Research & Report

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ x นวัตกรรม สู่การผลักดัน Soft Power ไทย ให้ “ขายได้” และ “ขายดี”

ปรากฏการณ์ Soft Power นับว่าอยู่ในกระแส และแต่ละชาติก็ได้หยิบยก “DNA” ของประเทศตนเองมาเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลักดันการสร้าง “แบรนด์ประจำชาติ” ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยต้นทุนทางวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยี ให้เข้ามามีบทบาทสำคัญเพื่อสร้างสรรค์สินค้าและบริการให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม หากมองกลับกัน นโยบายด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย (Creative Economy) และการผลักดัน Soft Power ถือว่ายังเป็นจุดเริ่มต้น นำมาสู่การตั้งคำถามว่าอะไรคือ “Soft Power” ของประเทศไทยที่สะท้อนคุณค่าและตัวตนของชาติซึ่งสามารถส่งออกให้ต่างชาติยอมรับได้

ในขณะที่ วิกฤตการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ทุกภาคอุตสาหกรรมชะลอตัว แต่ตรงกันข้ามกับฝั่งเทคโนโลยีที่จะเดินหน้าและเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ การแพทย์ หรือกลุ่มอุปกรณ์ประเภทไร้สัมผัส (Touchless) ที่ผสมผสานเข้ากับเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มการสัมผัสเสมือนจริง โดยสื่อใหญ่ได้วิเคราะห์เกี่ยวกับอนาคตของเทคโนโลยีไว้ว่า เทคโนโลยีจะเติบโตได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องพึ่งพารัฐบาล หรือนายทุนยักษ์ใหญ่ แต่จะเน้นที่กลุ่มสตาร์ตอัปที่จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงสำคัญให้กับโลกใบนี้ จึงเป็นแนวทางเศรษฐกิจใหม่ที่น่าจับตามอง ว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และนวัตกรรม จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยได้อย่างไร (อ้างอิงจาก Trend 2022)

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ร่วมกับภาคเอกชน บริษัท เวรียนส์ แอนด์ พาร์ทเนอส์ จำกัด จัดงาน Creative Economy Forum Thailand 2022 ภายใต้หัวข้อการเสวนา “เศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยก้าวไปด้วยเทคโนโลยี ท่ามกลางโรคระบาดอุบัติใหม่” เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์ ในการผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยให้ก้าวหน้า พร้อมสร้างแรงบันดาลใจแก่ประชาชนคนไทยให้มีส่วนร่วมคิด ร่วมพัฒนา “Soft Power” เพื่อส่งออกเป็นสินค้าที่น่าภาคภูมิใจสู่สายตาคนทั้งโลก

Creative Economy อนาคตเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยหลังโควิด-19

ดร. อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กล่าวเปิดงานด้วยการฉายภาพรวมให้เห็นถึงความสำคัญของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา โดยประเทศต่าง ๆ ได้นำมาใช้เป็นกลไกผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้วยการต่อยอดสร้างสรรค์ทุนทางวัฒนธรรมให้ทันสมัย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและความแตกต่างให้แก่สินค้าและบริการ รวมทั้งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้าง Soft Power เพื่อใช้ส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศในเวทีนานาชาติ ดึงดูดการท่องเที่ยวและส่งเสริมการส่งออก

อย่างไรก็ตาม หลังเกิดการแพร่ระบาดรุนแรงของโควิด-19 ในช่วงปี 2563-2564 จากประมาณการขององค์การยูเนสโก ในปี 2563 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั่วโลกมีมูลค่าลดลงกว่า 24.8 ล้านล้านบาท ส่วนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย 15 สาขา มีมูลค่าลดลงร้อยละ 23 มาอยู่ที่ 1.19 ล้านล้านบาท แต่ยังคงรักษาอัตราการจ้างงานไว้กว่า 990,000 คน

ในปี 2565 นี้ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญความท้าทายจากโรคระบาด ราคาน้ำมัน และสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่การดำเนินนโยบายเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยเริ่มฟื้นตัว ทั้งจากกิจกรรมของภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภายในประเทศ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่เพิ่มขึ้น

ปัจจุบัน CEA ได้เร่งเดินหน้าการผลักดันยุทธศาสตร์ “Soft Power” และมาตรการที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมภาคธุรกิจ SME และผู้เล่นสำคัญรายใหญ่ ในการนำทรัพยากรเชิงวัฒนธรรมที่มีศักยภาพของประเทศ (5F) ได้แก่ อาหาร (Food) มวยไทย (Fighting) เทศกาล (Festival) ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion) ภาพยนตร์ (Film) มาพัฒนาต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์ และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ เพื่อส่งออกคอนเทนต์ไทยไปสู่ตลาดอาเซียนและตลาดโลก

นอกจากนี้ CEA ยังเร่งเตรียมความพร้อมของระบบนิเวศสร้างสรรค์ (Creative Ecology) ในภูมิภาคร่วมกับหน่วยงาน องค์กรในท้องถิ่น โดยการสนับสนุนองค์ความรู้ กลยุทธ์ และกิจกรรมนำร่องในการพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative District) ซึ่งขณะนี้ได้ขยายไปมากกว่า 33 พื้นที่ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั่วประเทศ

“ปัจจุบันมีเทคโนโลยีสมัยใหม่เกิดขึ้นมากมาย เช่น ปัญญาประดิษฐ์เอไอ รวมถึงเมตาเวิร์สที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน ภาครัฐต้องดูว่าจะทำอย่างไรจึงจะพัฒนาบุคลากร เตรียมระบบนิเวศด้านต่าง ๆ ให้พร้อม เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์สามารถพัฒนาหรือตามเทคโนโลยีของโลกได้ทันท่วงที และนำมาใช้ประโยชน์ในการสร้างรายได้ ในขณะที่ CEA ยังมุ่งมั่นทำงานร่วมกับองค์กรเอกชนหลายแห่ง หลายสาขา เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในอนาคต”



อนาคตอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยหลังโควิด-19 และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

จากนั้นเป็นการบรรยายในหัวข้อ “อนาคตอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยหลังพลิกฟื้นจากโควิด-19 และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี” ของวิทยากร 3 ท่าน เริ่มจาก ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งได้กล่าวถึงศักยภาพและโอกาสในการสร้างและใช้ประโยชน์ Soft Power ของประเทศไทยว่า แม้ไทยอาจไม่ได้เป็นชาติมหาอำนาจเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา จีน และรัสเซีย ที่มีทั้ง Hard Power และ Soft Power แต่ไทยมีต้นทุนวัฒนธรรมจำนวนมาก ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดได้หลายรูปแบบ และอธิบายเพิ่มเติมว่า Thailand’s Soft Power นั้นมีฐานรากมาจาก DNA ของความเป็นไทย (Thainess) ใน 5 มิติ

“หลายสิบปีก่อน Kellogg School of Management มหาวิทยาลัย Northwestern เคยทำวิจัยสอบถามผู้บริหารองค์กรทั่วโลก 500 คนที่มีปฏิสัมพันธ์กับไทย ว่าแก่นแท้ของความเป็นไทยคืออะไร ผลที่ออกมาพบว่าคนนอกมองไทยว่าประกอบด้วย 5F คือ คนไทยเป็นคนสนุกสนาน (Fun) มีวัฒนธรรมที่เปี่ยมรสชาติ (Flavoring) ชอบสร้างสีสันเติมเต็มกัน (Fulfilling) มีความยืดหยุ่น (Flexible) และเป็นมิตร (Friendly) และ Thainess DNA ดังกล่าวถูกเสริมด้วย National Endowment 2 ชุด คือ ความหลากหลายเชิงชีวภาพและความหลากหลายเชิงวัฒนธรรม สามารถสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจมากมาย ขึ้นอยู่กับว่าเราจะบริหารจัดการสิ่งนี้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

ทั้ง DNA ของความเป็นไทย และ National Endowment จาก 2 ความหลากหลายดังกล่าว ได้ก่อเกิด “คุณลักษณ์ความเป็นไทย” ที่นำมาสู่การรังสรรค์ในบริบทต่าง ๆ 9 คุณลักษณ์ เช่น ความละเอียดพิถีพิถัน ทักษะฝีมือเชิงช่าง ความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ความสนุกสนาน มีชีวิตชีวา มองโลกในแง่บวก และสร้างสรรค์ ทั้งหมดนี้สะท้อน “ความเป็นไทย” ที่โดดเด่น เป็น “Soft Power” ที่สามารถสร้าง “คุณค่า” และ “มูลค่า” ในตัวเอง จึงเป็นขุมทรัพย์สำคัญในการสร้างความมั่งคั่ง ผ่านแพลตฟอร์มของ Place x People x Product

เครดิตภาพ : ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ 

 

การผสมผสาน Place, People และ Product อย่างลงตัว ทำให้ประเทศไทยติดอันดับโลกของ Place to Live, Place to Invest, Place to Work, Place to Visit, Place to Shop เช่น ติดอันดับ 6 ของประเทศที่มีระบบสุขภาพดีที่สุดในโลก อันดับ 7 ของประเทศที่ร่ำรวยมรดกทางวัฒนธรรมมากที่สุดในโลก และอันดับ 2 ของประเทศที่เหมาะกับการลงทุน นอกจากนี้ ในปี 2020 จากการจัดอันดับอาหารอร่อยของโลกรวม 50 อันดับ ปรากฏว่าอาหารไทยติดอันดับถึง 3 เมนูด้วยกัน และยังได้ครองแชมป์อาหารที่อร่อยที่สุดในโลกอีกด้วย

ในอนาคต ดร. สุวิทย์ มองว่า “Soft Power ต้องเป็นส่วนผสมระหว่าง High Tech กับ High Touch โดยนำพลังของเยาวชนมาเป็นผู้นำการขับเคลื่อน Soft Power ในมิติต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม ประเทศไทยมีศักยภาพอยู่แล้ว สามารถเป็น Creative Hub ของอาเซียนได้ ประเด็นสำคัญคือภาครัฐต้องกล้าคิด กล้าทำ มีนโยบายและยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน เอาจริงเอาจังอย่างต่อเนื่อง มีการผนึกกำลังกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเข้มแข็ง การลงทุนและการสร้างงานขนาดใหญ่ หากดำเนินการตามนี้ไม่เกิน 5-10 ปี จะเห็นการพลิกโฉมอย่างมีนัยยะที่เกิดจาก Soft Power อย่างแน่นอน”

ด้าน ดร. เสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ชี้ให้เห็นภาพว่า โลกใหม่หลังโควิด-19 ประกอบด้วย 3 โลก คือ โลกเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) เนื่องจากคนเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น โลกเศรษฐกิจใส่ใจ (Care Economy) ที่คนตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพกายและใจมากขึ้น และโลกเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่คนตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

เมื่อโลกเปลี่ยนไปคนไทยก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการคิดและกระบวนการทำงานใหม่ เพื่อให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งใน 3 โลกใหม่นั้น มีโลกที่ประเทศไทยปรับตัวได้ไม่ยากคือ “โลกเศรษฐกิจใส่ใจ” เพราะเป็นทักษะที่เรามีอยู่แล้ว แต่โลกสีเขียวและโลกเศรษฐกิจดิจิทัลนั้นเรายังต้องปรับตัวอีกมาก

เมื่อเทรนด์โลกเปลี่ยนไป ความต้องการทักษะแรงงานก็เปลี่ยนไป งานที่มีความต้องการสูงและรายได้ดีก็ยิ่งต้องการทักษะที่หลากหลาย เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน นอกจากจะต้องมีความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม กฎหมาย และภาษาอังกฤษแล้ว ยังต้องมีความสามารถในการคิดเชิงวิพากษ์และความสามารถในการสื่อสารอีกด้วย จะเห็นได้ว่างานและทักษะในโลกใหม่จะมีความหลากหลายซับซ้อน นอกจากรู้ลึกและกว้างแล้ว ยังต้องสามารถเชื่อมโยง บูรณาการได้ เก่งทั้งวิเคราะห์และสังเคราะห์

แล้วทักษะใดที่จำเป็นต่อความอยู่รอดและการเติบโตในอนาคต “ผลสำรวจจาก World Economic Forum พบว่าจากการสัมภาษณ์ CEO จากทั่วโลก ทักษะที่ต้องการภายในปี 2025 แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ การแก้ปัญหา การจัดการตัวเอง การทำงานร่วมกับผู้อื่น การใช้เทคโนโลยี ซึ่งเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนสำหรับเด็กรุ่นใหม่ นอกเหนือจากทักษะเหล่านี้แล้วนายจ้างจำนวนมากต้องการพนักงานที่มี Soft Skills ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการสื่อสาร การทำงานเป็นทีม การมีความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นมืออาชีพ การปรับตัวได้เร็ว”

คำถามต่อมาคือทักษะของคนไทยใช้ได้ตลอดชีวิตจริงหรือ ผลสำรวจหนุ่มสาว อายุ 15-35 ปี ในอาเซียน 56,000 คน พบว่าร้อยละ 30 ของหนุ่มสาวไทยเชื่อว่าทักษะใช้ได้ตลอดชีวิต ขณะที่เพียงร้อยละ 10 ของหนุ่มสาวสิงคโปร์และเวียดนามที่คิดแบบนี้ ซึ่งน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งเพราะว่าทักษะที่โลกใหม่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา ขณะที่สัดส่วนของเด็กไทยที่ตอบว่า “สติปัญญาเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้” มีเพียงร้อยละ 40 ขณะที่เด็กเกือบร้อยละ 70 ในญี่ปุ่นที่คิดแบบนี้

ส่วนอนาคตการเติบโตต่อปีของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยจะเป็นอย่างไรนั้น ในช่วงปี 2568-2574 TDRI มองว่า ฉากทัศน์อาจเป็นไปได้ 2 รูปแบบ ฉากทัศน์แรก อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยแบบไปเรื่อย ๆ ไม่ปรับตัวและไม่ต่อยอดด้วยเทคโนโลยี โดยทำแบบเดิม ๆ ภายใต้ฉากทัศน์นี้อัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.1 ส่วนฉากทัศน์ที่สอง แบบมีโมเดลใหม่ คือพลิกโฉมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์โดยปรับตัวและต่อยอดด้วยเทคโนโลยี จนทำให้อุตสาหกรรมดังกล่าวมีอัตราการเติบโตได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของสหราชอาณาจักรและเกาหลีใต้ อัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.5

“เมื่อโลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทักษะที่คนไทยเคยเรียนรู้จะไม่สามารถใช้ได้ตลอดชีวิต คนไทยต้องรีบ reskill อย่างเร่งด่วน ถ้าไม่ปรับตัว อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในปี 2568-2574 จะอยู่ที่ร้อยละ 2 ซึ่งน้อยมาก แต่หากพยายามอย่างเต็มที่จนสามารถเติบโตเพียงแค่ครึ่งหนึ่งของประเทศเกาหลีใต้ จะทำให้ประเทศไทยเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 เท่าตัว”

สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ดร. เสาวรัจ มองว่าภาครัฐควรสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อย่างจริงจังและต่อเนื่องตลอดห่วงโซ่คุณค่า บูรณาการนโยบายอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ควรเร่งพัฒนาทักษะแรงงานสร้างสรรค์สู่โมเดลใหม่ โดยให้ทุนสนับสนุนแรงงานสร้างสรรค์ในทุกช่วงวัยผ่านการแจกคูปองฝึกทักษะให้แก่คนอายุ 18 ปีขึ้นไปทุกคน รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลการมีงานทำและรายได้ของผู้เรียนรายสถาบันและสาขาวิชา เพื่อให้ผู้เรียนมีข้อมูลในการตัดสินใจเลือกเข้าเรียนในสถาบันการศึกษาและสาขาวิชาต่าง ๆ ส่วนสถาบันการศึกษาควรร่วมมือกับภาคเอกชนพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนและเน้นการนำไปปฏิบัติจริง รวมถึงการออกนโยบายเพื่อส่งเสริมให้แรงงานสร้างสรรค์ทักษะสูงจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในประเทศได้

ปิดท้ายการเสวนาช่วงเช้าด้วยการบรรยายของ ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ที่มีมุมมองว่าประเทศไทยมีมรดกและทุนทางวัฒนธรรมที่หลากหลายและสามารถแข่งขันได้ ที่ผ่านมามีการนำทุนทางสังคมและวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจผ่าน 15 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยในปี 2563 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยมีมูลค่าสูงถึง 1.19 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 7.58% ของ GDP ประเทศไทย และมีอัตราการจ้างงานสูงถึงกว่า 9 แสนคน

แต่จากการระบาดของโควิด-19 ที่ค่อนข้างรุนแรง ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์หลายสาขา เช่น ภาพยนตร์ ที่การถ่ายทำหยุดชะงักหรือยกเลิก โรงภาพยนตร์หลายแห่งปิดตัวลง เกิดเทรนด์ใหม่คือ OTT Platform ซึ่งผู้บริโภคโตสวนทางภาคอุตสาหกรรมดนตรีได้รับผลกระทบทั้งคอนเสิร์ต เทศกาลดนตรี และตลาดดนตรีสดทั่วโลกที่มีขนาดเล็กลง 74.4% แต่ก็ทำให้เกิดการบริโภค Music Streaming อย่างก้าวกระโดด เนื่องจากคนเสพสื่อบันเทิงออนไลน์เพิ่มขึ้นจากการกักตัว

ผลกระทบการระบาดของโควิด-19 ต่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในไทย ข้อมูลจาก CEA ระบุว่าปัญหาโควิด-19 ที่ยืดเยื้อส่งผลให้นิติบุคคลสร้างสรรค์ไทยจำนวน 79,096 ราย มีผลประกอบการลดลง จำนวนธุรกิจที่มีความสามารถในการทำกำไรก็ลดต่ำลงด้วยเฉลี่ย 17.1% ธุรกิจที่ขาดทุนมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นถึง 14% โดยกลุ่มมีกำไร ได้แก่ งานฝีมือและหัตถกรรม อาหารไทย ดิจิทัลคอนเทนต์ ส่วนกลุ่มเฝ้าระวัง ได้แก่ ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ภาพยนตร์ ดนตรี ทัศนศิลป์ แพทย์แผนไทย

สิ่งที่ CEA จะทำต่อไป คือการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการสร้าง Soft Power โดยเน้นการพัฒนาบุคลากรสร้างสรรค์ (Creative People) การเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ธุรกิจสร้างสรรค์ (Creative Business) การพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Place) เพื่อสร้างความเข้มแข็งของระบบนิเวศสร้างสรรค์ รวมทั้งเตรียมความพร้อมปรับตัวเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในระยะยาว ทั้งการพัฒนาทักษะดิจิทัล การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล การนำเทคโนโลยีและเครื่องมือดิจิทัล มาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้ธุรกิจ นอกจากนี้ ยังผลักดันกระบวนการด้านทรัพย์สินทางปัญญาและสร้างระบบฐานข้อมูลอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อเชื่อมต่อกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาล และเป้าหมาย SDGs ของสหประชาชาติ ตลอดจนผลักดันยุทธศาสตร์ Soft Power ให้เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทย

“เราต้องการผลักดันเมืองไทยให้เป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในระดับโลก เราสำรวจว่าไทยมีศักยภาพด้านใดมากที่สุด และพยายามติดต่อกับผู้เล่นในตลาดโลกเพื่อส่งออก เรามียุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน เราจะสร้างคน สร้างธุรกิจ และสร้างย่านสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์ที่ยกระดับอัตลักษณ์ไทย ที่ต้องคำนึงถึงความต้องการของตลาดสากล ที่ต้องขายได้และขายดี”



เศรษฐกิจสร้างสรรค์กับการขับเคลื่อนภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการ

ช่วงบ่ายเวที Creative Economy Forum Thailand 2022 ยังมีหัวข้อเสวนาที่น่าสนใจอีก 2 หัวข้อ ได้แก่ “เศรษฐกิจสร้างสรรค์กับการขับเคลื่อนภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการ” สาระสำคัญสะท้อนให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในการสร้างสรรค์นวัตกรรม รวมทั้งความสามารถในการเพิ่มมูลค่าแก่ภาคการท่องเที่ยวและบริการของประเทศไทย ผ่านมุมมองของผู้บริหารจาก 3 องค์กรชั้นนำ ได้แก่ คุณศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คุณสุวรรณี สุวรรณแสงโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่ บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ตาชำนิ จำกัด (มหาชน) และคุณธีรทัศน์ กรุงแก้ว ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์และบริหาร การลงทุน บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) 

ผู้ร่วมเสวนาทุกคนเห็นตรงกันว่า ทักษะเรื่องความคิดสร้างสรรค์นั้นจำเป็นต่อการขับเคลื่อนธุรกิจ จะเห็นได้ว่า ททท. เป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยความคิดสร้างสรรค์มาโดยตลอดผ่านแคมเปญต่าง ๆ ที่กระตุ้นการท่องเที่ยวและสร้างแรงบันดาลใจ เช่นเดียวกับ OR ที่แม้จะทำธุรกิจน้ำมันและการค้าปลีก แต่ก็ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำธุรกิจ ยกตัวอย่างกรณีเสนอขายหุ้น IPO ของ OR ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ส่วนหนึ่งก็เพราะการใช้ความคิดสร้างสรรค์เข้ามาประยุกต์ใช้ ส่วนตาชำนิ ซึ่งเป็นโปรดักชันเฮาส์รายแรกของไทยในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอนั้น เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความคิดสร้างสรรค์โดยตรง องค์กรทั้งสามแห่งนี้มีวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญเรื่องความคิดสร้างสรรค์และพยายามขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นจริง ผ่านการสร้างสภาพแวดล้อมในองค์กรให้คนกล้าคิด กล้าทำ มีโปรเจ็กต์ทดลองให้พนักงานได้ระดมสมอง ทดลองทำ โดยคนสำคัญในการสร้างให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ก็คือผู้นำ ซึ่งต้องเปิดกว้าง ให้โอกาส และรับฟังความคิดเห็น 

ขณะเดียวกันในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งมีแนวโน้มจะเข้ามาเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตและการดำเนินธุรกิจทั้งภาคการผลิต การค้า และบริการ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีบล็อกเชน เอไอ เมตาเวิร์ส อีวี แต่ละองค์กรจึงต้องมองหาวิธีว่าทำอย่างไรถึงจะนำเทคโนโลยีมาใช้และสร้างมูลค่าเพิ่มให้องค์กรหรือแบรนด์ได้ รวมทั้งค้นหาโอกาสสร้างธุรกิจในช่วงรอยต่อที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มผู้บริโภคจาก Gen Y ไป Gen Z ซึ่งเป็นตลาดใหม่ในวันข้างหน้า

นวัตกรรมและเทคโนโลยีสู่การยกระดับอัตลักษณ์พื้นถิ่นให้เป็น Soft Power

ปิดท้ายงานเสวนาด้วยหัวข้อ “นวัตกรรมและเทคโนโลยีสู่การยกระดับอัตลักษณ์พื้นถิ่นให้เป็น Soft Power ที่ได้นักสร้างสรรค์ด้านต่าง ๆ ของประเทศไทย ได้แก่ ดร. ศรุต วิทยารุ่งเรืองศรี ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายสาธารณะ ประเทศไทย ลาว และกัมพูชา บริษัท เน็ตฟลิกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด คุณทิฆัมพร ภูพันนา นักสร้างสรรค์ตัวแทนกลุ่มหมอลำโฮโลแกรม ดร. กรกต อารมย์ดี เจ้าของแบรนด์ KORAKOT งานหัตถกรรมดีไซน์ คุณลักษมณ์ เตชะวันชัย ผู้อำนวยการด้านเทคโนโลยี บริษัท มวยไทย ไอ.กล้า จำกัด และรองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย และ คุณสุทธิพงษ์ สุริยะ ผู้สร้างแบรนด์ Karb Studio และผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ มาให้ความรู้และมุมมองเกี่ยวกับการประยุกต์ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อใช้ร่วมกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับภูมิภาคไปสู่ระดับชาติ และช่วยผลักดัน Soft Power ไปสู่ระดับโลก

เห็นได้ชัดว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มี “Local Content” ที่เด่นชัดในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านศิลปวัฒนธรรม หัตถกรรม สถาปัตยกรรม อาหาร อุตสาหกรรมบันเทิง ดนตรี ภาพยนตร์ ตลอดจนกีฬาแบบไทย ๆ อย่างมวยไทย สิ่งเหล่านี้นับเป็น “ต้นทุนทางวัฒนธรรม” ของชาติที่ควรเร่งส่งเสริมให้เกิดการส่งออกอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ ในฐานะ Soft Power ซึ่งการจะผลักดัน Local Content สู่การเป็น Soft Power ของประเทศได้ ภาครัฐต้องจริงจังในการให้การสนับสนุนผ่านการจัดทำนโยบายที่มีความต่อเนื่องสม่ำเสมอ มีการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐกับเอกชนอย่างใกล้ชิด โดยมีเจ้าภาพหลักอย่าง CEA ซึ่งบทบาทสำคัญในฐานะผู้ขับเคลื่อนกระบวนการ Soft Power ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งเป็นตัวกลางเชื่อมโยงภาคส่วนต่าง ๆ ให้เห็นมูลค่าของการส่งออก Soft Power ในภาพเดียวกัน