มังงะกับการฟื้นฟูเมือง เมื่อวัฒนธรรมป๊อปพลิกฟื้นท้องถิ่น
ญี่ปุ่นประกอบด้วยเกาะมากกว่า 14,000 แห่ง แต่ละเกาะและเมืองเล็ก ๆ ต่างก็มีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ ทว่าท่ามกลางความหลากหลายนั้น หลายชุมชนกลับเผชิญปัญหาคล้ายกัน ผู้คนย้ายออก โรงเรียนปิด หมู่บ้านเงียบ บางแห่งเหมือนค่อย ๆ เลือนหายจากแผนที่ แต่ในวิกฤตกลับมีความหวัง เมืองเล็กบางแห่งไม่รอความช่วยเหลือจากภายนอก หากเลือกหยิบยกสิ่งที่ตัวเองมี มาฟื้นฟูชุมชน ปลุกท้องถิ่นให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
เกาะทาไคคามิชิมะ กับบรรยากาศแบบอนิเมะอันโด่งดัง
Photo Credit: https://www.scmp.com/week-asia/lifestyle-culture/article/3315528/can-manga-save-dying-japanese-island-takaikamishima-bets-comics-stay-alive
เกาะเล็ก ๆ ชื่อ ทาไคคามิชิมะ (Takaikamishima) จังหวัดเอฮิเมะ ซึ่งเหลือประชากรเพียง 11 คน กลับซ่อนความฝันใหญ่เกินตัว ที่นี่ไม่รอคอยความช่วยเหลือจากภายนอก แต่เลือกสร้างอนาคตด้วย “มังงะ” พวกเขาปรับพื้นที่โรงเรียนประถมและมัธยมที่ปิดตัวไปแล้ว ให้กลายเป็นโรงเรียนสอนการ์ตูนเต็มรูปแบบ ครบทั้งห้องเรียน ห้องสมุดมังงะ และคลาสเข้มข้นที่สอนตั้งแต่พื้นฐานการวาด ไปจนถึงการเล่าเรื่องอย่างมืออาชีพ เบื้องหลังโครงการนี้คือชายวัย 70 ปีสองคน คนหนึ่งเป็นชาวเกาะ อีกคนคือนักธุรกิจเกษียณผู้หลงรักมังงะ ทั้งคู่ใช้เวลากว่า 8 ปีในการผลักดันแนวคิด ด้วยความเชื่อมั่นว่าหากเด็กจากเกาะเล็ก ๆ แห่งนี้สามารถก้าวสู่การเป็นนักวาดมืออาชีพได้ ที่นี่จะกลายเป็น “ดินแดนศักดิ์สิทธิ์” ของแฟนมังงะทั่วโลก วันนี้ทาไคคามิชิมะจึงไม่ใช่เกาะที่เงียบเหงาอีกต่อไป แต่กลายเป็นจุดหมายของนักเรียนมังงะจากทั่วญี่ปุ่น
Ace of Diamond
Photo Credit: https://www.reddit.com/r/AceOfTheDiamond/comments/gj876c/shows_to_watch_after_youve_finished_ace_of
อีกตัวอย่างของเมืองที่ใช้มังงะเป็นจุดขายได้อย่างน่าสนใจ คือ เมืองโทมะโกะไม (Tomakomai) จังหวัดฮอกไกโด เมืองอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ประสบปัญหาคล้ายกับเมืองเล็กอื่น ๆ ทั่วญี่ปุ่น ที่ประชากรลดลง เศรษฐกิจซบเซา และความน่าสนใจในสายตาคนนอกเริ่มจางหาย ทางเมืองจึงหันมาใช้มังงะและอนิเมะที่มีความเกี่ยวข้องกับพื้นที่เป็นเครื่องมือสร้างภาพลักษณ์ใหม่ ผลงานเด่นที่ถูกหยิบมาใช้ เช่น Erased ซึ่งเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในโทมะโกะไม, Ace of Diamond ที่พูดถึงทีมเบสบอลจากเมืองนี้ และ Patlabor ที่ตัวละครหลักมีพื้นเพมาจากที่นี่ เมืองเสริมทัพโดยจัดกิจกรรมหลากหลายเพื่อเชื่อมโยงแฟน ๆ เข้ากับสถานที่จริง ทั้งงานคอสเพลย์ บูธของที่ระลึก ทอล์กโชว์กับนักพากย์ รวมถึงกิจกรรมตามรอยการ์ตูนที่พาผู้คนเดินทางมายังโลเคชันสำคัญในเรื่อง ทั้งหมดนี้ไม่เพียงสร้างความคึกคัก แต่ยังปลุกกระแสการท่องเที่ยวได้อย่างมีพลัง
Oshi no Ko
Photo Credit: https://www.primevideo.com/-/th/detail/Oshi-No-Ko/0I1P4500VQU5SDYCL0KJ40F1NU
อีกกรณีที่น่าจับตามองอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ คือเมืองเล็กในหุบเขาชื่อ ทาคาจิโฮะ (Takachiho) จังหวัดมิยาซากิ เมืองที่เคยเงียบเหงาและไม่เป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวกระแสหลัก แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อเมืองแห่งนี้ปรากฏในอนิเมะยอดฮิต Oshi no Ko เมืองไม่รอช้า รีบคว้าโอกาสเปิดแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบทันที ตั้งแต่สมุดสะสมแสตมป์ศาลเจ้าลายพิเศษจากอนิเมะ ไกด์เสียงพาทัวร์สถานที่จริงโดยนักพากย์ชื่อดัง ไปจนถึงทัวร์รถบัสเหมาคันที่พาแฟน ๆ จากทั่วญี่ปุ่นมาเยือน กิจกรรมทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้แนวคิด “โอชิคัตสึ (Oshikatsu)” หรือกิจกรรมสนับสนุนคนหรือผลงานที่เราชอบ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมใหม่ของแฟนคลับในญี่ปุ่น ที่มีอิทธิพลมากพอจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้จริง เพียงไม่ถึงปี ทาคาจิโฮะก็เปลี่ยนจากเมืองที่แทบไม่มีใครพูดถึง กลายเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของแฟนอนิเมะทั่วประเทศ
“Phitsanulok: Turning Story into Masterpieces”
“Phitsanulok: Turning Story into Masterpieces” โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA คือโครงการที่นำองค์ประกอบของเมืองพิษณุโลก มาแปรเปลี่ยนเป็นงานเล่าเรื่องร่วมสมัยผ่านแพลตฟอร์ม LINE Webtoon โดยมีกรอบการทำงานที่เริ่มต้นจากให้ทีมนักวาดและนักเขียนได้รับประสบการณ์จริงจากการลงพื้นที่ (City Tour) ได้พูดคุยกับนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและชุมชน เพื่อเข้าใจรากวัฒนธรรม พร้อมทั้งเสริมทักษะการวาดและเล่าเรื่องด้วยเทคนิคจากผู้เชี่ยวชาญในวงการ Webtoon ก่อนจะพัฒนาเป็น 10 ผลงาน ที่พูดถึงพิษณุโลกในมุมใหม่ และเผยแพร่บนแพลตฟอร์ม LINE Webtoon สู่สายตาผู้ชมทั่วประเทศ โครงการนี้ไม่เพียงเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้ถ่ายทอด “เมืองในมุมของตัวเอง” แต่ยังเป็นการต่อยอดอัตลักษณ์ท้องถิ่นให้เข้าถึงได้ง่ายและร่วมสมัยยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือต้นแบบกระบวนการนี้ยังสามารถต่อยอดไปยังจังหวัดอื่น ๆ ที่มีเรื่องเล่าทางวัฒนธรรมเข้มข้นได้ในอนาคต