATISTICS

3)  สถิติด้านแรงงานสร้างสรรค์

•    จำนวนแรงงานสร้างสรรค์ และลักษณะการทำงาน

CEA รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลสถิติด้านแรงงานสร้างสรรค์ จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ข้อมูล ณ ปี 2561 โดยอ้างอิงตาม ISCO-08 Codes  สำหรับแรงงานสร้างสรรค์ในสาขาอาชีพดนตรี ศิลปะการแสดง และทัศนศิลป์  มีการจัดหมวดหมู่โดยรวบรวม Codes ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 4 รหัส ประกอบด้วย

 

ISCO-08 Codes คำแปล : อุตสาหกรรมดนตรี ศิลปะการแสดง และทัศนศิลป์
2561 นักทัศนศิลป์
2655 นักแสดง
2653 นักเต้นรำและนักออกแบบท่าเต้น
2652 นักดนตรี นักร้อง และนักประพันธ์เพลง

 

แรงงานในสาขาอาชีพดนตรี ศิลปะการแสดง และทัศนศิลป์ มีจำนวนทั้งสิ้น 58,402 คน คิดเป็นร้อยละ 6.48 เมื่อเทียบกับจำนวนแรงงานสาขาอาชีพสร้างสรรค์ทั้งหมด ซึ่งอยู่ที่ 901,609 คน 

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี ระหว่างปี 2559 – 2561 พบว่า แรงงานในสาขานี้มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 71,882 คนในปี 2559 เป็น 69,250 คนในปี 2560 และเหลือ 58,402 คนในปี 2561 หรืออาจกล่าวได้ว่า ในช่วงสามปีที่เก็บข้อมูลแรงงานในสาขาอาชีพดนตรี ศิลปะการแสดง และทัศนศิลป์  มีจำนวนแรงงานลดลงประมาณ 13,000 คน เมื่อพิจารณาในแง่ของลักษณะการทำงานจะพบว่า สัดส่วนของแรงงานในสาขาอาชีพดนตรี ศิลปะการแสดง และทัศนศิลป์ เป็นแรงงานในระบบและนอกระบบ ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน 

•    จำนวนแรงงานสร้างสรรค์ จำแนกตามภูมิภาค 

การกระจายตัวในแต่ละพื้นที่ของแรงงานในสาขาอาชีพดนตรี ศิลปะการแสดง และทัศนศิลป์ จากข้อมูลปี 2561 พบว่า ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในภาคกลาง มีจำนวนทั้งสิ้น 28,477 คน คิดเป็นร้อยละ 48.76 ซึ่งแตกต่างจากแรงงานสาขาอาชีพสร้างสรรค์ในภาพรวม ที่กระจุกตัวอยู่บริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานครมากที่สุด โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 326,400 คน คิดเป็นร้อยละ 36.2 และจากการพิจารณาการกระจายตัวของแรงงานตามพื้นที่ เปรียบเทียบระหว่างช่วงปี 2559 – 2561 จะพบว่า มีการกระจายตัวไปในทิศทางเดียวกันทั้ง 3 ปี 

•    จำนวนแรงงานสร้างสรรค์ จำแนกตามช่วงอายุ

ช่วงอายุของแรงงานสร้างสรรค์ในสาขาอาชีพดนตรี ศิลปะการแสดง และทัศนศิลป์ จากข้อมูลในปี 2561 พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 40–49 ปี มากที่สุด มีจำนวนทั้งสิ้น 13,381 คน คิดเป็นร้อยละ 22.91 รองลงมา คือ ช่วงอายุ 35-39 ปี และช่วงอายุ 25-29 ปี ตามลำดับ 

ตัวเลขดังกล่าวยังสอดคล้องกับข้อมูลแรงงานสาขาอาชีพสร้างสรรค์ในภาพรวม ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 40-49 ปี มากที่สุด มีจำนวนทั้งสิ้น 244,495 คน คิดเป็นร้อยละ 27.12 และเมื่อพิจารณาการกระจายตัวของแรงงานตามช่วงอายุ เปรียบเทียบระหว่างช่วงปี 2559 – 2561 จะพบว่า มีการกระจายตัวไปในทิศทางที่ใกล้เคียงกันทั้ง 3 ปี 

•    จำนวนแรงงานสร้างสรรค์ จำแนกตามรายได้

ค่าเฉลี่ยรายได้ของแรงงานสร้างสรรค์ในสาขาอาชีพดนตรี ศิลปะการแสดง และทัศนศิลป์ จากข้อมูลระหว่างปี 2559 - 2561 พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย 

ทว่าเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยรายได้ของสาขาอาชีพดนตรี ศิลปะการแสดง และทัศนศิลป์ เทียบกับค่าเฉลี่ยรายได้ของทั้ง 12 สาขาอาชีพสร้างสรรค์ จะพบว่า มีความแตกต่างกัน เฉลี่ยถึงร้อยละ 51.7 และหากพิจารณาจัดอันดับตามค่าเฉลี่ยรายได้ พบว่า ค่าเฉลี่ยรายได้ของแรงงานในสาขาอาชีพดนตรี ศิลปะการแสดง และทัศนศิลป์ จะอยู่ในอันดับที่ 11 จาก 12 สาขาอาชีพสร้างสรรค์

•    จำนวนแรงงานสร้างสรรค์ จำแนกตามระดับการศึกษา

ระดับการศึกษาของแรงงานสร้างสรรค์ในสาขาอาชีพดนตรี ศิลปะการแสดง และทัศนศิลป์ จากข้อมูลในปี 2561 พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีมากที่สุด มีจำนวนทั้งสิ้น 42,270 คน คิดเป็นร้อยละ 72.38 เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับแรงงานทั้ง 12 สาขาอาชีพสร้างสรรค์ พบว่า ส่วนใหญ่มีการศึกษาในระดับปริญญาตรีมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 47.27 และหากพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างช่วงปี 2559 – 2561 จะพบว่า มีการกระจายตัวไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน

 

ที่มา : 
1. มูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 
2. แรงงานสร้างสรรค์ จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ 
3. สถานะนิติบุคคลของกิจการในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
4. รวบรวมและวิเคราะห์รายอุตสาหกรรม โดย คณะผู้วิจัยและสำนักพัฒนาองค์ความรู้เศรษฐกิจสร้างสรรค์  สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)