News Update

15.07.2565

พระราชกรณียกิจ รัชกาลที่ 10

เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ขอนำเสนอพระราชกรณียกิจที่โดดเด่นและขอน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ขอพระองค์ทรงพระเจริญ 

พระราชกรณียกิจของในหลวง รัชกาลที่ 10 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอุทิศพระวรกายในการประกอบพระราชกรณียกิจมากมายมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์จนถึงปัจจุบัน เพื่อแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทั้งยังพระราชทานความช่วยเหลือเพื่อทำนุบำรุงสุขให้แก่พสกนิกรชาวไทยทั่วประเทศเสมอมา 

ด้านการบินและการทหาร 

ปี พ.ศ. 2522 พระองค์ทรงเริ่มฝึกบินเฮลิคอปเตอร์แบบ UH-1H และเฮลิคอปเตอร์แบบ UH-1N และหลักสูตรเฮลิคอปเตอร์โจมตีติดอาวุธ (gunship) ของกองทัพบก ปี พ.ศ. 2537 ทรงปฏิบัติหน้าที่ครูการบินเครื่องบินขับไล่แบบเอฟ-5 อี/เอฟ ปี พ.ศ. 2552 ทรงปฏิบัติหน้าที่นักบินที่ 1 เครื่องบินโบอิ้ง 737-400 ในเที่ยวบินสายใยรักแห่งครอบครัว เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและจัดหาอุปกรณ์ด้านการแพทย์ สำหรับโรงพยาบาลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (เที่ยวบินที่ ทีจี 8870 (กรุงเทพฯ ถึงจังหวัดเชียงใหม่) และเที่ยวบินที่ ทีจี 8871 (จังหวัดเชียงใหม่ถึงกรุงเทพฯ)

Credit: bangkokbiznews.com

สำหรับด้านการทหาร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยในวิทยาการด้านการทหารมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ นอกจากจะทรงรับการศึกษาด้านการทหารจากประเทศออสเตรเลีย ยังทรงพระวิริยะอุตสาหะเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ตลอดเวลา โดยเฉพาะในด้านวิทยาการการบิน พระองค์ทรงรับราชการทหารมาโดยตลอดตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2518 และทรงดำรงพระยศทางทหารของ 3 เหล่าทัพ คือ พล.อ. พล.ร.อ. และ พล.อ.อ. โดยทรงเข้าร่วมปฏิบัติการรบเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งการคุ้มกันพื้นที่ในบริเวณรอบค่ายผู้อพยพชาวกัมพูชา ที่เขาล้าน จังหวัดตราด อีกทั้งยังเสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีการด้านทหาร อาทิ งานวันราชวัลลภ 

ด้านการต่างประเทศ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปทรงเยือนมิตรประเทศทั่วทุกทวีป เช่น อิตาลี จีน ญี่ปุ่น อิหร่าน เนปาล ศรีลังกา เปรู ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ฯลฯ นอกจากจะมุ่งเจริญสัมพันธไมตรีแล้ว พระองค์ยังทรงสนพระราชหฤทัยในการทอดพระเนตรและศึกษากิจการต่าง ๆ ที่จะทรงนำประโยชน์มาใช้ในการพัฒนาประเทศไทย เช่น กิจการทหาร ศิลปวัฒนธรรม อุตสาหกรรม และความเป็นอยู่ของประชาชน ฯลฯ 

Credit: oknation.net 

ด้านการศึกษา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้อาคารของกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เป็นที่ตั้งของโรงเรียนอนุบาลทหารมหาดเล็กราชวัลลภ ต่อมาโรงเรียนได้ย้ายไปที่จังหวัดนนทบุรีและได้รับพระราชทานชื่อใหม่ว่าโรงเรียนอนุราชประสิทธิ์ และโอนไปสังกัดสำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติเมี่อ พ.ศ. 2534 โดยดำเนินการสอนตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย 

พระองค์ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชทรัพย์ร่วมสนับสนุนให้กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ก่อตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาในถิ่นทุรกันดาร 6 แห่ง และทรงรับโรงเรียนมัธยมศึกษา 15 แห่งไว้ในพระราชูปถัมภ์ นอกจากนี้ยังมีพระราชดำริให้จัดตั้งมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.) เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 เพื่อสนับสนุนผู้ศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จนถึงปริญญาตรีหรือเทียบเท่า โดยเป็นทุนให้เปล่า นับเป็นการสร้างบุคลากรคุณภาพในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ เช่น ครู แพทย์ ตำรวจ ทหาร ที่จะช่วยกันขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ


Credit: mgronline.com

ด้านการแพทย์และสาธารณสุข

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยเสด็จพระราชบิดาและพระราชมารดาไปทรงเยี่ยมราษฎรในชนบทเสมอ จึงมีพระราชประสงค์ให้ราษฎรได้รับการรักษาพยาบาลทั่วถึงและมีมาตรฐาน เป็นที่มาของการจัดตั้งโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชในท้องถิ่นห่างไกลและกันดารขึ้นใน พ.ศ. 2520 สำหรับเงินในการจัดตั้งมาจากการบริจาคของรัฐบาลและประชาชนทั่วไปผ่านมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ปัจจุบันมีโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสังกัดกระทรวงสาธารณสุขรวม 21 แห่ง

ปี พ.ศ. 2560 พระองค์พระราชทานพระราชทรัพย์ 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้จากการจำหน่ายสมุดไดอารีภาพการ์ตูนฝีพระหัตถ์ เพื่อสมทบทุนสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี พ.ศ. 2562 พระองค์พระราชทานพระราชทรัพย์ 2,407 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อเครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาลทั่วประเทศ โดยเป็นเงินที่ประชาชนได้ทูลเกล้าฯ ถวายในการร่วมบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ รัชกาลที่ 9 และเงินรายได้จากการจัดงานอุ่นไอรัก คลายความหนาว “สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์” 


Credit: royaloffice.th

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งคณะกรรมการ โครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ในปี พ.ศ. 2562 เพื่อแก้ปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของผู้ต้องขัง ให้สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างเท่าเทียมตามหลักมนุษยธรรม ทั้งนี้เมื่อพ้นโทษจะได้มีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งกายและใจ ออกมาสู่สังคมภายนอก และประกอบอาชีพสุจริตได้อย่างมีคุณภาพ

ปี พ.ศ. 2563 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “ห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit)” ซึ่งเป็นหนึ่งใน “โครงการเครื่องช่วยหายใจและเครื่องมือแพทย์พระราชทาน” เพื่อรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยได้พระราชทานพระราชทรัพย์ให้เอสซีจีดำเนินการก่อสร้างให้โรงพยาบาลต่าง ๆ 20 แห่งทั่วประเทศ

ด้านการเกษตร

ปี พ.ศ. 2544 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ในพื้นที่สวนบ้านกองแห หมู่ที่ 4 ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1,350 ไร่ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการจัดตั้งคลินิกเกษตร เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและเทคโนโลยีการเกษตรจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ คลินิกดังกล่าวพระราชทานนามว่า "เกษตรวิชญา" แปลว่าปราชญ์แห่งการเกษตร ทำหน้าที่เผยแพร่ผลงานวิจัยและเทคโนโลยีการเกษตรจากศูนย์ฯ ในรูปแบบของศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีชุมชน ทั้งยังเป็นศูนย์ฝึกอบรมและวิจัยพัฒนาการเกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่


Credit: porpeang.org

นอกจากนี้ยังทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อส่งเสริมกิจการด้านเกษตรกรรม เช่น เสด็จฯ เป็นองค์ประธานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ที่ท้องสนามหลวง ซึ่งเป็นพิธีที่จัดขึ้นในเดือนหกของทุกปีหรือราวเดือนพฤษภาคม เพื่อความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญเกษตรกร ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวเป็นระยะเหมาะสมที่จะเริ่มต้นการทำนาอันเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย


Credit: prachachat.net

ด้านสังคม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาห่วงใยการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนที่ด้อยโอกาส พระองค์เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมชุมชนแออัดของกรุงเทพฯ หลายแห่ง เช่น ชุมชนแออัดพระโขนง เขตคลองเตย เขตยานนาวา รวมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อสนับสนุนโครงการของชุมชน เช่น โครงการพัฒนาเด็กเล็กที่ขาดแคลน โครงการปราบปรามยาเสพติด 

ในปี พ.ศ. 2549 พระองค์เสด็จฯ เยี่ยมประชาชนที่ประสบปัญหาความไม่สงบในจังหวัดนราธิวาส ณ ร้านข้าวต้มอั้งม้อของภักดี พรมเมน ปี พ.ศ. 2554 โปรดให้พลอากาศโท ภักดี แสงชูโต นำผ้าห่มกันหนาว 20,000 ผืน ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮะกุ ที่ประเทศญี่ปุ่น และในปี พ.ศ. 2561 พระราชทานของยังชีพไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมจากเหตุเขื่อนทรุดตัวที่ประเทศลาว

นอกจากนี้พระองค์ยังพระราชทานโครงการจิตอาสา “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” เพื่อส่งเสริมให้พสกนิกรชาวไทยทุกคนมีความเสียสละ สมัครสมานสามัคคี สร้างสรรค์ความดีเพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน 


Credit: royaloffice.th

ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หน่วยราชการในพระองค์ ร่วมกับหน่วยราชการต่าง ๆ และประชาชนทุกหมู่เหล่าที่มีจิตอาสา บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำท่วมในเขตชุมชน ปัญหาการจราจร และอื่น ๆ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยเปิดให้ประชาชนทั่วประเทศ สมัครเข้าร่วมโครงการจิตอาสา “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” ปรากฏว่ามีประชาชนสมัครเข้าร่วมจำนวนมากจนเสื้อยืดคอโปโลสีดำ “ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์” ที่พระราชทานให้ประชาชนจำนวน 770,000 ตัว ถูกแจกจ่ายจนหมด ซึ่งหมายความว่ามีผู้เข้าร่วมโครงการไม่ต่ำกว่า 770,000 คน และอาจจะถึง 1 ล้านคน เพราะมีประชาชนอีกมากที่เข้าร่วมโครงการแม้จะไม่ได้รับเสื้อ ถือเป็นโครงการที่มีประชาชนเข้าร่วมและประสบความสำเร็จอย่างสูงยิ่ง ทั้งนี้จิตอาสาแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ จิตอาสาพัฒนา จิตอาสาภัยพิบัติ และจิตอาสาเฉพาะกิจ 

ด้านศาสนา 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจทางศาสนาเป็นประจำ เช่น ทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามตามฤดูกาล รวมถึงเสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานถ้วยรางวัล การทดสอบการอัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานระดับประเทศ


Credit: posttoday.com

ด้านกีฬา 

ปี พ.ศ. 2558 มีการจัดกิจกรรมปั่นจักรยานทั่วประเทศ ในชื่อกิจกรรม "ปั่นเพื่อแม่" (Bike for Mom) เฉลิมพระเกียรติพระราชมารดาของพระองค์ในวันที่ 16 สิงหาคม และกิจกรรม "ปั่นเพื่อพ่อ" (Bike for Dad) เฉลิมพระเกียรติพระราชบิดาของพระองค์ในวันที่ 11 ธันวาคม โดยระบุว่าเป็นไปตามพระราชดำริขอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ต้องการส่งเสริมการออกกำลังกาย ซึ่งทั้งสองกิจกรรมพระองค์ทรงร่วมปั่นจักรยานในกรุงเทพฯ ด้วย


Credit: thairath.co.th 

นอกจากนี้ พระองค์พระราชทานพระราชานุญาตให้จัดงานกิจกรรมปั่นจักรยาน “Bike อุ่นไอรัก” ในงาน “อุ่นไอรัก คลายความหนาว สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์” ในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2561 และทรงนำประชาชนปั่นจักรยาน “Bike อุ่นไอรัก” เส้นทางพระลานพระราชวังดุสิต-สวนสุขภาพลัดโพธิ์ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ รวมระยะทางไปกลับ 39 กิโลเมตร โดยกิจกรรมนี้มีพระราชานุญาตให้จัดขึ้นเพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนมีความใกล้ชิดกัน อีกทั้งผู้ที่ร่วมกิจกรรมปั่นจักรยานยังแสดงให้เห็นการรวมพลังความสามัคคีของคนไทยทั้งชาติ และเห็นความสำคัญในการออกกำลังกายและส่งเสริมสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์

ที่มา: 
บทความ “10 พระราชกรณียกิจน่ารู้ ของในหลวงรัชกาลที่ 10” จาก sdo.rtarf.mi.th 
บทความ “จิตอาสาเราทำความดี ด้วยหัวใจ โครงการพระราชทานของในหลวง ร.10” จาก thansettakij.com
บทความ “พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” จาก th.wikipedia.org

Posted in news on ก.ค. 15, 2022