News Update

11.05.2566

CEA ผลักดันลิขสิทธิ์เพลง เสริมสร้างรายได้ในอุตสาหกรรมดนตรี

11 พฤษภาคม 2566 - สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับ กรมทรัพย์สินทางปัญญา (DIP) บริษัท โฟโนไรทส์ (ไทยแลนด์) จำกัด (PNR) และ สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจบันเทิงไทย (TECA) จัดกิจกรรมสัมมนาในหัวข้อ “โอกาสสร้างรายได้จากลิขสิทธิ์งานสิ่งบันทึกเสียง” เพื่อให้ความรู้และความเข้าใจในลิขสิทธิ์เพลงและสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากลิขสิทธิ์ให้มีประสิทธิภาพ และเป็นการประชาสัมพันธ์องค์กรที่เกี่ยวข้องซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการดูแลและคุ้มครองนักสร้างสรรค์ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สาขาดนตรีโดยตรง

กฎหมายลิขสิทธิ์เพลงในปัจจุบันมี 2 ลิขสิทธิ์ ได้แก่ ลิขสิทธิ์งานดนตรีกรรม และลิขสิทธิ์งานสิ่งบันทึกเสียง งานสัมมนานี้จัดขึ้นเพื่อให้ผู้สร้างสรรค์เข้าใจและบริหารจัดการลิขสิทธิ์เพลงอย่างมีประสิทธิภาพและเพื่อเสริมความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับลิขสิทธิ์งานสิ่งบันทึกเสียง ค่าตอบแทน การใช้ประโยชน์อย่างหลากหลายจากลิขสิทธิ์งานบันทึกเสียงให้กับเจ้าของลิขสิทธิ์สิ่งบันทึกเสียง รวมถึงนักแต่งเพลง นักประพันธ์ หรือ ตัวแทนผู้ดูแลลิขสิทธิ์ คาดว่าจะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดนตรีในประเทศไทยให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อช่วยพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมดนตรีในประเทศไทย สอดคล้องตามนโยบายของ CEA

ดร.ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมดนตรีถือเป็นหนึ่งในสาขาของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่น่าสนใจ ทั้งในฐานะ Creative Content และ Soft Power ที่ช่วยสื่อสารและส่งต่อความเป็นไทยไปสู่สายตาชาวต่างชาติอีกทางหนึ่ง จากข้อมูลพบว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมดนตรีมีแนวโน้มปรับตัวเป็นอย่างมาก โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบจากออฟไลน์ ไปสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลออนไลน์มากยึ่งขึ้น นอกจากนี้ พบว่ารายได้ของอุตสาหกรรมดนตรีเกือบ 1 ใน 3 มาจากช่องทางออนไลน์ ผลการศึกษารายงานการศึกษาการพัฒนาอุตสาหกรรมดนตรี โดย CEA พบว่าประเด็นสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมดนตรีของไทยเข้มแข็งยิ่งขึ้น คือ “การส่งเสริมเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา” และ “การผลักดันด้านการบริหารจัดการใช้ประโยชน์จากลิขสิทธิ์ดนตรี” ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญอันดับหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมดนตรี ที่ CEA จะผลักดันต่อไป

“งานสัมมนาในวันนี้จึงนับเป็นโอกาสที่ดี ที่เราทุกคนได้มาร่วมกันดำเนินกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อกลุ่มนักสร้างสรรค์ในระบบนิเวศของอุตสาหกรรมดนตรี ทั้งเจ้าของลิขสิทธิ์สิ่งบันทึกเสียง นักแต่งเพลง นักประพันธ์ ผู้แทนดูแลลิขสิทธิ์ ค่ายเพลง รวมถึงศิลปินทุกท่าน เพื่อช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจด้านลิขสิทธิ์งานสิ่งบันทึกเสียง รวมทั้งช่วยให้นักสร้างสรรค์ทุกท่านค้นพบช่องทางการสร้างรายได้จากลิขสิทธิ์ดนตรีที่ตนเองเป็นเจ้าของได้มากยิ่งขึ้น” ดร.ชาคริต กล่าว 

ด้าน นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญยิ่งกับการส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพงานสร้างสรรค์ของประเทศในรูปแบบต่าง ๆ ที่ได้รับการคุ้มครองในฐานะเป็นทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะงานดนตรีกรรม และ งานสิ่งบันทึกเสียง ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้มุ่งเน้น การกำหนดแนวทางปฏิบัติที่ดีสำหรับองค์การจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ ที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงการใช้ประโยชน์จากงานสร้างสรรค์ กับการสร้างรายได้ให้กับผู้สร้างสรรค์ และผู้ประกอบการธุรกิจให้เป็นธรรมและโปร่งใส พร้อมทั้งจัดกิจกรรมสนับสนุนการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักแก่ประชาชนทั่วไป เกี่ยวกับความสำคัญของงานสร้างสรรค์ที่มีต่อตัวผู้สร้างสรรค์เอง สังคม และระบบเศรษฐกิจของประเทศ

CEA และเครือข่าย พร้อมเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมสนับสนุนให้เกิดกลไกส่งเสริมรากฐานของอุตสาหกรรมดนตรีของไทยให้แข็งแกร่ง พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อช่วยพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมดนตรีไทยให้ก้าวไปสู่ระดับสากล รวมทั้งนำเสนอ Soft Power ไทยสู่เวทีโลก นำรายได้กลับสู่ประเทศได้อย่างภาคภูมิใจต่อไปในอนาคต

Posted in news on พ.ค. 11, 2023