DATA & Statistics

Creative Industry Database: Visual Arts

ฐานข้อมูลอุตสาหกรรมสร้างสรรค์รายสาขา : อุตสาหกรรมทัศนศิลป์

 

สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Database) เป็นรายสาขา โดยมีความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวบรวมข้อมูลในส่วนของ 1) มูลค่าทางเศรษฐกิจ 2) ข้อมูลผู้ประกอบการนิติบุคคล และ 3) ข้อมูลด้านแรงงาน จากนั้นได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลจำแนกรายอุตสาหกรรม เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง สามารถนำข้อมูลที่ได้นี้ไปวิเคราะห์ต่อยอด พร้อมวางนโยบายและกลยุทธ์เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวมของประเทศไทยต่อไป

 

ECONOMIC VALUE

1)   มูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมทัศนศิลป์ ณ ราคาประจำปี (Current Price) ตามรหัส TSIC  4 หลัก

CEA รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลมูลค่าทางเศรษฐกิจจาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยพิจารณาเลือกข้อมูลมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมทัศนศิลป์ จากรหัส TSIC 4 หลัก  แบบไม่นับซ้ำ จำนวน 2 รหัสธุรกิจ ประกอบด้วย
 

TSIC 4 หลัก กิจกรรมทางเศรษฐกิจ : อุตสาหกรรมทัศนศิลป์
2393  การผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องเคลือบปอร์ซเลน และเซรามิกชนิดอื่นๆ
9102  กิจกรรมพิพิธพัณฑ์

 

ข้อมูล ณ สิ้นปี 2561 อุตสาหกรรมทัศนศิลป์ของไทย มีมูลค่าอยู่ที่ 23,091 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.58 ของมูลค่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้งหมด ซึ่งอยู่ที่ 1,461,788 ล้านบาท 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี ระหว่างปี 2557 – 2561 พบว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมทัศนศิลป์มีอัตราเติบโตไปในทิศทางที่ดี และหากเปรียบเทียบอัตราการเติบโตกับค่าเฉลี่ยของ 15 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์  ระหว่างปี 2557 - 2561 พบว่า ในช่วง 4 ปีแรก มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง แต่ในปีล่าสุดกลับมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ 

COMPANY STATISTICS
 

2) สถิติกิจการประเภทนิติบุคคล ในอุตสาหกรรมทัศนศิลป์

•    จำนวนกิจการจำแนกตามขนาด

 
CEA ดำเนินการรวบรวมข้อมูลนิติบุคคลของอุตสาหกรรมทัศนศิลป์ จากรหัสธุรกิจ (TSIC) ที่เกี่ยวข้อง จำนวนทั้งสิ้น 8 รหัสธุรกิจ (TSIC 5 หลัก)  ประกอบด้วย 

 

TSIC 5 หลัก กิจกรรมทางเศรษฐกิจ : อุตสาหกรรมทัศนศิลป์
23931 การผลิตผลิตภัณฑ์เซรามิกที่เป็นเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร
23932 การผลิตผลิตภัณฑ์ประติมากรรมและของตกแต่งที่ทำจากเซรามิก
23939 การผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องเคลือบปอร์ซเลนและเซรามิกชนิดอื่นๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น
85423 กิจกรรมการเรียนการสอนด้านศิลปะ
85429 การศึกษาด้านวัฒนธรรมอื่น ๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น
90001 กิจกรรมการสร้างสรรค์ศิลปะ
91021 กิจกรรมพิพิธภัณฑ์
91022 กิจกรรมการดำเนินงานเกี่ยวข้องกับโบราณสถานและอาคารทางประวัติศาสตร์

 

นิติบุคคลที่อยู่ในอุตสาหกรรมทัศนศิลป์ มีจำนวนทั้งสิ้น 750 ราย (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563) เมื่อพิจารณาจำแนกตามขนาดกิจการ  พบว่า  ส่วนใหญ่เป็นกิจการขนาดเล็ก (S) มากที่สุด ถึง 717 ราย คิดเป็นร้อยละ 96 

หากจำแนกเชิงพื้นที่ในระดับภูมิภาค พบว่า กิจการส่วนใหญ่จัดตั้งอยู่บริเวณกรุงเทพมหานคร สูงที่สุดเป็นอันดับที่ 1 จำนวน 297 ราย คิดเป็นร้อยละ 38.98 ของจำนวนกิจการทั้งหมด อันดับที่ 2 คือ ภาคกลาง 193 ราย คิดเป็นร้อยละ 25.33 และอันดับที่ 3 คือ ภาคตะวันเหนือ 134 ราย คิดเป็นร้อยละ 17.59

 

•    ข้อมูลทางการเงิน 

TSIC

รายได้รวม
(ล้านบาท)

กำไรสุทธิ
(ล้านบาท)

จำนวนตัวอย่าง
(ราย)
23931 5,125.88 -51.73 31
23932 12,883.02 -51.60 166
23939 7,652.11 133.80 111
85423 81.66 -20.46 37
85429 61.13 17.89 25
90001 350.16 -16.19 154
91021 1,749.87 174.24 31
91022 7.70 1.60 5
รวม 27,911.53 187.55 510


ข้อมูลทางการเงินของกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมทัศนศิลป์  รายได้รวมของนิติบุคคล มีจำนวนทั้งสิ้น 27,911.53 ล้านบาท หากจำแนกสัดส่วนของรายได้ตามขนาดกิจการและประเภทธุรกิจ พบว่า
•    กิจการขนาดเล็ก (S) มีสัดส่วนรายได้สูงที่สุดอยู่ในรหัสธุรกิจที่ 85423, 85429, 90001, 91022 โดยกิจการของทั้ง 4 รหัสธุรกิจนี้ เป็นกิจการขนาดเล็ก (S) ทั้งหมด จึงทำให้มีสัดส่วนของรายได้สูงที่สุดเป็น 100% 
•    กิจการขนาดกลาง (M) มีสัดส่วนรายได้สูงสุดอยู่ในกลุ่มธุรกิจ 23939 กิจกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องเคลือบปอร์ซเลนและเซรามิกชนิดอื่น ๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น
•    กิจการขนาดใหญ่ (L) มีสัดส่วนรายได้สูงสุดอยู่ในกลุ่มธุรกิจ 23932 กิจกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ประติมากรรมและของตกแต่งที่ทำจากเซรามิก

จากข้อมูลรายได้รวมสะท้อนมาสู่กำไรสุทธิ จะพบว่า อุตสาหกรรมทัศนศิลป์มีกำไรสุทธิเป็นบวกอยู่ที่ 187.55 ล้านบาท โดยธุรกิจที่ทำกำไรสูงที่สุด คือ กลุ่มธุรกิจรหัส 91021 กิจกรรมพิพิธภัณฑ์ ซึ่งสร้างกำไรอยู่ที่ 174.24 ล้านบาท

 

•    ศักยภาพการดำเนินธุรกิจ

จากข้อมูลงบการเงินของนิติบุคคลในอุตสาหกรรมทัศนศิลป์ สามารถนำมาวิเคราะห์ถึงศักยภาพการดำเนินธุรกิจ พบว่า กิจการในอุตสาหกรรมทัศนศิลป์ มีศักยภาพการดำเนินธุรกิจอยู่ในระดับแข็งแกร่ง (Strong) มากถึง 138 ราย คิดเป็นร้อยละ 36.0 รองลงมา คือ ระดับปานกลาง (Regular) จำนวน 137 ราย คิดเป็นร้อยละ 35.8 และระดับอ่อนแอ (Weak) จำนวน 108 ราย คิดเป็นร้อยละ 28.2 โดยในภาพรวมนั้น เมื่อวิเคราะห์อัตราการอยู่รอดของธุรกิจ จะพบว่า เกือบทุกรหัสธุรกิจมีอัตราการอยู่รอดในระดับสูง เฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 80

 

CREATIVE LABOUR STATISTICS

3) สถิติด้านแรงงานสร้างสรรค์

•    จำนวนแรงงานสร้างสรรค์ และลักษณะการทำงาน

CEA รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลสถิติด้านแรงงานสร้างสรรค์ จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ข้อมูล ณ สิ้นปี 2561 โดยอ้างอิงตาม ISCO-08 Codes  สำหรับแรงงานสร้างสรรค์ในสาขาอาชีพดนตรี ศิลปะการแสดง และทัศนศิลป์  มีการจัดหมวดหมู่โดยรวบรวม Codes ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 4 รหัส ประกอบด้วย

 

ISCO-08 Codes  คำแปล : อุตสาหกรรมดนตรี ศิลปะการแสดง และทัศนศิลป์
2561 นักทัศนศิลป์
2655 นักแสดง
2653 นักเต้นรำและนักออกแบบท่าเต้น
2652 นักดนตรี นักร้อง และนักประพันธ์เพลง

 

แรงงานในสาขาอาชีพดนตรี ศิลปะการแสดง และทัศนศิลป์ มีจำนวนทั้งสิ้น 58,402 คน คิดเป็นร้อยละ 6.48 เมื่อเทียบกับจำนวนแรงงานสาขาอาชีพสร้างสรรค์ทั้งหมด (901,609 คน) 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี ระหว่างปี 2559 – 2561 พบว่า แรงงานในกลุ่มนี้มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 71,882 คนในปี 2559 เป็น 69,250 คนในปี 2560 และเหลือ 58,402 คนในปี 2561 หรืออาจกล่าวได้ว่า ในช่วงสามปีที่มีการเก็บข้อมูล แรงงานในสาขาอาชีพดนตรี ศิลปะการแสดง และทัศนศิลป์  มีจำนวนลดลงประมาณ 13,000 คน และเมื่อพิจารณาในแง่ของลักษณะการทำงานจะพบว่า สัดส่วนของแรงงานในสาขาอาชีพนี้ เป็นแรงงานในระบบและนอกระบบ ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน 


•    จำนวนแรงงานสร้างสรรค์ จำแนกตามภูมิภาค

การกระจายตัวในแต่ละพื้นที่ของแรงงานในสาขาอาชีพดนตรี ศิลปะการแสดง และทัศนศิลป์ จากข้อมูลปี 2561 พบว่า ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในภาคกลาง มีจำนวนทั้งสิ้น 28,477 คน คิดเป็นร้อยละ 48.76 ซึ่งแตกต่างจากแรงงานสาขาอาชีพสร้างสรรค์ในภาพรวม ที่กระจุกตัวอยู่บริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานครมากที่สุด มีจำนวนทั้งสิ้น 326,400 คน คิดเป็นร้อยละ 36.2 และจากการพิจารณาการกระจายตัวของแรงงานตามพื้นที่ เปรียบเทียบระหว่างช่วงปี 2559 – 2561 จะพบว่า มีการกระจายตัวไปในทิศทางเดียวกันทั้ง 3 ปี 
 

•    จำนวนแรงงานสร้างสรรค์ จำแนกตามช่วงอายุ

ช่วงอายุของแรงงานสร้างสรรค์ในสาขาอาชีพดนตรี ศิลปะการแสดง และทัศนศิลป์ จากข้อมูลในปี 2561 พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 40–49 ปี มากที่สุด มีจำนวนทั้งสิ้น 13,381 คน คิดเป็นร้อยละ 22.91 รองลงมา คือ ช่วงอายุ 35-39 ปี และช่วงอายุ 25-29 ปี ตามลำดับ สอดคล้องกับข้อมูลแรงงานสาขาอาชีพสร้างสรรค์ในภาพรวม ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 40-49 ปี มากที่สุด มีจำนวนทั้งสิ้น 244,495 คน คิดเป็นร้อยละ 27.12 และเมื่อพิจารณาการกระจายตัวของแรงงานตามช่วงอายุ เปรียบเทียบระหว่างช่วงปี 2559 – 2561 จะพบว่า มีการกระจายตัวไปในทิศทางที่ใกล้เคียงกันทั้ง 3 ปี 
 

•    จำนวนแรงงานสร้างสรรค์ จำแนกตามรายได้

ค่าเฉลี่ยรายได้ของแรงงานสร้างสรรค์ในสาขาอาชีพดนตรี ศิลปะการแสดง และทัศนศิลป์ จากข้อมูลระหว่างปี 2559 - 2561 พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยรายได้ของสาขาอาชีพดนตรี ศิลปะการแสดง และทัศนศิลป์ เทียบกับ ค่าเฉลี่ยรายได้ของทั้ง 12 สาขาอาชีพสร้างสรรค์ จะพบว่า มีความแตกต่างกันเฉลี่ยถึงร้อยละ 51.7 และหากพิจารณาจัดอันดับตามค่าเฉลี่ยรายได้ พบว่า ค่าเฉลี่ยรายได้ของแรงงานในสาขาอาชีพดนตรี ศิลปะการแสดง และทัศนศิลป์ จะอยู่ในอันดับที่ 11 จาก 12 สาขาอาชีพสร้างสรรค์
 

•    จำนวนแรงงานสร้างสรรค์ จำแนกตามระดับการศึกษา

ระดับการศึกษาของแรงงานสร้างสรรค์ในสาขาอาชีพดนตรี ศิลปะการแสดง และทัศนศิลป์ จากข้อมูลในปี 2561 พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีมากที่สุด มีจำนวนทั้งสิ้น 42,270 คน คิดเป็นร้อยละ 72.38 เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับแรงงานทั้ง 12 สาขาอาชีพสร้างสรรค์ พบว่า ส่วนใหญ่มีการศึกษาในระดับปริญญาตรีมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 47.27 และหากพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างช่วงปี 2559 – 2561 จะพบว่า มีการกระจายตัวไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน

 

ที่มา :     
1. มูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 
2. แรงงานสร้างสรรค์ จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ 
3. สถานะนิติบุคคลของกิจการในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
4. รวบรวมและวิเคราะห์รายอุตสาหกรรม โดย คณะผู้วิจัยและสำนักพัฒนาองค์ความรู้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)