News Update

10.02.2566

“Bangkok Creative City Dialogue” 8 ประเทศ 10 เมือง รวมพลังสร้างสรรค์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก

ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ในฐานะผู้แทนกรุงเทพฯ เมืองสร้างสรรค์ ยูเนสโก สาขาการออกแบบ (UCCN - Bangkok City of Design) ร่วมกับกรุงเทพมหานคร (Bangkok Metropolitan Administration: BMA) จัดการประชุมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก หรือ Bangkok Creative City Dialogue ภายใต้หัวข้อ “Becoming and Creating Impact as a Creative City” โดยมีสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์เข้าร่วมจำนวน 10 เมือง จาก 8 ประเทศในยุโรปและเอเชีย ได้แก่ 1) อซาฮิกาวา ประเทศญี่ปุ่น สาขาการออกแบบ 2) บันดุง ประเทศอินโดนีเซีย สาขาการออกแบบ 3) กรุงเทพฯ ประเทศไทย สาขาการออกแบบ 4) กูชิง ประเทศมาเลเซีย สาขาอาหาร 5) นาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น สาขาการออกแบบ 6) เพิร์ธ สหราชอาณาจักร สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน 7) เพชรบุรี ประเทศไทย สาขาอาหาร 8) โซล ประเทศเกาหลีใต้ สาขาการออกแบบ 9) สิงคโปร์ ประเทศสิงคโปร์ สาขาการออกแบบ และ 10) อู่ฮั่น ประเทศจีน สาขาการออกแบบ เพื่อร่วมกันนำเสนอทิศทางการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ในแต่ละประเทศ และแลกเปลี่ยนมุมมองรวมถึงวัฒนธรรม ที่จะส่งผลต่อการแลกเปลี่ยนการยกระดับเศรษฐกิจระหว่างประเทศในอนาคต 


เปิดแนวทางการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์จาก 10 เมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก (UCCN)

CEA ในฐานะพลังขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ ประเทศไทย

ดร. ชาคริต พิชญางกูร ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวเปิดงานโดยพูดถึงภาพรวมพันธกิจของ CEA ในฐานะพลังหลักที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ ซึ่งเป็น “Creative Workforce” ที่สร้างผลกระทบเชิงบวกทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ทั้งนี้ ดร. ชาคริตมองว่าการจะบรรลุพันธกิจดังกล่าว จำเป็นต้องผสานลักษณะที่จำเป็นทั้งหมด 3 ด้านเข้าด้วยกัน คือนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมรายได้ การอำนวยความสะดวกทั้งทางด้านทรัพยากรและพื้นที่ให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และการเชื่อมโยงความคิดสร้างสรรค์เข้ากับธุรกิจ ทั้งหมดนี้จะเป็นแรงดึงดูดให้ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น สามารถผลักดันผลผลิตสู่ระดับนานาชาติ และนำไปสู่การพัฒนาทางนวัตกรรมอย่างยั่งยืนที่กำลังเป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญอยู่ในขณะนี้

1. อซาฮิกาวา ประเทศญี่ปุ่น สาขาการออกแบบ
Asahikawa City of Design สร้างสรรค์ความสุขของผู้คนด้วย “Forest of Design”

Ryoju Hamada ตัวแทนคนแรกจากเมืองอซาฮิกาวา นำเสนอแนวคิดภายใต้หัวข้อเรื่อง “Diverse Ways to Realize Design City: The Challenge from Northern Hokkaido” โดยกล่าวว่าเมืองอซาฮิกาวาได้รับการคัดเลือกให้เป็นเมืองแห่งการออกแบบ หรือ UCCN - Asahikawa City of Design ในปี 2019 และใช้การออกแบบผลักดันการพัฒนาเมืองในด้านต่าง ๆ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Forest of Design” โดยคอนเซ็ปต์นี้ได้รับการคิดค้นขึ้นด้วยความเชื่อว่าการออกแบบสามารถเป็นศูนย์กลางการพัฒนาด้านต่าง ๆ ของเมือง เปรียบเสมือนต้นไม้ใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางและทำให้ต้นไม้โดยรอบเจริญงอกงาม โดยเริ่มที่โครงการแรกคือ ต้นไม้แห่งประวัติศาสตร์ (History Tree) ที่แสดงให้เห็นจิตวิญญาณแห่งการบุกเบิก และพลวัตของเมืองที่เปลี่ยนแปลงมาหลายรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม คุณ Hamada กล่าวว่า โลกมีแนวโน้มที่จะมองเรื่องของ Carbon Neutral City และ Smart City รวมถึง City Transformation มากขึ้น เมืองอซาฮิกาวาจึงนำประเด็นเหล่านี้มาผนวกกับการพัฒนาเมืองด้านต่าง ๆ ด้วย นอกจากนี้มีการต่อยอดไปสู่แนวคิดต้นไม้แห่งภูมิภาค (Region Tree) ที่ดำเนินการร่วมกับเมืองข้างเคียงและรวมตัวเป็นภูมิภาคอซาฮิกาวา รวมทั้งแนวคิดเกี่ยวกับต้นไม้แห่งการศึกษา (Education Tree) ที่ออกแบบให้ประชาชนทุกคนในเมืองสามารถใช้พื้นที่เป็นวิทยาเขตการเรียนรู้ และต่อยอดสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าประสงค์ของสหประชาชาติได้ต่อไป

2. บันดุง ประเทศอินโดนีเซีย สาขาการออกแบบ
Bandung City of Design เมืองที่ส่งผ่านความคิดสร้างสรรค์ของผู้คนสู่ชุมชน

Dwinita Larasati ตัวแทนจาก Bandung City of Design ประเทศอินโดนีเซีย นำเสนอแนวคิดเมืองสร้างสรรค์ผ่านหัวข้อเรื่อง “From Bottom Up Initiatives to Committee Resilience” โดยกล่าวว่าบันดุงเลือกโครงสร้างการทำงานแบบล่างขึ้นบน จากประชาชนสู่ระดับนโยบาย และกำหนดดัชนีชี้วัดการพัฒนาของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า “Indonesia Creative City Index Dashboard” โดยเน้นการจัดกิจกรรมที่เปิดพื้นที่ให้ผู้คนในชุมชนได้แสดงผลงาน และมีส่วนขับเคลื่อนกิจกรรมในชุมชน เช่น Bandung Design Biennale 2017

หลังจากนั้นในปี 2021 มีการกำหนดแนวทางขับเคลื่อนที่ใช้ชื่อว่า “10 Principles 11 Ways” ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการผลักดันกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การนำความคิดสร้างสรรค์สู่ชุมชนผ่านสถาปัตยกรรม ภายใต้โครงการ “Development of Community – Driven Organic Placemaking” โดยให้นักออกแบบมากฝีมือจากหลายบริษัทเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบตึกเก่าในชุมชน และยังมีโครงการพัฒนาบุคลากรสร้างสรรค์โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นแผนระยะยาวต่อเนื่อง 10 ปี (ปี 2020 - 2030) และในปี 2023 จะจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมเมืองสร้างสรรค์บันดุง ได้แก่ The Future of Creative Economy และ Bandung Design Biennale 2023 เพื่อต่อยอดการพัฒนาด้านต่าง ๆ ต่อไป

3. กรุงเทพฯ ประเทศไทย สาขาการออกแบบ
Bangkok City of Design สร้างกรุงเทพฯ ให้ “น่าอยู่” “น่าลงทุน” และ “น่าท่องเที่ยว”

พิชิต วีรังคบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นำเสนอการใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อก้าวข้าม “ความท้าทาย” ของกรุงเทพฯ ผ่านหัวข้อเรื่อง “Transforming Bangkok with Design and Creativity” กล่าวว่า ความคิดสร้างสรรค์จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองที่น่าอยู่ น่าลงทุน และน่าท่องเที่ยวไปพร้อมกัน แต่การจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ต้องเผชิญกับความท้าทายหรืออุปสรรคหลายด้าน เช่น ลักษณะของกรุงเทพฯ ที่เป็น Megacity ทำให้มีการหลั่งไหลของประชากรเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ปัญหาเรื่องความยากจน การจราจร สิ่งแวดล้อมและมลภาวะ ฯลฯ แม้จะมีความท้าทายดังกล่าว แต่กรุงเทพฯ มีความได้เปรียบในหลายด้านเช่นเดียวกัน จากความหลากหลายทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ บุคลากรสร้างสรรค์ที่อาศัยอยู่ในเมืองอย่างหนาแน่น สถานที่ที่เป็น Design Hub เช่น ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ TCDC และศูนย์การออกแบบที่อยู่ภายในมหาวิทยาลัยกว่า 20 แห่งทั่วกรุงเทพฯ

นอกจากนี้ กรุงเทพฯ ยังได้มีการส่งเสริมให้ใช้การออกแบบเพื่อแก้ปัญหา และยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนในด้านต่าง ๆ ครอบคลุมทั้ง 4 มิติ ได้แก่ 1. ด้านการออกแบบเมือง โดยมุ่งเน้นพื้นที่สีเขียว และการใช้สอยพื้นที่ต่าง ๆ ของเมืองให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 2. ด้านสังคม มีการทดลองใช้ Traffy Fondue ของ สวทช. โดยประชาชนสามารถถ่ายรูปและแจ้งปัญหาเพื่อให้ได้รับการแก้ไขได้ทันท่วงที 3. ด้านการออกแบบเศรษฐกิจและความมั่งคั่ง มีการใช้ความสามารถของนักออกแบบเพื่อสร้างความยั่งยืนของธุรกิจ โดย CEA ได้ร่วมกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อดำเนินการต่อยอดธุรกิจในหลายแขนง 4. ด้านการคมนาคมที่อยู่ภายใต้นโยบาย Green City อย่างการพัฒนาเรือไฟฟ้า ที่ช่วยลดมลพิษทางน้ำ นอกจากนี้ยังมีการจัดทำ Creative City Index เพื่อจัดเก็บข้อมูลการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์และปัจจัยที่ทำให้เกิดเมืองสร้างสรรค์ของแต่ละพื้นที่ ซึ่งการสะสมข้อมูลเริ่มต้นจาก 5 เมืองหลัก จนถึงวันนี้ได้นำ Lessons Learned จากการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ขยายไปสู่กว่า 33 เมือง ผ่านเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย (Thailand Creative District Network: TCDN)

4. กูชิง ประเทศมาเลเซีย สาขาอาหาร
Kuching City of Gastronomy เมื่ออาหารโลกต้องผ่านความเปลี่ยนแปลง

Karen Shepherd ตัวแทนจากเมืองกูชิง กล่าวว่า เมืองกูชิงได้กลายเป็นเมืองแบบอย่างเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร เนื่องจากมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและมีส่วนผสมที่เป็นเอกลักษณ์ อีกทั้งวิถีชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการเกษตรด้านอาหาร เช่น เกษตรกรนิยมปลูกพริกไทยในหลายพื้นที่ เมืองกูชิงจึงต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมทางด้านอาหาร ซึ่งทำให้ผู้คนได้รับประโยชน์ในหลายภาคส่วน แต่ความท้าทายคือการผลักดันและปรับเปลี่ยนกระบวนการในอุตสาหกรรมให้มีความทันสมัย แต่ยังคงเอกลักษณ์และเป็นรสชาติดั้งเดิม และยังมีนโยบายอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมแบบดั้งเดิมที่สามารถถ่ายทอดสู่คนรุ่นใหม่ นอกจากนี้เมืองกูชิงยังมองหาการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเชื่อมโยงกับภาคีต่าง ๆ ในระดับนานาชาติ เพื่อตอบโจทย์การเสริมสร้างความแข็งแรงของชุมชน และเพื่อให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม ในปีที่ผ่านมาได้มีการจัดการรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก และยังมีการมอบหมายให้สถาปนิกในชุมชนศึกษาต้นแบบในประเทศต่าง ๆ รวมถึงในกรุงเทพฯ ด้วย

5. นาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น สาขาการออกแบบ
Nagoya City of Design การออกแบบที่ “สร้าง” “เสริม” และ “ส่งต่อ”

Eriko Esaka กล่าวถึงการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมผ่านหัวข้อ “Streaming Heritage | Between the Plateaus and the Sea” กล่าวว่านาโกย่าเป็นเมืองสร้างสรรค์ สาขาการออกแบบ ในปี 2008 ด้วยวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ ได้แก่ การบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ การส่งเสริมสิ่งแวดล้อม และการสร้างเครือข่ายทางวัฒนธรรมร่วมกับ UCCN นาโกย่าเล็งเห็นความสำคัญของปัจจัยสามอย่างที่ต้องผนึกรวมกันเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือการสร้างชุมชน การสร้างผลิตภัณฑ์ และการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพจากทรัพยากรบุคลากรสร้างสรรค์ สำหรับเมืองนาโกย่า การออกแบบคือการนำภูมิปัญญามนุษย์มาผนวกกับเทคโนโลยี เพื่อสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน หลังเป็นสมาชิก UCCN ในปี 2008 นาโกย่ามีความตั้งใจที่จะฟูมฟักศิลปินรุ่นใหม่พร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นแนวคิดโครงการ Streaming Heritage โดยนำเสนอศิลปวัฒนธรรม การผสมผสานประวัติศาสตร์เข้ากับความร่วมสมัยในรูปแบบของศิลปะการจัดวาง อีกทั้งมีการจัดการประชุมเกี่ยวกับ Media Art และกิจกรรมสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของเมืองด้วย

6. เพิร์ธ สหราชอาณาจักร สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน
Perth City of Crafts and Folk Art ความพื้นบ้านในสเกลระดับโลก

Anna Day ผู้แทนของเมืองเพิร์ธ สกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร กล่าวว่าเมืองเพิร์ธขึ้นทะเบียนเป็นเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (UCCN - Perth City of Crafts and Folk Art) ในปี 2021 หัตถกรรมของเพิร์ธไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะหัตถกรรมพื้นบ้านหรือการเย็บปักถักร้อยเท่านั้น แต่หมายรวมถึงผลงานทำมือรูปแบบต่าง ๆ ครอบคลุมงานศิลปะไปจนถึงเครื่องดื่มพื้นบ้าน เมืองจึงมีจุดเด่นทางวัฒนธรรมและสอดรับกับการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น โครงการ Reimagine the High Street ที่มีเป้าหมายในการพลิกพื้นถนนสายการค้าให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง หรือการใช้ศิลปะเพื่อการตกแต่ง อย่างการออกแบบป้ายอักษรไฟ ที่นอกจากจะสวยงามแล้ว ยังมีประโยชน์ในการส่องสว่าง เพิ่มความปลอดภัยให้กับพื้นที่ และกระตุ้นการท่องเที่ยว นอกจากนี้ รัฐบาลของสกอตแลนด์ยังร่วมกับหน่วยงานด้านการท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลที่เรียกว่า Scotland’s UNESCO Trail ที่ระบุตำแหน่งสถานที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยยูเนสโก พร้อมถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมา วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของสถานที่นั้น ๆ เพื่อเผยแพร่ให้ทุกคนได้ใช้งานในอนาคต 

7. เพชรบุรี ประเทศไทย สาขาอาหาร
Phetchaburi City of Gastronomy ความภูมิใจที่มากกว่ารสชาติ

วันเพ็ญ มังศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี กล่าวถึงแนวคิดภายใต้หัวข้อ “Phetchaburi Creative City of Gastronomy - Knowledge Exchange on Becoming and Creating Impact as a Creative City” จังหวัดเพชรบุรีเป็นสมาชิก UCCN หรือขึ้นทะเบียนเป็นเมืองสร้างสรรค์ สาขาอาหาร (UCCN - Phetchaburi City of Gastronomy) ในปี 2564 ทำให้เมืองต้องเตรียมพร้อมในหลาย ๆ ด้าน ทั้งการบรรจุแผนขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์เข้าไปในแผนยุทธศาสตร์จังหวัด การสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ทำงานสอดรับกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ การผสานอาหารเข้ากับวัฒนธรรมด้านอื่น ๆ ด้วยการออกแบบเพื่อส่งเสริมซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ยังทำให้ผู้คนในจังหวัดเกิดความสนใจเกี่ยวกับเมืองสร้างสรรค์และภูมิใจในสินทรัพย์ของจังหวัดมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้คนรุ่นใหม่กลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง ส่งผลให้มีการสร้างกิจกรรมหมุนเวียนอยู่ตลอด เช่น งานพระนครคีรีที่เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้ศิลปินต่าง ๆ มาจัดแสดงและนำอาหารต่าง ๆ มาจำหน่าย โดยมีรายได้เติบโตขึ้นมากกว่าปี 2563 ถึง 174% ในปี 2565 อย่างไรก็ดี สิ่งที่ท้าทายจังหวัดเพชรบุรี คือการทำให้ทั้ง 8 อำเภอสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเองในเรื่องของอาหาร และมีจุดมุ่งหมายให้ทั่วโลกรู้จักเพชรบุรีในฐานะเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร

8. โซล ประเทศเกาหลีใต้ สาขาการออกแบบ
Seoul City of Design การออกแบบที่สร้างความเป็นไปได้ไม่สิ้นสุด

Ayoung UM ในฐานะตัวแทนและผู้นำทีมจาก Seoul Design Foundation กล่าวว่าโซลได้ขึ้นทะเบียนเป็นเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก สาขาการออกแบบ ในปี 2010 ด้วยปณิธานที่จะใช้การออกแบบในการทำให้ชีวิตของชาวโซลดีขึ้น ผลงานที่เด่นชัด เช่น ทงแดมุนพลาซ่า (Dongdaemun Design Plaza) หรือ Seoul Upcycling Plaza และ Seoul Incubating Design Center ผ่านโจทย์ที่ท้าทาย เพื่อทำให้พื้นที่เหล่านี้ไม่ถูกปิดและฟื้นคืนความมีชีวิตชีวาให้กลับคืนมา โดยใช้นวัตกรรมดิจิทัลเข้ามาช่วย และกิจกรรมที่โดดเด่นคืองานแสดง Seoul Light Show ซึ่งมีผู้เข้าชมมากกว่าหนึ่งล้านคน ในปี 2019 จนทำให้งานเทศกาลนี้กลายเป็นงานที่จัดขึ้นทุกปีผ่านธีมเล่าเรื่องที่น่าสนใจและแตกต่างกันออกไป

นอกจากนี้ยังมีการตั้งเป้า หลักการ 5 ประการของ Seoul Design ได้แก่ 1. การสร้างการออกแบบด้วยความเห็นอกเห็นใจ (Empathetic Design) 2. การออกแบบเพื่อทุกคน (Inclusive Design) 3. การออกแบบเพื่อการส่งเสริม (Contributive Design) 4. การออกแบบเพื่อการปรับตัว (Resilient Design) และ 5. การออกแบบอย่างยั่งยืน (Sustainable Design) กล่าวคือเป็นการออกแบบที่เข้าใจทุกคน สำหรับทุกคน ตอบแทนสังคม แบบยั่งยืนและยืดหยุ่น ตัวอย่างโครงการที่สอดคล้องกับหลักการทั้ง 5 ประการนี้ คือการจัดประกวดไอเดียด้านความยั่งยืน Seoul Design Award for Sustainable Life 

9. สิงคโปร์ ประเทศสิงคโปร์ สาขาการออกแบบ
 Singapore City of Design ส่งต่อความรักผ่านการออกแบบ

Kelly Tan ตัวแทนจากสิงคโปร์ กล่าวถึงแนวคิดในหัวข้อ “Loveable Singapore Project” โดยมองว่าพลเมืองที่มีความสุข (Happy Citizen) คือพลเมืองที่ปรับตัวได้ดีและอยู่ในเมืองที่ปรับตัวได้ดีเช่นกัน ผ่าน 6 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ 1. องค์รวมหรือการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 2. การสร้างความเชื่อมโยงกับความสร้างสรรค์ 3. การดึงดูดทำให้คนรู้สึกตื่นเต้น มีความคุ้นเคยกับเมือง 4. ความผูกพัน 5. การสร้างความเปลี่ยนแปลง และ 6. การมีอิสระในการสร้างตัวตน 

นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังมีแนวคิดที่จะส่งต่อความรักให้เมืองผ่าน 4 ปัจจัย คือ 1. การยินดีต่อความรักที่ได้รับ (Appreciating Love) 2. การส่งต่อความรัก (Giving Love) 3. การรังสรรค์ความรัก (Creating Love) และ 4. ความรักแบบไม่คาดหวัง (Unexpected Love) คือการสร้างบรรยากาศแห่งความสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่ที่ได้รับการออกแบบในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ผู้คนทุกวัยได้ใช้พื้นที่ร่วมกัน ในอนาคตสิงคโปร์มุ่งเน้นการกระตุ้นให้เมืองเกิดความสร้างสรรค์ ผ่านโครงการ School of Community Bootcamp ที่เป็นการร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ นักออกแบบ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ให้เข้าร่วมเสนอแนวคิดในการแก้ปัญหาหรือส่งเสริมความสร้างสรรค์ในด้านใดด้านหนึ่ง ทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้หน่วยงานนั้น ๆ ได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงมากยิ่งขึ้น

10. อู่ฮั่น ประเทศจีน สาขาการออกแบบ 
Wuhan City of Design ฟื้นคืนอารยธรรมด้วยการออกแบบ

Ivy Yao กล่าวถึงอู่ฮั่นผ่านแนวคิดในหัวข้อ “Urban Renewal: Old City, New Life” หรือการพลิกฟื้นเมืองให้กลับมามีชีวิตชีวา อู่ฮั่นได้รับการคัดเลือกเป็นเมืองสร้างสรรค์ สาขาการออกแบบ (UCCN - Wuhan City of Design) ในปี 2017 ด้วยแนวคิด Old City, New Life มีเป้าหมายในการเปลี่ยนเมืองด้วยความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบโดยมีพลเมืองเป็นศูนย์กลาง ในช่วงแรกอาศัยการออกแบบด้านวิศวกรรมเป็นตัวนำทาง ซึ่งรัฐบาลได้ออกนโยบายกระตุ้นแรงจูงใจต่าง ๆ เพื่อดึงให้บุคคลทั่วไปนำเสนอโครงการและมีส่วนร่วมมากขึ้น มีการจัดอบรมให้กับนักออกแบบรุ่นใหม่กว่า 5,000 คนในแต่ละปี จากนั้นเริ่มจากการใช้แนวคิดที่เน้นการสื่อสารให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม โดยการดึงคนในแวดวงดีไซน์กว่า 60,000 คน เข้ามาสร้างแรงจูงใจ
ทางการเงิน โดยให้ประชาชนเสนอโครงการ เช่น การออกแบบอาคารสิ่งก่อสร้างให้ผู้คนเข้าถึงได้ หรือ User Friendly Design ทำให้ดีไซเนอร์ใหม่ ๆ นำไปประยุกต์ใช้ได้ เป็นการช่วยสร้างนวัตกรรมต่อไป

นอกจากนี้ยังได้จัด Wuhan Design Contest กิจกรรมรวบรวมประวัติศาสตร์และศิลปะเข้าด้วยกัน มีการจัดงานร่วมกับเมืองในเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ มีการจัดเวิร์กช็อปและการจัดอบรมต่าง ๆ โดยจะทำให้เมืองอู่ฮั่นมีความล้ำหน้ามากขึ้น ในอนาคตจะยังคงดำเนินโครงการที่เคยทำไว้อย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ให้ดีขึ้นต่อไป

Posted in news on ก.พ. 10, 2023