Research & Report

“UNFOLDING BANGKOK” เชื่อม ผู้คน-วัฒนธรรม-เมือง ยกระดับ “กรุงเทพ” เมืองแห่งการออกแบบระดับโลก

หากกล่าวถึงงาน “UNFOLDING BANGKOK” เปิดประสบการณ์ใหม่กรุงเทพมหานคร นับเป็นกระแสอย่างมากในช่วงนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญของรัฐบาล เพื่อตอบรับกับนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หลังจากที่ประเทศไทยต้องปิดประเทศจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และได้กลับมาเปิดประเทศเต็มรูปแบบอีกครั้ง ในเดือนพฤศจิกายน 2565 พร้อมกับการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) ที่กรุงเทพฯ ด้วยการจัดโปรแกมต่อเนื่องทั้งหมด 3 ธีม ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 - กันยายน 2566 ใน 10 พื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ ได้แก่ ‘Hidden Temple: ท่อง 5 วัดลับ ย่านฝั่งธนฯ’ (พ.ย. - ธ.ค. 65) ‘Living Old Building: การเปิด 4 อาคารประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ’ (ก.พ. - เม.ย. 66) และ ‘Greeting Benjakitti: ชม 5 งานศิลป์กลางสวนป่าเบญจกิติ’ (มี.ค. - ก.ย. 66) เพื่อดึงดูดให้ผู้คนจากทั่วโลกเดินทางมาสัมผัสกับ “กรุงเทพฯ” มหานครที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์แห่งความหลากหลาย และกระตุ้นให้คนในประเทศตระหนักถึงความสำคัญของพื้นที่และอาคารทรงคุณค่า ที่ถูดลดบทบาทการใช้งานหรือเป็นพื้นที่ปิดในปัจจุบัน ในขณะเดียวกันยังเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้าร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสุนทรียะให้กับเมือง อันจะนำไปสู่แนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกรูปแบบ

“UNFOLDING BANGKOK” จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นของกิจกรรมสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ของประเทศไทย ดำเนินการโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กรุงเทพมหานคร และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) รวมถึงภาคีเครือข่าย นักออกแบบและชุมชนโดยรอบ ที่สะท้อนความคิดและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของกรุงเทพฯ ผ่านงานสร้างสรรค์ตั้งแต่ระดับของการจัดแสดงแสงไฟ (Lighting Installation) ดึงความงดงามของศิลปะอาคาร การจัดแสดงศิลปะจัดวาง (Art nstallation) บนพื้นที่สวนสาธารณะใจกลางเมือง ไปจนถึงกิจกรรมสร้างสรรค์หลากหลายรูปแบบ ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและเข้าร่วมได้ทุกวัย คาดว่าตลอดระยะเวลาการดำเนินกิจกรรม (พ.ย. 65 - ก.ย. 66) จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 286,713,582 บาท และมีผู้เข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 500,000 คน ส่งผลดีในแง่ของธุรกิจและการท่องเที่ยว ที่กลมกลืนไปกับบริบทอันเป็นเสน่ห์ของกรุงเทพฯ ตอกย้ำ “กรุงเทพฯ” เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ (Bangkok City of Design) ภายใต้เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network) อีกด้วย

“UNFOLDING BANGKOK”  เปิดประสบการณ์ “กรุงเทพ” ด้วยความคิดสร้างสรรค์

กรุงเทพฯ เมืองใหญ่ที่มีประชากรมากกว่า 10 ล้านคน เป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวทั้งด้านสถานที่ท่องเที่ยว ผู้คน อาหาร หรือความไม่สมบูรณ์แบบที่แฝงเสน่ห์ไม่เหมือนใคร กรุงเทพฯ จึงเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก โดยในปี พ.ศ. 2562 นิตยสารด้านธุรกิจและการเงินชื่อดังของอเมริกาอย่าง Forbes ได้จัดอันดับให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวมากกว่า 22.78 ล้านคน และทำรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 2,003 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 อโกด้า สื่อดิจิทัลด้านการท่องเที่ยวระดับโลก พบว่าจุดหมายปลายทางยอดนิยมอันดับหนึ่งของโลกในปีนี้คือ “กรุงเทพมหานคร”

การสร้างประสบการณ์ใหม่คลี่เมืองกรุงเทพฯ จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายทั้งในแง่ของการใช้พื้นที่ สินทรัพย์ทางวัฒนธรรม และต่อยอดการออกแบบเชิงความคิดสร้างสรรค์ โดยโปรแกรมแรกที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ‘Hidden Temple: ท่องวัดลับ ย่านฝั่งธนฯ’ ผ่านการใช้พื้นที่ทางศาสนสถานจำนวน 5 วัด ในเขตธนบุรี มีจุดมุ่งหมายให้ทุกคนรู้จักวัดลับในย่านฝั่งธนฯ และก่อให้เกิดการเชื่อมต่อเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชนโดยรอบ เพื่อดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศเข้ามา ได้แก่ 1. วัดอินทาราม 2. วัดจันทาราม-วัดราชคฤห์ ภายใต้แนวคิด “จาริกแสวงบุญ” 3. วัดภุมรินทร์ราชปักษี-วัดดุสิดาราม บางกอกน้อย ภายใต้แนวคิด “วัดร้างกับพื้นที่ชุมชน” 4. วัดพระยาศิริไอยสวรรค์  และ 5. วัดสวนสวรรค์ ในแนวคิด “ขอบเขตที่ถูกซ่อนไว้ในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์” ผ่านการจัดแสดงแสงไฟ (Lighting Installation) และกิจกรรมพิเศษทั้งดนตรี ศิลปะการแสดงที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน การจัดงานทั้ง 5 วัด มีผู้เข้าร่วมประมาณ 9,311 คน ส่งผลให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจระดับชุมชน 15,297,973 บาท (พ.ย. - ธ.ค. 65)

‘Living Old Building: อาคารเก่าที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ’ การนำ 4 อาคารเก่าที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์มาเล่าในรูปแบบใหม่ ให้กลายเป็นพื้นที่สันทนาการสำหรับทุกคน นอกจากนี้ยังมีประเด็นการใช้แสงจัดแสดงงาน เพื่อให้ความสว่างกับชุมชนและเมือง ทั้งในแง่ของการสร้างความปลอดภัยและเปิดโอกาสให้ ‘แสง’ ได้สร้างสุนทรียะให้กับเมืองมากยิ่งขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 4 พื้นที่ ได้แก่ 1. ประปาแม้นศรี 2. หอประติมากรรมต้นแบบ กรมศิลปากร ภายใต้เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 3. สถานีรถไฟหัวลำโพง และ 4. วังกรมพระสมมตอมรพันธ์ วังลับที่ถูกซุกซ่อนอยู่ในย่านชุมชนเก่า ซอยสำราญราษฎร์ ถนนบำรุงเมือง ทั้ง 4 พื้นที่ มีผู้เข้าร่วมประมาณ 141,074 คน ส่งผลให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ 231,784,582 บาท (ม.ค. - เม.ย. 66) 

โปรแกรมสุดท้าย ‘Greeting Benjakitti: งานศิลป์กลางสวนป่า’ การจัดแสดงงานศิลปะเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ พร้อมกระตุ้นการเรียนรู้และตระหนักถึงคุณค่าของสวนป่าเบญจกิติ ต้นแบบสวนสาธารณะเชิงนิเวศแห่งแรกของกรุงเทพฯ ผ่านผลงานศิลปะจัดวาง (Art Installation) จำนวน 5 ชิ้นงาน ที่กลายเป็นต้นแบบศิลปะจัดวางทดลอง ในการสร้างประโยชน์เชิงสถาปัตยกรรม ด้วยการเพิ่มหน้าที่ของชิ้นงานให้เป็นมากกว่าความสวยงามเชิงปัจเจก แต่ยังเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ต่าง ๆ ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างระบบนิเวศของสวนป่าแห่งนี้  นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการแสดงศิลปะ (Performing Art) และเวิร์กช็อปต่าง ๆ ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามาทำกิจกรรมร่วมกัน โดย‘Greeting Benjakitti’ ถือเป็นโปรแกรมสุดท้ายของงาน “UNFOLDING BANGKOK” ให้ได้เข้าชมตั้งแต่วันนี้ ถึงเดือนกันยายน 2566 เป็นระยะเวลา 6 เดือน คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่าวันละ 2,500 คน ส่งผลให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยประมาณ 50,000,000 บาท 

งาน “UNFOLDING BANGKOK” จึงเป็นหนึ่งในโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ให้กรุงเทพมหานคร โดยการคัดเลือกสถานที่ที่มีคุณค่าแต่ยังไม่เป็นที่รู้จัก โดยการนำความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีมาเป็นแนวทางในการสร้างระบบนิเวศเพื่อก่อให้เกิดบรรยากาศ สภาพแวดล้อมและภาพลักษณ์ใหม่ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวให้กับประเทศไทย เพื่อให้พลังของความสร้างสรรค์ เป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับขีดความสามารถด้านการพัฒนาเมือง ร่วมขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อสร้างเม็ดเงินในท้องถิ่นรวมถึงการขยายตัวด้านการลงทุน และยกระดับความเป็นอยู่ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศต่อไป