DATA & Statistics

โลกออนไลน์ โอกาสใหม่แรงงานขาดรายได้ยุคโควิด

สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2563 ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศไทย ทำให้กิจการหลายแห่งไม่สามารถดำเนินธุรกิจตามเป้าหมายได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งมาตรการแรกที่ภาคธุรกิจมักเลือกใช้ก็คือ การลดจำนวนพนักงานลงประมาณ 20 - 30% 

จากการเปิดเผยข้อมูลของกระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคม ข้อมูล ณ เดือนกรกฏาคม 2563 พบว่า จำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานและเลิกจ้างตั้งแต่ช่วงการระบาดหนักของ COVID-19 มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างเดือนมกราคม - กรกฎาคม 2563 (แผนภูมิที่ 1) พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานสูงขึ้นกว่าร้อยละ 60 และหากพิจารณาลงรายละเอียดถึงสาเหตุของการออกจากงาน (แผนภูมิที่ 2) จะพบด้วยว่า สถิติการถูกเลิกจ้างมีอัตราสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเพิ่มขึ้นจากต้นปี กว่าร้อยละ 83.4 สถานการณ์ตลาดแรงงานไทยในปีนี้จึงนับว่าน่าเป็นห่วงอย่างมาก 

 

แผนภูมิที่ 1 สถิติจำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานปี 2563


แผนภูมิที่ 2 สถิติจำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานปี 2563 จำแนกตามสาเหตุการออกจากงาน

เมื่อโฟกัสในส่วนของกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 15 สาขา พบว่า อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้มากที่สุดย่อมหนีไม่พ้น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ “การบริการและการท่องเที่ยว” สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ได้สัมภาษณ์ตัวแทนของกิจการในกลุ่มนี้ คือ คุณสมชาย มีศรี ที่ปรึกษาอาวุโสฝ่ายบริหาร โรงแรมปรินซ์พาเลซ และ คุณสุรศักดิ์ แต้ไพบูลย์ General Manager โรงแรม B2 ศรีนครินทร์ ซึ่ง CEA ได้สรุปเนื้อหาที่ทั้งสองท่านบอกเล่าถึงสถานการณ์ที่สอดคล้องกัน ดังนี้

  

ธุรกิจโรงแรมมีแนวทางการปรับตัวเพื่อเอาตัวรอดในสถานการณ์นี้อย่างไร ? 

ธุรกิจโรงแรมจำเป็นต้องหันมาให้ความสำคัญกับลูกค้าคนไทย เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการปิดประเทศ (ปัจจุบันเริ่มเปิดบางส่วน) ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้ามาใช้บริการได้ ปัจจุบันจึงเน้นไปที่การทำตลาดออนไลน์ ออกโปรโมชันลดราคาห้องพักลง 20% และลดค่าใช้จ่ายในช่วงที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ เช่น สั่งปิดตึกที่ไม่จำเป็น หรือปิดห้องอาหารในบางจุด 
ส่วนนโยบายสำหรับพนักงานจะเป็นการลดวันทำงาน หรือเพิ่มจำนวนชั่วโมงการทำงานแทน ซึ่งส่งผลให้พนักงานเริ่มมีการลาออกมากขึ้น เนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย หรือในบางโรงแรมอาจใช้วิธีการเลิกจ้างและปิดโรงแรมไปเลยเป็นระยะเวลา 3-6 เดือน พนักงานส่วนใหญ่ที่ลาออกไปก็จะหันไปนิยมทำงานเกี่ยวกับการส่งอาหาร (Food Delivery)  เช่น Lineman, Grab, Gojek (Get) หรือ Food Panda แทน จนตอนนี้ตลาดเกิดการโอเวอร์ซัพพลาย ทำให้หลายคนยังคงอยู่ในสภาวะว่างงาน หรือค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอ 

หลังจากวิกฤต COVID-19 สถานการณ์แรงงานภาคโรงแรมมีแนวโน้มเป็นอย่างไร ?

หลังจากวิกฤต COVID-19 การบริการที่ควบคู่ไปกับสุขอนามัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าในการเข้ามาใช้บริการโรงแรม รวมถึงการใช้ AI และเทคโนโลยีอื่น ๆ จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในธุรกิจโรงแรม จึงมองว่าการจ้างพนักงานจะมีแนวโน้มลดลงเพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยหันมาโฟกัสไปที่การบริการลูกค้าให้มีความรวดเร็วและได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ดังนั้นพนักงานในกลุ่มธุรกิจโรงแรมยุคใหม่ จึงต้องเก่งทั้งการบริการและการใช้งานเทคโนโลยี ถึงจะเป็นที่ต้องการสำหรับธุรกิจในอนาคต

ต้องการให้ภาครัฐออกนโยบายแบบใด เพื่อช่วยเหลือธุรกิจโรงแรมในช่วง COVID-19 และช่วงฟื้นตัวบ้าง ?

การสนับสนุนเรื่องเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำในช่วงฟื้นฟูกิจการการท่องเที่ยว เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมให้อยู่รอด และการสนับสนุนด้านการตลาดเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวของไทยให้กลับมาได้รับความนิยมให้เร็วที่สุด 

 

เพิ่มโอกาสบนแพลตฟอร์มออนไลน์ด้วย VJ Live Streaming

ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส ปัจจุบันอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในสังคมไทยมากขึ้น การสร้างงานออนไลน์จึงเข้าถึงได้โดยง่าย และไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้ว่างงานจากผลกระทบ COVID-19 จะหันหน้าไปพึ่งพาแพลตฟอร์มออนไลน์ในการสร้างรายได้เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว โดยที่พบเห็นได้เป็นส่วนใหญ่จะเป็นในลักษณะการค้าขายตามแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานจำนวนมากอยู่แล้ว เช่น Facebook, Instagram, Shopee หรือ Lazada รวมถึงการผันตัวเป็นอินฟลูเอนเซอร์ ที่เน้นการบันทึกคลิปวิดีโอคอนเทนต์ต่าง ๆ และโพสต์ลงในช่องทาง Youtube ของตนเองเพื่อให้คนมาติดตามเรียกยอดวิว ยอดผู้ติดตาม (Subcriber) และสปอนเซอร์ แต่ยังมีอีกหนึ่งอาชีพออนไลน์ที่สามารถสร้างรายได้ และกำลังได้รับความสนใจในขณะนี้ ก็คือ Streamer หรือ VJ Live streaming อาชีพที่เหมือนง่ายแต่ไม่ง่าย 

Streamer หรือ VJ Live Streaming เป็นการไลฟ์ที่เน้นการถ่ายทอดสดกิจกรรมของ VJ ไปสู่สายตาของสมาชิก โดยรับชมผ่านบรรดาแอปพลิเคชัน Mobile Video Streaming ไม่ว่าจะเป็น Tik Tok, BIGO LIVE, Vibie, Kitty Live และ Twitch เป็นต้น แอปฯ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นแพลตฟอร์มที่กำลังได้รับความนิยม มีอัตราการเติบโต และมีมูลค่าทางการตลาดที่สูงมาก ยกตัวอย่างเช่น "Tik Tok"  แอปฯ ที่ได้รับความนิยมสูงสุดและโด่งดังไปทั่วโลก จากฝีมือบริษัทสตาร์ทอัพเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง ByteDance (ไบท์แดนซ์) ซึ่งปีนี้สามารถทำมูลค่าทางการตลาดได้สูงถึง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และมีผู้ใช้งานทั่วโลกถึง 800 ล้านคน รวมถึงเป็นแอปฯ ที่ถูกดาวน์โหลดมากที่สุดในไตรมาสแรกของปี 2563 ในขณะที่ “BIGO LIVE” มียอดผู้ใช้งานราว 400 ล้านคน ในกว่า 150 ประเทศ โดยมียอดผู้ใช้งานในไทยสูงถึงกว่า 5 แสนรายต่อวัน 

อีกหนึ่งกิจกรรมไลฟ์สตรีมที่เป็นกระแสมาแรงทั้งในระดับโลกและในไทยก็คือ E-Sport ซึ่งแพลตฟอร์มออนไลน์ที่รองรับกระแสกีฬา E-Sport นี้ ได้แก่ “Twitch” ซึ่งแม้จะเพิ่งเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยได้ไม่นาน แต่ก็สามารถครองความเป็นผู้นำในแพลตฟอร์ม Live Streaming เนื้อหาเกี่ยวกับเกมกีฬาได้ ผ่านการสร้างคอมมูนิตีที่แข็งแกร่ง ประกอบด้วยการให้ความช่วยเหลือบรรดาสตรีมเมอร์ในการพัฒนาคอนเทนต์ใหม่ ๆ หรือ การเล่าเรื่องชีวิตประจำวันทำให้มีเนื้อหาหลากหลายขึ้น ซึ่งกล่าวได้ว่าแอปพลิเคชัน Mobile Streaming เหล่านี้ มีผลในด้านการตลาดเป็นอย่างมาก เพราะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายระดับแมสได้ค่อนข้างง่าย ซึ่งกลุ่มผู้ใช้งานหลักของแอปพลิเคชันเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุประมาณ 16-24 ปี (Gen Z)  ถือเป็นกลุ่มลูกค้าที่สามารถขยายความนิยมได้ค่อนข้างเร็ว สร้างเม็ดเงินให้กับกลุ่มธุรกิจได้หลากหลายกลุ่ม ทั้งเจ้าของแอปพลิเคชัน อินฟลูเอนเซอร์ บริษัทโฆษณา และเจ้าของสินค้าหรือบริการ

รูปแบบรายการที่อยู่ในแพลตฟอร์มเหล่านี้ เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถถ่ายทอดสดแบบเรียลไทม์ เพื่อแบ่งปันช่วงเวลาดี ๆ ในชีวิต โชว์ความสามารถพิเศษ ถ่ายทอดสดการเล่นเกม และโต้ตอบกับผู้คนทั่วโลก ทำให้คนธรรมดาทั่วไปสามารถก้าวขึ้นสู่การเป็นสตรีมเมอร์ที่ได้รับความนิยมบนแพลตฟอร์มได้ง่าย ๆ โดยรูปแบบการทำเงินมาจากการที่ผู้ชมสามารถซื้อของขวัญเพื่อมอบให้กับสตรีมเมอร์ได้ ซึ่งของขวัญเหล่านั้นเป็นของที่ซื้อด้วยเงินจริง และสามารถนำของขวัญเหล่านั้นไปแลกเป็นเงินได้ ภายใต้ระบบการทำงานเช่นนี้เอง จึงทำให้เกิดเป็นอาชีพใหม่ขึ้นมา และนอกจากการเป็นสตรีมเมอร์ธรรมดาที่สามารถได้รับของขวัญซึ่งเป็นรายได้แล้ว สตรีมเมอร์ที่ได้รับความนิยมสูงก็ยังมีโอกาสเซ็นสัญญาทำงานร่วมกับแพลตฟอร์มที่ตนเองทำการ Live ได้อีกด้วย ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลพบว่า สตรีมเมอร์ที่ได้รับความนิยมในระดับสูงนั้น อาจจะมีรายได้มากกว่า 6 หลักทีเดียว 


สิ่งสำคัญที่เหล่าสตรีมเมอร์ หรือ VJ Live Streaming พึงมีก็คือ การสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ดึงดูดชวนให้ผู้คนติดตาม ทั้งความน่ารัก มีเสน่ห์ ความสามารถในการสื่อสารที่ทำให้คนดูรู้สึกชื่นชอบ นอกจากนี้ การมีทักษะในการจัดการคอนเทนต์ที่น่าสนใจไม่น่าเบื่อ ก็จะช่วยให้มีจำนวนยอดผู้ติดตามเพิ่มมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาและการหมั่นฝึกฝนพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ 

แม้เส้นทางการเป็นสตรีมเมอร์ทำเงินจะไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคน แต่ด้วยความที่เข้าถึงได้ง่าย ใคร ๆ ก็ทำได้ และเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยม แพลตฟอร์มต่าง ๆ เหล่านี้ จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสร้างรายได้สำหรับผู้ที่กำลังอยู่ในสภาวะว่างงานหรือต้องการหารายได้เพิ่มเติม ซึ่งในอนาคตอาจนำประสบการณ์ในการทำงานตรงนี้ ไปเพิ่มมูลค่า หรือเพิ่มประสิทธิภาพในการการประกอบอาชีพหลักต่อไปในอนาคตได้อีกด้วย

หมายเหตุ :
1.    บทสัมภาษณ์ผู้บริหารจากโรงแรมปรินซ์พาเลซ และ โรงแรม B2 ศรีนครินทร์ และเนื้อหาภาพรวม เรียบเรียงโดย สำนักพัฒนาองค์ความรู้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)
2.    ข้อมูลอ้างอิงอื่น ๆ 
●    สถิติจำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานปี 2563 จากกระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคม
●    https://brandinside.asia/twitch-thailand-next-step