Open Call: เปิดรับสมัครโครงการจากทุกภาคส่วนทั่วประเทศ ร่วมกิจกรรมพัฒนาต้นแบบพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Cultural District)
เปิดรับสมัครนักออกแบบ ผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน ทีมนักวิจัย สตาร์ทอัป หรือชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ นำเสนอโครงการเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาต้นแบบพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Cultural District) ยกระดับภาพลักษณ์ประเทศไทยด้วยซอฟต์พาวเวอร์ วันนี้ - 31 กรกฎาคม 2568
ประเทศไทยมีทรัพยากรทางวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพสูงในการสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ทั้งยังมีศักยภาพด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมชุมชนอันมีเอกลักษณ์ สู่การพัฒนาย่านวัฒนธรรมสร้างสรรค์ได้ในอนาคต คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านการออกแบบ THACCA จึงร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA จัด “กิจกรรมพัฒนาต้นแบบพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Cultural District)” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Thailand as Brand เพื่อยกระดับประเทศไทยด้วยซอฟต์พาวเวอร์ ในปีงบประมาณ 2568 เพื่อสำรวจและพัฒนาย่านวัฒนธรรมสร้างสรรค์ใน 10 พื้นที่ทั่วประเทศไทย โดยเน้นการร่วมมือระหว่างนักออกแบบ ผู้ประกอบการ และชุมชนท้องถิ่น เพื่อผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมยกระดับพื้นที่สร้างสรรค์ทั้ง 10 พื้นที่ดังกล่าว ให้เป็นต้นแบบด้านการสร้างงาน รายได้ และมูลค่าเชิงเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน
เป้าหมายสำคัญของกิจกรรมคือการพัฒนาต้นแบบพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Cultural District) ที่เป็นพื้นที่พัฒนาเฉพาะ (Specific Area) สู่ย่านวัฒนธรรมสร้างสรรค์ เพื่อถ่ายทอดคุณค่าและเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละพื้นที่ ทั้งยังสนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้เชี่ยวชาญ องค์กรที่เกี่ยวข้อง และชุมชนในพื้นที่ อันเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาให้สอดคล้องกับบริบทของโครงการ Thailand as Brand รวมถึงส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศไทยในอนาคต นอกจากนี้ กิจกรรมยังมุ่งสร้างโอกาสให้แก่นักสร้างสรรค์และผู้ประกอบการในท้องถิ่น สนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนและการอนุรักษ์วัฒนธรรมในรูปแบบที่ทันสมัยและเหมาะสมกับยุคปัจจุบัน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน และส่งเสริมภาพลักษณ์เชิงบวกของประเทศไทยสู่เวทีโลก
คุณสมบัติทีมผู้สมัคร
ทีมผู้สมัครเป็นนักออกแบบ ผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน นักวิจัย สตาร์ทอัป หรือชุมชนท้องถิ่น ที่มีประสบการณ์และผลงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาต้นแบบพื้นที่สร้างสรรค์ โดยมีคุณสมบัติดังนี้
- มีพื้นที่โครงการตั้งอยู่ใน 5 ภูมิภาคของประเทศไทย โดยแบ่งตามลักษณะทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม ดังนี้ (1) ภาคเหนือ (2) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (3) ภาคกลาง (4) ภาคตะวันออก (5) ภาคใต้
- ย่านพื้นที่โครงการจะต้องเป็นย่านที่มีความพร้อมด้านอัตลักษณ์ที่ชัดเจน และมีขนาดพื้นที่โครงการรวมกันไม่น้อยกว่า 200 ตารางเมตร
- มีความพร้อมในการจัดทำต้นแบบพื้นที่สร้างสรรค์ ทั้งด้านพื้นที่ บุคลากร เครือข่ายและความร่วมมือ แผนการดำเนินงาน และงบประมาณ
เกณฑ์การรับสมัครและคัดเลือก 10 พื้นที่สร้างสรรค์
คณะกรรมการจะพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครที่มีข้อเสนอโครงการ ที่สอดคล้องกับแนวทางและวัตถุประสงค์ของกิจกรรมพัฒนาต้นแบบพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Cultural District) โดยให้ความสำคัญกับปัจจัยต่อไปนี้
- ความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระดับชาติ เช่น ยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ และแนวทางตามโครงการ Thailand as Brand ความพร้อมของหน่วยงานท้องถิ่นในการร่วมพัฒนา “พื้นที่สร้างสรรค์” ที่สามารถเชื่อมโยงกับบุคลากรสร้างสรรค์ ธุรกิจสร้างสรรค์ และเครือข่ายในพื้นที่
- ศักยภาพของพื้นที่ในการต่อยอด โดยเปิดรับข้อเสนอของทุกจังหวัด และคำนึงถึงปัจจัยความพร้อมในด้านต่าง ๆ ดังนี้
1. ความพร้อมของพื้นที่
2. บุคลากรและทีมขับเคลื่อน
3. เครือข่ายและความร่วมมือ
4. แผนการดำเนินงาน
ระยะเวลารับสมัครและรายละเอียดกิจกรรม
1. เปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการ (Open Call) วันนี้ - 31 กรกฎาคม 2568
2. คัดเลือกรอบที่ 1 จำนวน 10 พื้นที่ โดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ราย และผู้เชี่ยวชาญจาก CEA
3. จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) การพัฒนาแผนที่ (Mapping) และการพัฒนาต้นแบบพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Cultural District)
4. ประชุมคัดเลือกรอบที่ 2 จำนวน 5 พื้นที่ เพื่อพัฒนา 5 ต้นแบบพื้นที่สร้างสรรค์ อย่างน้อย 1 ครั้ง โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อย่างน้อย 5 ราย และผู้เชี่ยวชาญจาก CEA อย่างน้อย 1 ราย
5. พัฒนา 5 ต้นแบบในพื้นที่เป้าหมายจำนวน 5 พื้นที่ที่ผ่านการคัดเลือก พร้อมติดตามความคืบหน้าและประเมินผล ร่วมกับที่ปรึกษาอย่างน้อย 1 ราย และทีมงานประสานงานในพื้นที่ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาต้นแบบให้เกิดผลลัพธ์ที่มีคุณสมบัติตามต้นแบบจากข้อเสนอ (Proposal Mock-Up) ที่ได้รับคัดเลือก โดยให้มีการรายงานความคืบหน้าของการพัฒนาต้นแบบ อย่างน้อย 3 ครั้ง ก่อนส่งมอบต้นแบบพื้นที่สร้างสรรค์ (Prototype)
6. จัดงานแถลงข่าวเพื่อจัดแสดงผลสำเร็จของกิจกรรมพัฒนาต้นแบบพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Cultural District)
รายละเอียดการคัดเลือกรอบที่ 1 และรอบที่ 2
คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะดำเนินการพิจารณาและคัดเลือกทีมผู้สมัคร ไม่ว่าจะเป็นนักออกแบบ ผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน นักวิจัย สตาร์ทอัป หรือชุมชนท้องถิ่น ที่มีประสบการณ์และผลงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาต้นแบบพื้นที่สร้างสรรค์ โดยอิงจากแบบฟอร์มและเอกสารที่ส่งเข้ามาภายในระยะเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ขอสงวนสิทธิ์ในการเปิดเผยรายละเอียดภายในของกระบวนการพิจารณา
รอบที่ 1: การคัดเลือกเบื้องต้น (Preliminary Selection)
จำนวนพื้นที่ที่คัดเลือก
2 พื้นที่ต่อภูมิภาค จาก 5 ภูมิภาค รวมทั้งสิ้น 10 พื้นที่ทั่วประเทศ (โดยไม่ซ้ำจังหวัด)
วิธีการพิจารณา
- พิจารณาจากแบบฟอร์มใบสมัครและเอกสารแนบ
- คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะประเมินตามหลักเกณฑ์ข้างต้น โดยใช้วิธีให้คะแนน ทั้งนี้ขอสงวนสิทธิ์ไม่เปิดเผยรายละเอียดภายในของกระบวนการพิจารณา
การประกาศผล
วันที่ 10 สิงหาคม 2568
ทางเว็บไซต์และเฟซบุ๊ก Creative Cultural District และอีเมลที่ทีมผู้สมัครระบุไว้
ทีมผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกจะต้องเข้าร่วมกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) การพัฒนาแผนที่ (Mapping) และการพัฒนาต้นแบบพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Cultural District)
รอบที่ 2: การคัดเลือกรอบลึก (Final Selection & Workshop)
จำนวนพื้นที่ที่คัดเลือก
1 พื้นที่ต่อภูมิภาค จาก 5 ภูมิภาค รวมทั้งสิ้น 5 พื้นที่ เพื่อรับงบประมาณสนับสนุน 1,000,000 บาทต่อพื้นที่ รวมเป็นงบประมาณสนับสนุนทั้งสิ้น 5,000,000 บาท
กระบวนการ
การเข้าร่วมกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ระยะเวลา 3 วัน 2 คืน และการนำเสนอ (Pitching)
วิธีการพิจารณา
- พิจารณาจากแบบการนำเสนอข้อมูล ใบสมัคร และเอกสารแนบ
- คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะประเมินตามหลักเกณฑ์ข้างต้น โดยใช้วิธีให้คะแนน ทั้งนี้ขอสงวนสิทธิ์ไม่เปิดเผยรายละเอียดภายในของกระบวนการพิจารณา
เกณฑ์การคัดเลือกข้อเสนอโครงการ เพื่อรับงบสนับสนุนในการจัดทำ 5 ต้นแบบพื้นที่
1. ต้นแบบดังกล่าวไม่ได้เป็นสิ่งปลูกสร้างถาวร
2. ใช้พื้นที่ตั้งแต่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป
3. 5 พื้นที่มีความหลากหลาย และไม่มีความซ้ำซ้อนหรือเป็นประเภทเดียวกัน
4. รายละเอียดของพื้นที่ต้นแบบ เช่น ความเหมาะสมของงบประมาณ การวางผังที่ระบุระยะต่าง ๆ วัสดุ โครงสร้างของการออกแบบ ฯลฯ โดยจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้านชีวิตและทรัพย์สินของชุมชนและผู้ใช้ประโยชน์
5. การพิจารณารายละเอียด แผนบริหารจัดการต้นแบบ การบำรุงรักษาให้ต้นแบบมีสภาพพร้อมในการใช้งานในระยะเวลา 6 เดือน และการรื้อถอน ในกรณีที่เจ้าของพื้นที่มีความประสงค์ในการยกเว้นการรื้อถอน จะต้องทำหนังสือแจ้งความจำนงในการบริหารจัดการต้นแบบต่อ CEA ต่อไป
งบประมาณที่ให้การสนับสนุน
CEA สนับสนุนงบประมาณไม่เกินวงเงินสนับสนุน โดยมีรายละเอียดดังนี้
- งบสนับสนุนการจัดทำ 5 ต้นแบบพื้นที่สร้างสรรค์ (Prototype) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 5,000,000 บาท ให้เหมาะสมตามรายละเอียดของแต่ละต้นแบบจากข้อเสนอ (Proposal Mock-Up) โดยมีขนาดพื้นที่ดำเนินการประมาณ 200 ตารางเมตรต่อพื้นที่
- มีการแบ่งเป็นงวดงานอย่างน้อย 2 งวด และเก็บบันทึกหลักฐานค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามจริง รวมถึงความรับผิดชอบเรื่องการขออนุญาตการใช้พื้นที่ การประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการได้มาซึ่งจดหมายและใบอนุญาตทั้งหมด รวมถึงค่าใช้จ่ายในการขออนุญาตและใบอนุญาตทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง
การประกาศผล
วันที่ 31 สิงหาคม 2568
ทางเว็บไซต์และเฟซบุ๊ก Creative Cultural District และอีเมลที่ทีมผู้สมัครระบุไว้
รายละเอียดการรับสมัคร
- ศึกษาเอกสารการสมัครที่ https://shorturl.at/uVQzk
- กรอกข้อมูลใบสมัครและแนบไฟล์เอกสาร/หลักฐานประกอบการสมัครผ่าน https://shorturl.at/PCm0Y
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์วิจัยและออกแบบงานสร้างสรรค์ (AADx)
คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
1 ถ. ฉลองกรุง แขวงลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร 10520
Tel: 089-376-0427
Email: creative.cultural.district@gmail.com
Website: www.creativeculturaldistrict.com
Facebook: Creative Cultural District