Research & Report

ศึก “สุขุมวิท 11” ชวนมองบวก ถึงโอกาสสร้างซอฟต์พาวเวอร์

เหตุ 4 มีนาคม ที่โซเชียลมีเดียไทย ขนานนามว่าเป็นวัน “กะเทยผ่านศึก” สะท้อนให้เกิดข้อถกเถียงในหลายประเด็น ความจริงที่สังคมไม่สนับสนุนให้เกิดขึ้น คือการใช้ความรุนแรงไม่ว่าจะเริ่มต้นมาจากฝ่ายใดก็ตาม แต่หากถอยมามองสถานการณ์ เราสามารถคิดบวกกับเรื่องนี้ได้หรือไม่

ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่า ชุมชนเพศทางเลือกของไทยนั้นไม่เล็ก ที่น่าทึ่งยิ่งกว่าคือเครือข่ายคอนเน็กชันที่ส่งข่าวสารถึงกันนั้นรวดเร็วและทรงพลัง อีกประการหนึ่งคือการเข้ามาประกอบอาชีพของเพื่อนบ้านชาวฟิลิปปินส์นั้น อาจไม่ใช่แค่การเข้ามาแย่งงานคนไทยเท่านั้น แต่ทำให้เห็นถึงขนาดตลาดและความนิยมที่เปิดช่องดึงดูดให้พวกเขาเหล่านั้นเข้ามาแสวงหาโอกาสในไทย หากมองในมุมบวก เราจะสามารถผลักดันให้ไทยเป็นหมุดหมายสำคัญของกลุ่มคนเพศทางเลือก (LGBTQ+) จากทั่วโลก ที่จะเข้ามาเพื่อปักหลักใช้ชีวิต ท่องเที่ยว หรือประกอบอาชีพแบบถูกกฎหมาย ให้รัฐไทยและคนไทยไม่เสียเปรียบได้หรือไม่

นโยบายที่มองเห็นถึงกลุ่มคนเพศทางเลือกสำคัญกับการเติบโตของประเทศอย่างไร งานวิจัยของ The Williams Institute ร่วมกับ Rutgers University พบความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับนโยบายส่งเสริมความหลากหลายและไม่แบ่งแยก ประเทศที่มีกฎหมายและสิทธิ์เพิ่มเติมเพื่อดูแลครอบคลุมชาว LGBTQ+ โดยไม่เลือกปฏิบัตินั้น มีแนวโน้มที่จะมี GDP per capita ที่สูงกว่าประเทศที่มีนโยบายเรื่องนี้ไม่ชัดเจน หันกลับมามองที่ไทย แม้จะดูเหมือนมีความพร้อมอย่างสูง ทั้งจากทัศนคติทางสังคมที่ดูเหมือนว่าจะเปิดกว้างต่อผู้มีความหลากหลาย มีการเปิดพื้นที่บนสื่อและโซเชียลให้แสดงออกและถกเถียงกันอย่างเสรี ช่วยขยายการมีส่วนร่วมของชุมชนออนไลน์ที่สนับสนุนความหลากหลายอย่างไม่เคยมีมาก่อน แต่เมื่อโฟกัสไปที่กระบวนการเปลี่ยนผ่านจากนโยบายสาธารณะไปสู่ขั้นตอนตราเป็นกฎหมายนั้น กลับมีพัฒนาการที่ค่อนข้างช้า แม้สภาจะมีมติรับหลักการร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมไปเมื่อเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา แต่จากนั้นไม่นานก็โหวตคว่ำร่าง พ.ร.บ. การรับรองเพศฯ ส่อเค้าการผลักดันแบบไปไม่สุด 

ข้อมูลจาก The Human Rights Campaign (HRC) เผยว่ามี 36 ประเทศที่ออกกฎหมายรับรองให้การแต่งงานของคนเพศเดียวกันนั้นถูกต้องตามกฎหมาย สัดส่วนสูงสุดอยู่ในประเทศกลุ่มยุโรป ส่วนเอเชียมีเพียงประเทศเดียวเท่านั้น คือไต้หวัน สำหรับไทยถือว่าอยู่ในข่ายที่ HRC จับตามองในปี 2024 ร่วมกับอีกหลายประเทศในเอเชีย เช่น ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และอินเดีย ซึ่งถือเป็นมุมบวก แต่ก็ต้องคอยลุ้นกันว่าประเทศไหนจะสามารถบังคับใช้กฎหมายได้ก่อนกัน กลับไปที่โจทย์ที่จะผลักดันให้ไทยเป็นดินแดนเสรีที่ดึงดูดกลุ่มคนเพศทางเลือกจากทั่วโลก แม้ว่าการเร่งปฏิรูปกฎหมายจะมีความสำคัญ แต่เรายังเริ่มต้นส่งเสริมแคมเปญนี้ได้ผ่านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ท่องเที่ยว และบริการ ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือเสริมภาพลักษณ์ให้ไทย เป็นประเทศที่พร้อมเปิดรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศให้เข้ามาใช้ชีวิต สร้างครอบครัว ทำงาน และตั้งธุรกิจได้

การสื่อสารผ่านงานศิลปะและสื่อต่าง ๆ เช่น ภาพยนตร์ ซีรีส์ และเพลง ก็ช่วยเน้นย้ำค่านิยมของการยอมรับและความเข้าใจในหมู่ชาว LGBTQ+ พิสูจน์ได้จากการเติบโตของฐานผู้ชมซีรีส์วายบน Line TV ที่สูงขึ้นถึง 328% และความนิยมในเทศกาล Bangkok Pride 2023 ที่มีผู้เข้าร่วมกว่า 50,000 คน เป็นตัวอย่างที่ดีของความเป็นอารยะและการเปิดรับความหลากหลาย ภายใต้ฉากเฉลิมฉลอง ผู้จัดงานได้แฝงวาระขับเคลื่อนสำคัญด้านสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม โดยครอบคลุมใน 4 มิติ ได้แก่ การรับรองเพศสภาพ สมรสเท่าเทียม สิทธิของ Sex Workers และสวัสดิการสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับ LGBTQIA+ อย่างไรก็ตามการผลักดันให้เกิดโปรเจ็กต์ใหม่ ๆ ที่สร้างสรรค์ ยังเป็นที่ต้องการเพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ให้กับไทย ตัวอย่างเช่น การจัดเวทีวิชาการนานาชาติพูดคุยกันเรื่องความหลากหลายทางเพศ การประมูลงาน WorldPride ให้มาจัดที่ไทย การสร้างลีกการแข่งขันกีฬาของเพศทางเลือก หรือการปักหมุด Medical Hub ที่ชูให้ไทยเป็นศูนย์กลางการแปลงเพศโลก มีบริการฟื้นฟูความงามสำหรับกลุ่ม Transgender โดยเฉพาะ เหล่านี้ล้วนเป็นการสะสมพลังที่สามารถก่อตัวเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้ นำพาภาพลักษณ์ให้ไทยกลายเป็นประเทศที่ก้าวหน้าและเป็นมิตรในสายตาชาวโลก เป็น “สวรรค์สำหรับคนทุกเพศ”

 

ศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Information Center: CIC)