Research & Report

สำรวจปัจจัยความสำเร็จของธุรกิจงานฝีมือและหัตถกรรมไทย

การศึกษาต้นแบบ (Best Practice) ของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สาขางานฝีมือและหัตถกรรมในประเทศไทย จากการสัมภาษณ์เชิงลึกช่วยในการทำความเข้าใจแนวทางในการดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในภาพรวมของประเทศ งานวิจัยนี้มีการสัมภาษณ์และเก็บข้อมูลเชิงลึกผู้จากประกอบการที่เป็นต้นแบบที่ดีในการดำเนินธุรกิจสร้างสรรค์ เพื่อให้ทราบถึงแนวทาง และปัจจัยที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จของการพัฒนาธุรกิจสร้างสรรค์ กรณีศึกษานี้เป็นการสัมภาษณ์ ‘แม่ฑีตา’ (ผ้าฝ้ายทำมือย้อมครามธรรมชาติ) และ ‘กรกต Korakot’ (จักสานไม้ไผ่) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการสร้างสรรค์ในกลุ่มอุตสาหกรรมงานฝีมือและหัตถกรรมที่ประสบความสำเร็จในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าหัตถกรรมและสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน ตลอดจนการขยายฐานผู้บริโภคไปยังตลาดต่างประเทศ 

แนวทางการพัฒนาและความท้าทายในการดำเนินธุรกิจ 

กรณีศึกษา: แม่ฑีตา (Mae Teeta) 

‘แม่ฑีตา’ เข้าร่วมโชว์ในงาน Bangladesh Fashion Week ในปี 2562

 

เกิดจากความต้องการจะฟื้นฟูและสานต่องานย้อมครามพื้นถิ่นที่กำลังจะสูญหายไปของจังหวัดสกลนคร โดยเน้นกระบวนการผลิตในการทอและการย้อมแบบดั้งเดิมที่มีคุณภาพสูง คือ การใช้วัตถุดิบทุกอย่างจากธรรมชาติทั้งสีครามในการย้อมจากต้นครามที่เกิดจากการหมักจุลินทรีย์ด้วยการเลี้ยงดูแบบเทคนิคทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากและต้องอาศัยการฟื้นฟูองค์ความรู้ เนื่องจากในอดีตยังไม่มีการเก็บหรือศึกษาในเรื่องของภูมิปัญญา ประเพณี วัฒนธรรม หรือวิถีชีวิตของคนสมัยก่อนไว้อย่างชัดเจนหรือเป็นลายลักษณ์อักษรมากนัก ทำให้ยากต่อการ นำวัฒนธรรมมาสานต่อและเพิ่มคุณค่าในคนรุ่นใหม่ 

หลังจากความพยายามในการฟื้นฟูกระบวนการทำผ้าย้อมครามจากธรรมชาติ การสร้างแบรนด์ แม่ฑีตา ได้เล็งเห็นถึงปัญหาหลักของกลุ่มผลิตภัณฑ์จากผ้าทอมือ กล่าวคือ ปัจจุบันมีผ้าทอมืออยู่เป็นจำนวนมากในท้องตลาด (Supply) จากการส่งเสริมของภาครัฐ แต่ว่าคนทั่วไปโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เป็นกลุ่มลูกค้าสำคัญที่มีกำลังซื้อ (Demand) ยังไม่เห็นความสำคัญหรือให้คุณค่ากับผ้าทอมือมากนัก รวมถึงผลิตภัณฑ์จากผ้าทอมือส่วนใหญ่ยังยากต่อการนำไปใช้สวมใส่ในชีวิตประจำวัน เนื่องจากผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นผ้าผืนที่ยังไม่ได้ผ่านการแปรรูปเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป ประกอบกับการออกแบบหรือลวยลายที่ไม่ตรงกับรสนิยมของคนรุ่นใหม่ ดังนั้นนี้จึงเป็นช่องว่างทางการตลาดที่ ‘แม่ฑีตา’ นำมาใช้เป็นกลยุทธ์ในการพัฒนาแบรนด์ โดยยึดจากคุณค่าและคุณสมบัติที่มีของผ้าย้อมครามจากธรรมชาติ ผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบเสื้อผ้าที่ตรงกับรสนิยมของคนรุ่นใหม่ และดูเหมาะกับการใช้งานในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น เน้นความเรียบง่าย ดูเป็นสากล และทันสมัย โดยถือว่าเป็นการสร้างภาพลักษณ์และเปิดมุมมองของการทำผ้าย้อมครามขึ้นมาใหม่ 

อย่างไรก็ตามในขั้นตอนนี้ ก็มีปัญหาและอุปสรรคสำคัญ เนื่องจากผ้าย้อมครามเกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตด้วยมือของชาวบ้าน ซึ่งในช่วงแรกชาวบ้านไม่เชื่อว่าทำออกมาแล้วจะขายได้ เนื่องจากผลิตภัณฑ์มีความแปลกใหม่และยังไม่เป็นที่รู้จักหรือที่นิยมกันในท้องตลาด ประกอบกับค่านิยม มุมมอง และรสนิยมของชุมชนในพื้นที่แตกต่างกับคนในเมือง ทำให้การเริ่มต้นธุรกิจต้องอาศัยระยะเวลาในการปรับความเข้าใจระหว่างผู้ผลิต (ชุมชน) กับผู้ประกอบหรือนักออกแบบ (สร้างสรรค์) รวมถึงระยะเวลาของผลลัพธ์จากผลิตภัณฑ์ที่จะเติบโตและเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้บริโภคในท้องตลาด ทั้งนี้ในการทำธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับชุมชนที่เป็นกลไกหลักในกระบวนการผลิตนั้น จะต้องดำเนินธุรกิจที่คำถึงการยกระดับของคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน ชุมชนและสังคมในภาพรวมด้วย เนื่องจากงานฝีมือที่ดีมีคุณภาพและความน่าเชือถือ จะสามารถสะท้อนผ่านวิถึการดำรงชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในสังคมนั้นๆ อีกด้วย 

 

กรณีศึกษา: กรกต (Korakot)

ผลงาน Sculpture จาก ‘Korakot’ ที่สร้างสรรค์ขึ้นจากวัสดุอย่างไม้ไผ่

 

เกิดจากการพัฒนาต่อยอดจากทักษะที่ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยใช้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติใกล้ตัว และใช้วัตถุดิบในพื้นที่และทักษะเฉพาะทางของคนภายในชุมชนที่มีความชำนาญ กล่าวคือ เทคนิคและทักษะในสมัยเด็กจากการผูกว่าว และเทคนิคการมัด การผูกไม้ไผ่แบบจีนโบราณ ผสมผสานกับงานหัตถกรรมท้องถิ่นอย่างงานจักสาน โดยพัฒนาและต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบให้เข้ากับกระแสของโลกและความเป็นสากล ทำให้เกิดเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านแบบประยุกต์ ซึ่งกลายเป็นงานศิลปะอันละเอียดอ่อนและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว 

งานจักสานถือว่าเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาพื้นบ้านและผูกพันกับชีวิตประจำวันของคนไทยมาแต่โบราณ จากการนำมาขัดสานเป็นรูปทรงเพื่อประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวันของคนสมัยก่อน แต่มักจะถูกมองว่า เป็นสิ่งของที่ล้าสมัย ไม่ตรงกับการใช้งานในปัจจุบันที่วัสดุจากธรรมชาติส่วนใหญ่ได้ถูกแทนที่ด้วยผลิตภัณฑ์วัสดุสังเคราะห์จากอุตสาหกรรมที่มีราคาถูกและดูเข้ากับการใช้งานในยุคสมัยปัจจุบันมากกว่า อิทธิพลจากกระบวนการผลิตแบบอุตสาหกรรมทำให้ผลิตภัณฑ์ที่มีความละเอียดอ่อนในเชิงช่างฝีมือเริ่มหาดูได้ยากขึ้น ซึ่งเป็นจุดที่การนำงานจักสานมาพัฒนาและต่อยอดขึ้นมาใหม่ กลายเป็นที่จับตามองและสร้างความน่าสนใจในท้องตลาด 

อย่างไรก็ดี ในแง่ของการทำธุรกิจนั้น จำเป็นต้องอาศัยทักษะในการวางแผนซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้และซึมซับจากประสบการณ์ในการทำงานต่างๆ และนำมาเป็นบทเรียนในการพัฒนาธุรกิจให้ดียิ่งขึ้นต่อไป เช่น ในเรื่องของ การพัฒนากระบวนการผลิต เนื่องจากงานจักสานที่ผสมผสานการดีไซน์ เป็นงานที่อาศัยความชำนาญเฉพาะด้าน การเตรียมวัสดุที่แตกต่างจากงานจักสานทั่วไป รวมถึงการบริหารจัดการเวลา เพื่อให้สามารถผลิตชิ้นงานได้ทันตามคำสั่งซื้อต่างๆ จนกลายเป็นการพัฒนาชุมชนช่างฝีมือขึ้น โดยคุณกรกต (ผู้ก่อตั้งแบรนด์กรกต) มุ่งเน้นการทำงานร่วมกันภายในท้องถิ่น และเผยแพร่องค์ความรู้ในการทำงาน เกิดจากการถ่ายทอดของคุณกรกตไปยังชาวบ้านโดยตรง และทำการฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ ประกอบการกับใช้ระบบหัตถอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการแบ่งงานตามความชำนาญของชาวบ้านในพื้นที่เช่น ผู้หญิงจะถนัดงานผูกและมัดที่เป็นงานละเอียดอ่อน ส่วนผู้ชายจะเป็นงานที่ใช้แรงงานในการตัดไม้ไผ่ การติดตั้งชิ้นงาน ซึ่งการทำเช่นนี้จะช่วยให้เกิดกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ คุณภาพดีมีความประณีตในปริมาณที่มากขึ้น ทั้งยังเป็นการสร้างงานให้กับชุมชนในพื้นที่ ทำให้สังคมพื้นบ้านเข้มแข็งขึ้น ลดปัญหามั่วสุม ยาเสพติดต่างๆ ลงอีกด้วย

ปัจจัยความสำเร็จของการพัฒนาธุรกิจสร้างสรรค์ ในสาขางานฝีมือและหัตถกรรมของประเทศไทย

จากสัมภาษณ์ผู้ประกอบการและการศึกษาถึงแนวทางการพัฒนา ปัญหาและความท้าทายในการดำเนินธุรกิจสร้างสรรค์ของแบรนด์แม่ฑีตา (ผ้าย้อมครามธรรมชาติ) และแบรนด์กรกต (จักสานไม้ไผ่) ในข้างต้น สามารถวิเคราะห์และสรุปปัจจัยแห่งความสำเร็จของการพัฒนาธุรกิจ โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ ปัจจัยภายใน คือ การเริ่มต้นจากการพัฒนาธุรกิจด้วยแนวคิดสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการ และปัจจัยภายนอก คือ การส่งเสริมและสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

• ปัจจัยภายในที่เกิดจากตัวผู้ประกอบการในการพัฒนาธุรกิจด้วยแนวคิดสร้างสรรค์ ประกอบไปด้วยแนวทางในการพัฒนาหลัก 3 ด้าน ได้แก่

1) เริ่มต้นสร้างและพัฒนาธุรกิจจากต้นทุนเดิมหรือความสนใจของตัวผู้ประกอบการ

เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายในแง่ของทุนทางวัฒนธรรมและสังคมที่มีเอกลักษณ์และจุดเด่นที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเป็นจุดที่ผู้ประกอบการสร้างสรรค์สามารถหยิบยก สิ่งเหล่านี้ขึ้นมาต่อยอดและบริหารจัดการเพื่อสร้างมูลค่าและคุณค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์และบริการ จากความคิดสร้างสรรค์ได้ ซึ่งจากกรณีศึกษาทั้ง 2 กรณีในข้างต้น จะเห็นได้ว่า ทั้งแบรนด์แม่ฑีตาและกรกตได้เริ่มต้นจากการนำสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนหรือสังคม (Cultural assets) ที่เป็นภูมิปัญญาแต่เดิมและเป็นสิ่งที่ผูกพันกับวิถีชีวิตการดำเนินชีวิต มาพัฒนาและต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์ และจากการสัมภาษณ์ทำให้เห็นถึงจุดแข็งและประโยชน์ของการนำต้นทุนทางวัฒนธรรมหรือความชอบเดิมที่มีอยู่มาเป็นจุดตั้งต้นของการพัฒนาธุรกิจ ซึ่งนอกจากจะสามารถสร้างจุดแข็งให้แก่ผลิตภัณฑ์ ยังสามารถเล่าเรื่องราว (Story telling) ที่เป็นการสื่อสารถึงคุณค่าของผลิตภัณฑ์และที่มาให้ผู้บริโภคเข้าใจได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง มีคุณภาพ และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกภาคส่วนของสังคมอีกด้วย

2) กำหนดกลุ่มเป้าหมายและทิศทางการพัฒนาของธุรกิจที่ชัดเจน (Brand Positioning)

ประเด็นหนึ่งที่สำคัญที่พบหลังจากการสัมภาษณ์ คือ การที่ธุรกิจจะประสบความสำเร็จและเป็นที่ต้องการของคนในท้องตลาดได้นั้น การกำหนดกลุ่มผู้บริโภค ถือว่าเป็นขั้นตอนที่ขาดไม่ได้ การกำหนดว่า ผลิตภัณฑ์ที่จะพัฒนาขึ้นมาจะถูกใช้ในผู้บริโภคกลุ่มไหน และกลุ่มเป้าหมายเหล่านั้นจะได้รับประโยชน์อย่างไรจากผลิตภัณฑ์ รวมถึงการพิจารณาจากผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่ในท้องตลาด จะส่งผลไปถึงการออกแบบทั้งในด้านการออกแบบ (Design) การใช้งาน (Function) ที่สามารถตอบสนองต่อรสนิยมและความต้องการของผู้บริโภคในกลุ่มนั้นๆ เพื่อให้สินค้าของเข้าสู่กลุ่มเป้าหมายได้ถูกต้องและสามารถแข่งขันกับสินค้าอื่นๆ ได้ และสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับการใช้งานของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันมากยิ่งขึ้น 

ทั้งนี้ในแง่ของการกำหนดตำแหน่งทางการตลาด (Brand Positioning) ยังควรพิจารณาถึง การแข่งขันของกลุ่มผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่ในท้องตลาด เพื่อสร้างให้ผลิตภัณฑ์ของเรามีความแตกต่างและ ไม่มีคู่แข่งทางการตลาด (Differentiation) ซึ่งถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ชัดเจน และเป็นที่จดจำได้ดีของ กลุ่มผู้บริโภค เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความแปลกใหม่และยังไม่เหมือนใครอีกด้วย เช่น เสื้อผ้าย้อมครามของแม่ฑีตา เป็นการนำผ้าทอมือแบบดั้งเดิม มาพัฒนาเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปสำหรับคนรุ่นใหม่ โดยการผสมผสานกับการดีไซน์ที่ทันสมัยและเหมาะสมกับการสวมใส่ในชีวิตประจำวัน กล่างคือการเพิ่มคุณค่าของผ้าย้อมครามให้มี “Function” ที่ตอบโจทย์ของคนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ยังเป็นการสร้างมุมมองและของการใช้งาน ผ้าย้อมครามในมิติใหม่ ซึ่งกลายเป็นการเปิดตลาดสำหรับผ้าย้อมครามจะธรรมชาติ ให้โดดเด่นขึ้นมาใน กลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่อีกด้วย 

เช่นเดียวกันการพัฒนางานจักสานไม้ไผ่ของคุณกรกต ที่ต่อยอดจากภูมิปัญญาและทักษะฝีมือแบบดั้งเดิม นำมาผสมผสานกับการออกแบบงานศิลปะ เกิดเป็นคุณค่าในแง่ของความสวยงาม (Aesthetic) ที่เกิดจากงานจักสาน และดูมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น ทำให้งานจักสานที่ดูเป็นของใช้โบราณสามารถกลายมาเป็นของประดับตกแต่งที่มีมูลค่าสูงในปัจจุบัน เป็นต้น 

3) สร้างระบบและกลไกในการดำเนินธุรกิจ 

ในแง่ของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับงานฝีมือและหัตถกรรม กลไกในการดำเนินธุรกิจหลัก จะเป็นผู้ประกอบการเอง อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาธรรมชาติของผู้ประกอบการรายเดี่ยวหรือผู้ประกอบการขนาดย่อยในประเทศไทย มักจะเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญหรือชำนาญในด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้ชำนาญใน ทุกด้านหรือทุกๆ แง่มุมสำคัญของการขับเคลื่อนธุรกิจ ซึ่งจะเห็นได้ชัดในผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจสร้างสรรค์ เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะมีลักษณะของการเป็นนักออกแบบ ทำให้ยังมีจุดอ่อนในแง่ของการบริหารจัดการธุรกิจอยู่มาก ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ยังเป็นกระบวนการผลิตที่ต้องมาจากการฝึกษะทักษะฝีมือของคน ทำให้การดำเนินงานและการควบคุมคุณภาพของสินค้าและปริมาณเป็นเรื่องยากของธุรกิจประเภทนี้ ซึ่งทั้งแบรนด์แม่ฑีตาและกรกตก็ต่างประสบปัญหาเหล่านี้เช่นกัน 

อย่างไรก็ตาม สำหรับการแก้ปัญหานั้น พบว่า ในการทำงานที่ต้องอาศัยความร่วมมือกับชุมชนที่เป็นฐานการผลิตหลักนั้น การนำระบบหัตถอุตสาหกรรม หรือการแบ่งงานตามความเชี่ยวชาญและความสามารถของแต่ละคนจึงเป็นสิ่งจำเป็น ต่อการพัฒนาธุรกิจ รวมถึงการฝึกฝนและพัฒนาฝีมือให้แก่ช่างรุ่นใหม่ๆ เพื่อต่อยอดความรู้และสนับสนุนให้เกิดการกระจายตัวของความคิดสร้างสรรค์ เช่นในกรณีของคุณกรกต ที่สามารถพัฒนาบุคลากรที่มีฝีมือในการออกแบบลวดลาย แต่ยังคงรักษาเอกลักษณ์และลักษณะเฉพาะของแบรนด์ไว้ได้ และระบบการผลิตของแม่ฑีตา ที่นำการความรู้ทางด้านงานออกแบบและการขึ้นรูปแบบ (Pattern) เข้ามาร่วมในกระบวนการผลิต ทำให้แม่ฑีตา สามารถผลิตสินค้าได้ทันต่อความต้องการในท้องตลาด รวมถึงการสร้างและรักษาระดับของคุณภาพที่ดีเป็นที่ยอมรับในการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั้งนี้ จากการสัมภาษณ์ในขั้นตอนของกระบวนการผลิต การใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยี ยังถือเป็นปัจจัยหนึ่งในการยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงาน ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในวงกว้างอีกด้วย 

• ปัจจัยภายนอกจากการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการพัฒนาธุรกิจจากภาครัฐ 

อย่างไรก็ตาม จากปัจจัยภายในของผู้ประกอบการในการสร้างและพัฒนาธุรกิจสร้างสรรค์ พบว่า ปัจจัยภายนอกจากการสนับสนุนและส่งเสริมจากภาครัฐ ยังถือว่าเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่สามารถส่งผลกระทบถึงความประสบความสำเร็จในการพัฒนาธุรกิจสร้างสรรค์ กล่าวคือ การส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐผ่านแผนปฏิบัติการหรือโครงการต่างๆ จะเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาและประกอบธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการช่วยเหลือและส่งเสริมของภาครัฐที่สำคัญ คือ การโปรโมทสินค้าของผู้ประกอบการ ผ่านการจัดงานแสดงสินค้าต่างๆ ซึ่งถือเป็นการเปิดช่องทางด้านการตลาดและสร้างโอกาสในการเข้าถึงสินค้าแก่ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น โดยงานแสดงสินค้าที่สำคัญของผู้ประกอบการสร้างสรรค์ในกลุ่มผลิตภัณฑ์จากงานฝีมือ คือ งาน IICF หรืองาน Craft Bangkok ซึ่งเป็นงานที่มีวัตถุประสงค์ในการแสดงสินค้าไลฟ์สไตล์ที่มีส่วนผสมของการออกแบบ หรือการนำงานช่างฝีมือแบบดั้งเดิมมาประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์ที่เข้ากับยุคสมัย ซึ่งค่อนข้างตรงกับผลิตภัณฑ์จากงานฝีมือในกลุ่มธุรกิจสร้างสรรค์ และงานอื่นๆ ที่จัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ซึ่งจะเป็นงานที่เปิดโอกาสให้ผู้ซื้อชาวต่างชาติ เข้ามาสำรวจและเลือกสินค้าจากประเทศไทยไปขายในต่างประเทศ โดยผลิตภัณฑ์จากงานฝีมือของประเทศไทยยังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในตลาดต่างประเทศ ดังนั้นการส่งเสริมและโปรโมทจากภาครัฐในส่วนนี้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ประกอบการที่มีความพร้อมและต้องการจะต่อยอดใน การส่งออกและดำเนินธุรกิจในระดับประเทศต่อไป 

นอกจากนี้ การสร้างมาตรฐานหรือการจัดประกวดต่างๆ ยังเป็นการส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิด การพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น การประกวด Design Excellence Award (DEmark) ยังเป็นการสร้างบรรทัดฐานสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มาจากความคิดสร้างสรรค์ที่เน้นความสำคัญกับคุณภาพการผลิต การใช้งาน และแนวความคิดของการออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยสินค้าที่ได้รับรางวัลจะได้รับตราสัญลักษณ์ DEmark ที่ได้การยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศว่าเป็นตราที่แสดงถึงสินค้าที่มีการออกแบบดีเด่นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาดในการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสินค้า โดยสินค้าที่ได้รับรางวัลจะได้รับการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อและงานต่างๆ ให้เป็นที่รู้จักทั่วกัน เป็นต้น 

 

ที่มาภาพ: maeteeta.netkorakot.net

ที่มา: กรณีศึกษาต้นแบบที่ดีของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สาขางานฝีมือและหัตถกรรมในประเทศไทยจากการสัมภาษณ์เชิงลึก โดย บริษัทเอฟฟินิตี้ จำกัด จาก รายงานแผนพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์รายสาขา: งานฝีมือและหัตถกรรม, 2562