ความสร้างสรรค์ที่มีคุณค่าและยั่งยืน เปิดแนวคิด 28 ผลงาน ผู้คว้ารางวัลจากเวที Creative Excellence Awards 2023
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย จัดพิธีมอบรางวัลความเป็นเลิศทางความคิดสร้างสรรค์ หรือ Creative Excellence Awards (CE Awards) ขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ เพื่อเชิดชูและส่งเสริมบุคคล ชุมชน ผู้ประกอบการ หน่วยงาน องค์กร หรือสถาบันต่าง ๆ ที่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือบริการ เครื่องมือ หรือกระบวนการ โดยนำความคิดสร้างสรรค์มาประยุกต์ใช้ในการสร้างให้เกิดคุณค่า (Value Creation) ที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อม เพื่อต่อยอดไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศ งานประกาศรางวัลจัดขึ้นในวันที่ 24 สิงหาคม 2566 เวลา 17.30 - 20.00 น. ณ สามย่าน มิตรทาวน์ ฮอลล์ ชั้น 5 สามย่าน มิตรทาวน์ กรุงเทพฯ
สำหรับ Creative Excellence Awards 2023 มีการมอบรางวัลใน 3 ประเภท 15 รางวัล ทั้งหมด 28 ผลงาน มาทำความรู้จักแนวคิดของ 28 ผลงานที่ได้รับรางวัลกัน ซึ่งทุกผลงานล้วนสะท้อนคำว่า “สร้างสรรค์ สร้างมูลค่า และสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน” ได้อย่างชัดเจน
Creative Excellence Awards 2023:
ประเภท Creative City Awards
1. Creative City Awards จำนวน 5 รางวัล 9 ผลงาน
รางวัลการพัฒนาย่าน สถานที่ชุมชน หรือเมือง รวมทั้งกิจกรรมที่ดึงเอกลักษณ์เฉพาะตัว เชื่อมโยงกับเรื่องราวของย่าน ผู้คน หรือธุรกิจดั้งเดิม ผสานกับความคิดสร้างสรรค์หรือนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและพัฒนาให้ตอบโจทย์คนในพื้นที่และผู้มาเยือนในมิติต่าง ๆ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ และความยั่งยืน
1.1 Festival Award
ผลงานที่ได้รับรางวัล: เทศกาลแสงไฟ Awakening Bangkok โดย Time Out Bangkok และกรุงเทพมหานคร
ผู้รับรางวัล: คุณพงศ์สิริ เหตระกูล กรรมการบริหาร Time Out Bangkok
แนวคิดของโครงการ
เทศกาลแสงสีที่รังสรรค์ผลงานโดยศิลปินรุ่นใหม่ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในย่านเมืองเก่าของกรุงเทพฯ เพื่อให้เป็นแลนด์มาร์กสำคัญในช่วงปลายปี พร้อมดึงดูดผู้คนให้ไปถ่ายภาพบรรยากาศที่สร้างสรรค์และงดงามภายในเทศกาล นับเป็นเทศกาลที่สนับสนุน Night-Time Economy โดยช่วยปลุกและฟื้นชีวิตให้ย่านสำคัญของกรุงเทพฯ พร้อมยกระดับสู่การเป็นหนึ่งในเทศกาลเมืองสำคัญในปฏิทินการท่องเที่ยวระดับนานาชาติ
จุดเด่นของโครงการ
มีการผลัดเปลี่ยนศิลปินและพื้นที่ในการจัดแสดงแสง สี เสียงเป็นประจำทุกปี เพื่อพัฒนาคอนเซ็ปต์ที่ไม่ย่ำอยู่กับที่ ศิลปินแต่ละท่านพยายามทำงานที่เชื่อมโยงและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนให้มากที่สุด สำหรับปีล่าสุดซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีการจัดแสดงไฟกว่า 37 ผลงาน ใน 22 สถานที่ทั่วย่านเจริญกรุง-ตลาดน้อย ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Endless Tomorrow: เพื่อพรุ่งนี้และตลอดไป” จุดแสดงตั้งต้นที่อาคารไปรษณีย์กลาง เมื่อเดินไปทางใต้จะพบกับงานที่สะท้อนแนวคิดเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) เดินไปทางเหนือจะพบกับงานที่สะท้อนแนวคิดเรื่องการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด (Living Evidence)
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้าไปจับจ่ายในย่านที่จัดงานได้อย่างคับคั่ง
ผลกระทบทางสังคม
ช่วยให้ย่านที่จัดงานกลายเป็นแลนด์มาร์กสำคัญ โดยมีคนรุ่นใหม่ไปถ่ายภาพและทำคอนเทนต์เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีอิทธิพลทางโซเชียลมีเดียเป็นอย่างยิ่ง
1.2 Branding Award
ผลงานที่ได้รับรางวัล: แหล่งเรียนรู้ ถนนสายไม้ บางโพ โดย ทีมถนนสายไม้ บางโพ (Bangpho Woodstreet) และนักออกแบบรุ่นใหม่
ผู้รับรางวัล: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปริญญ์ เจียรมณีโชติชัย หัวหน้าโครงการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คุณเจนณรงค์ ทาคูมิ ซาก้า ผู้อำนวยการโครงการ Bangpho Woodstreet-The Living Museum และสมาชิกชุมชนประชานฤมิตร
แนวคิดของโครงการ
เปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้เข้าไปเยี่ยมชมถนนสายไม้ บางโพ เพื่อปลุกชีวิตถนนสายไม้ ที่เป็นแหล่งรวมภูมิปัญญาช่างไม้ไทยแห่งสุดท้ายของกรุงเทพฯ บางโพมีธุรกิจเกี่ยวกับไม้มากกว่า 200 ร้านค้า ที่สืบทอดกิจการจากรุ่นสู่ร่นมายาวนานมากกว่า 60 ปี โดยตั้งเป้าให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ และส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) แห่งใหม่ของกรุงเทพฯ
จุดเด่นของโครงการ
ทีมถนนสายไม้ บางโพ (Bangpho Woodstreet) ก่อตั้งขึ้นเพื่อสื่อสารเรื่องราวของถนนสายไม้ บางโพ เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นแหล่งภูมิปัญญาช่างไม้ไทยแห่งสุดท้ายของกรุงเทพฯ นอกจากถนนสายไม้ บางโพ จะเป็นแหล่งรวมร้านค้าไม้และเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงภูมิปัญญาช่างไม้ไทยแล้ว ยังเป็นถนนสายวัฒนธรรมของชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีน ที่ย้ายมาจากบริเวณวัดญวณ สะพานขาว ไปที่ซอยประชานฤมิตรบนถนนสายไม้ บางโพ นอกจากนี้ ยังมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญคือศาลเจ้าแม่ทับทิม ซึ่งเป็นศูนย์รวมการจัดกิจกรรมของสมาชิกในชุมชน ทั้งยังผู้มีความศรัทธาจากภายนอกชุมชนมากราบไหว้บูชาเพื่อความเป็นสิริมงคลเสมอ
ในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 (Bangkok Design Week 2023) ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บางโพยังได้รับคัดเลือกจาก CEA ให้เป็นพื้นที่จัดแสดงหลักภายใต้แนวคิด “ถนนสายไม้ บางโพ” โดยการเปิดรับกลุ่มนักศึกษาหรือผู้ที่สนใจให้เข้าไปเยี่ยมชม เรียนรู้วิถีชีวิต และการทำงานไม้ในพื้นที่อีกด้วย การเข้าร่วมเป็นหนึ่งในพื้นที่จัดงานในเทศกาลฯ ดังกล่าว จึงเป็นการแสดงถึงการปรับตัวของชุมชน เพื่อให้เท่าทันกับวิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไป โดยลุกขึ้นมากำหนดอนาคตและยกระดับถนนสายไม้ บางโพ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ผลกระทบทางสังคม
ปลุกชีวิตถนนสายไม้ บางโพ ให้ผู้คนได้รู้จักมากขึ้น รวมทั้งต่อยอดคุณค่าธุรกิจที่สืบทอดมาอย่างยาวนานได้เป็นอย่างดี
1.3.1 Cultural Asset Award
ผลงานที่ได้รับรางวัล: Phuket Peranakan Festival โดยสมาคมเพอรานากัน แห่งประเทศไทย และจังหวัดภูเก็ต
ผู้รับรางวัล: คุณณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต คุณเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต และคุณสุกัญญา พฤฒิพันธ์ อุปนายกที่ 1 สมาคมเพอรานากันประเทศไทย
แนวคิดของโครงการ
เทศกาลยิ่งใหญ่เทศกาบแรกของจังหวัดภูเก็ต ที่หยิบมรดกวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวภูเก็ต อย่างอาหารพื้นเมือง ชุดพื้นเมืองบาบ๋า ย่าหยา และอาคารแบบชิโนยูโรเปียน มานำเสนอผ่านกิจกรรมในแนวคิด Extravaganza Carnival เพื่อยกระดับงานศิลปวัฒนธรรมพื้นเมืองภูเก็ตสู่ระดับนานาชาติ พร้อมเพิ่มจุดขายให้ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยว ที่ไม่เพียงโดดเด่นเรื่องทิวทัศน์ทางธรรมชาติ แต่ยังนำเสนอวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า
จุดเด่นของโครงการ
มีการปิดถนนเส้นสำคัญเพื่อให้เป็นวอล์กกิงสตรีท พร้อมต้อนรับขบวนแห่ที่มีความยาวกว่า 1.2 กิโลเมตร และมีผู้ร่วมขบวนกว่า 1,000 คน จากความร่วมมือของ 20 องค์กร โดยมีการเชิญครอบครัวเพอรานากันจากหลายประเทศในคาบสมุทรมลายู ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย มาร่วมเดินขบวน พร้อมนำการแสดงวัฒนธรรมเพอรานากันประจำถิ่นของแต่ละชาติในขบวน Carnival ด้วย ระหว่างจัดงานมีการเชิญชวนชาวภูเก็ตในย่านเมืองเก่ารวมถึงนักท่องเที่ยว ให้พร้อมใจกันแต่งกายด้วยชุดบาบ๋า ย่าหยา และประดับธงสัญลักษณ์ทั่วทั้งเมืองเก่าอย่างยิ่งใหญ่ เทศกาลนี้ต้องการเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเชิงศิลปะแบบอินเทอร์แอ็กทีฟ ที่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกสามารถเข้าร่วมกิจกรรมรายวันและทั้งปี ภายในชุมชนเมืองเก่าและแหล่งร้านค้าต่าง ๆ ของภูเก็ต
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
เทศกาลเป็นส่วนหนึ่งในแผนนโยบาย Festival Economy ที่รัฐบาลให้การสนับสนุน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนภูเก็ตมากยิ่งขึ้น และนำพาให้เกิดระบบเศรษฐกิจมูลค่าเพิ่ม หรือ New Ecosystem ในชุมชน
ผลกระทบทางสังคม
ประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมท้องถิ่นของจังหวัดภูเก็ตและวัฒนธรรมเพอรานากันให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
1.3.2 Cultural Asset Award
ผลงานที่ได้รับรางวัล: เยาวเล่น โดยเครือข่ายสาธารณะ (SATARANA) ร่วมกับเครือข่ายนักศึกษา และอาจารย์จากสถาบันการศึกษา 27 สถาบัน
ผู้รับรางวัล: คุณวิภาวี กิตติเธียร คณะกรรมการเครือข่ายสาธารณะ (SATARANA)
แนวคิดของโครงการ
เครือข่ายนักศึกษา อาจารย์ และภาคเอกชน ร่วมกันใช้พลังของการออกแบบในการพัฒนาพื้นที่ย่านไชน่าทาวน์ (Chinatown) ให้กลายเป็นย่านแห่งโอกาส ที่ส่งเสริมเศรษฐกิจและวัฒนธรรมสร้างสรรค์ รวมถึงนำเสนอเรื่องราวอันเป็นความทรงจำของพื้นที่ไชน่าทาวน์ที่มีเสน่ห์และเอกลักษณ์แแห่งนี้ ทั่วทั้งย่านเยาวราช ทรงวาด และสำเพ็ง ผ่านการจัดกิจกรรมพิเศษหลากหลายกิจกรรมที่ล้วนเคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งอดีต โดยโครงการ “เยาวเล่น” เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 ที่จัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2566
จุดเด่นของโครงการ
มี “ถนน คน เล่น” ให้คนเดินเล่น พร้อมชมกิจกรรม Street Performance และศิลปะหลากหลายแขนง ทั้งวงดนตรีสด สตรีทแฟชั่นโชว์ การเชิดสิงโต รำพัด และอื่น ๆ อีกมากมายโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ณ บริเวณ MRT สถานีวัดมังกร
โครงการนำเสนอการแสดงงิ้วจากคณะงิ้วชื่อดังอย่าง “แชลั่งเง็กเล่าชุน”, การจัดแสดงนิทรรศการพิเศษ “Chinese Opera History in Yaowarat” เพื่อบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของงิ้วที่สัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นกับเยาวราชในอดีต ที่โรงเจบุญสมาคม, “ฉาย หน้า ทาวน์” โปรแกรมฉายหนังกลางแปลงและภาพยนตร์หลากหลายรสชาติ ผ่านเนื้อหาที่คัดสรรบนความเชื่อมโยงของชุมชนไทย-จีน ทั้งยังสะท้อนค่านิยม การใช้ชีวิต และแนวคิดของวัฒนธรรมที่มีมาอย่างยาวนาน, “ละครเดินทัวร์” (Theatrical Walking Tour) ที่ชวนทุกคนท่องไปบนถนนเยาวราช ผ่านเส้นทางแห่งความทรงจำ เพื่อทำภารกิจตามหา 6 หญิง จากเพลงอมตะของ “เติ้งลี่จวิน” ราชินีเพลงจีน, กิจกรรม “เติ้งลี่สวิง” ที่ชวนผู้คนมาเต้นสวิงบนถนนเยาวราชไปกับบทเพลงของเติ้งลี่จวิน ฯลฯ
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
ดึงดูดผู้คนเข้าไปจับจ่ายในย่านเยาวราชได้เป็นจำนวนมาก ทุกกิจกรรมที่มีการจำหน่ายบัตรสามารถจำหน่ายบัตรได้หมด ในขณะที่กิจกรรมที่เปิดให้เข้าร่วมฟรโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ก็มีผู้สนใจมาร่วมงานเป็นจำนวนมากเช่นกัน
ผลกระทบทางสังคม
โครงการนำเสนอวัฒนธรรมภายในไชน่าทาวน์ได้อย่างแปลกใหม่และน่าสนใจ กิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดจึงเป็นที่นิยมอย่างยิ่งในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 ทั้งยังมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากหลากหลายกลุ่มและเพศวัย
1.4.1 Regeneration Award
ผลงานที่ได้รับรางวัล: คลองแม่ข่า เชียงใหม่ โดย เทศบาลนครเชียงใหม่
ผู้รับรางวัล: คุณภัฏ ฉิมพาลี ที่ปรึกษานายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เทศบาลเมืองเชียงใหม่
แนวคิดของโครงการ
ปรับภูมิทัศน์คลองแม่ข่า จังหวัดเชียงใหม่ จากคลองน้ำเน่าที่เป็นปัญหาเรื้อรังมายาวนาน ให้กลายเป็นคลองสะอาดและมีภาพลักษณ์ใหม่ ทำให้ชุมชนริมคลองที่เคยซบเซาได้ฟื้นคืนชีวิตอีกครั้ง
จุดเด่นของโครงการ
คลองแม่ข่าตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยอยู่ห่างจากประตูเชียงใหม่หรือประตูท่าแพประมาณ 2 กิโลเมตร คลองแห่งนี้เป็นคลองโบราณสายหนึ่งของเชียงใหม่ เดิมทำหน้าที่เป็นคูเมืองชั้นนอกที่โอบล้อมเมือง เส้นทางสัญจร และทางระบายน้ำล้นลงสู่แม่น้ำปิง น้ำที่ไหลตามคลองแม่ข่านั้นไหลมาจากอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย
เมื่อเวลาผ่านไป เมืองเชียงใหม่มีการขยายเติบโตขึ้น คลองแม่ข่าถูกละเลยให้กลายเป็นคลองที่เน่าเสียสะสมมาเป็นเวลานานและเป็นปัญหาเรื้อรัง ต่อมาจึงมีการปรับปรุงคลองให้สะอาด รวมถึงปรับภูมิทัศน์ให้มีความงดงาม โดยได้เริ่มต้นทำโครงการนำร่องระยะที่ 1 ในช่วงบริเวณสะพานระแกง ระยะทางประมาณ 750 เมตร คลองแม่ข่าจึงกลับมาเป็นลำคลองสายสำคัญที่ผู้คนให้ความสนใจอีกครั้ง
ปัจจุบันริมคลองแม่ข่ากลายเป็นพื้นที่สำหรับเดินเล่นผ่อนคลายและออกกำลังกาย บริเวณริมขอบของแม่น้ำทั้ง 2 ด้านจะก่อด้วยบล็อกคอนกรีต ที่เรียงตัวกันอย่างสวยงามจนคล้ายกับคลองโอตารุในประเทศญี่ปุ่น โดยบริเวณนี้ชาวบ้านจะนำต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็นพืชผักสวนครัว ดอกไม้ต่าง ๆ มาปลูกประดับเพื่อเพิ่มความงดงามให้กับตลอดสองข้างทาง (ต่อมาทางการได้รื้อออกและปลูกดอกดาวกระจายแทน) ทัศนียภาพใหม่นี้ทำให้มีชาวบ้านมาเปิดร้านค้า ตั้งร้านขายของ ทั้งของกิน ของที่ระลึก ประมาณ 30 ร้านค้า นอกจากนี้ ในช่วงเทศกาลลอยกระทงปี 2565 คลองแม่ข่ายังเป็นหนึ่งในสถานที่จัดเทศกาลยี่เป็งเชียงใหม่ โดยมีการประดับโคมไฟล้านนาทั้ง 2 ฝั่งคลองอย่างงดงาม
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
ช่วยสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนริมคลองแม่ข่า
ผลกระทบทางสังคม
ภาพลักษณ์ที่สะอาดและแปลกใหม่ของคลองแม่ข่าที่ได้รับการนำเสนอออกมา ทำให้คลองแห่งนี้กลับมาได้รับความสนใจจากคนเชียงใหม่เป็นจำนวนมากอีกครั้ง ก่อนจะขยายไปยังคนจังหวัดอื่น ๆ ที่เดินทางมาเที่ยวและเดินถ่ายรูปเล่นที่คลองแห่งนี้ โดยทางจังหวัดเชียงใหม่ยังพยายามจัดกิจกรรมต่าง ๆ ภายในพื้นที่แห่งนี้เป็นประจำด้วย
1.4.2 Regeneration Award
ผลงานที่ได้รับรางวัล: Pattani Decoded โดย กลุ่ม Melayu Living
ผู้รับรางวัล: คุณนาดา อินทพันธ์ คณะทำงาน Pattani Decoded และสมาชิกกลุ่ม Melayu Living
แนวคิดของโครงการ
“Pattani Decoded เทศกาลถอดรหัสปัตตานี” หรือเรียกแบบไทย ๆ ได้ว่า “ปัตตานีดีโคตร” เกิดขึ้นเพื่อเปลี่ยนการรับรู้ของสังคมภายนอกให้มีโอกาสรับรู้แง่มุมดี ๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงสร้างบันทึกบทใหม่ให้กับพื้นที่จังหวัดปัตตานี โดยดึงภูมิปัญญาเก่ามาผสานกับยุคสมัยปัจจุบัน เทศกาลนำเสนอโปรแกรมต่าง ๆ ที่บอกเล่าเนื้อหาเกี่ยวกับวรรณกรรม ศิลปะ งานออกแบบ โดยจัดขึ้นบนถนนสายประวัติศาสตร์
จุดเด่นของโครงการ
- เมื่อเอ่ยถึงปัตตานี ภาพส่วนใหญ่ที่คนภายนอกนึกถึง มักเป็นภาพของพื้นที่ที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์ความรุนแรง แต่สำหรับคนในพื้นที่อย่างกลุ่ม Melayu Living แล้ว ปัตตานียังคงมีความงดงามซ่อนอยู่ มีวิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่ที่น่าสนใจ มีงานสร้างสรรค์เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ทั้งยังมีความตื่นตัวเรื่องพื้นที่สร้างสรรค์ ทั้งหมดนี้ล้วนสวนทางกับภาพจำเกี่ยวกับความรุนแรงทั้งสิ้น เทศกาล Pattani Decoded จึงเกิดขึ้นในปี 2562 ภายใต้แนวคิดเทศกาลงานออกแบบและศิลปะในย่านเมืองเก่าปัตตานี
- สำหรับปี 2565 เทศกาลฯ จัดขึ้นในธีมเกลือหวาน อันเป็นของขึ้นชื่ออย่างหนึ่งของปัตตานี และได้ขยายพื้นที่การจัดงานออกไปยังนอกย่านเมืองเก่า เช่น ชวนให้ผู้คนได้ชมความงามของ “ตันหยงลุโละ” ตำบลริมอ่าวที่ขึ้นชื่อเรื่องการทำเกลือหวาน ชื่อตำบลมีความหมายว่า “อ่าวที่มีความระยิบระยับ” โดยมีที่มาจากการที่นักเดินเรือในอดีตแลเห็นความระยิบระยับบนฝั่งมาแต่ไกล ต้นตอของประกายวิบวับนั้นก็คือเกลือหวานที่กองอยู่บนนาเกลือนั่นเอง
- นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมอื่น ๆ ที่หลากหลาย เช่น นิทรรศการ The Old Man and the Sea Salt ซึ่งเป็นการจัดแสดงภาพถ่ายโดยสตูดิโอฤาดี นิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของชายสูงวัยทั้ง 7 คน ที่ผูกพันกับเกลือหวานมาทั้งชีวิต, กิจกรรมย้อมผ้าโปร่ง ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากผ้า 2 ชนิด 2 วัฒนธรรมในเมืองปัตตานี ได้แก่ ผ้าคลุมผมโปร่งบางของสตรีมุสลิม กับม่านปักลายฉลุตามบ้านผู้คนในชุมชนจีน นับเป็นการผสมผสานวัฒนธรรมชาวมลายูและชาวจีนในพื้นที่เข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน รวมถึงกิจกรรมชวนชมศิลปะการซ่อมพระจีนบนถนนปัตตานีภิรมย์
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
ช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับผู้คนในจังหวัดปัตตานี
ผลกระทบทางสังคม
เชิดชูวัฒนธรรมภายในจังหวัดปัตตานีให้เป็นที่รู้จัก และเปลี่ยนการรับรู้ต่อจังหวัดว่าไม่ได้มีเพียงเหตุการณ์ความรุนแรงอย่างที่คนภายนอกจดจำรับรู้
1.5.1 Advocacy Award
ผลงานที่ได้รับรางวัล: จริงใจ Farmers Market เชียงใหม่ โดย บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด
ผู้รับรางวัล: คุณอ้อมขวัญ สาณะเสน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจและอสังหาริมทรัพย์จังหวัดเชียงใหม่และโครงการงานศิลป์
แนวคิดของโครงการ
ตลาดผักเกษตรอินทรีย์และปลอดภัยแห่งแรกของกลุ่มเซ็นทรัล ในย่านจริงใจเซ็นทรัล Creative District จังหวัดเชียงใหม่ ภายในตลาดแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ อาหาร ศิลปะกับงานออกแบบ และงานฝีมือ ตลาดสีเขียวแห่งนี้เน้นการสร้างความสุขอย่างยั่งยืนทั้งแก่ผู้คนในชุมชนและนักท่องเที่ยว เปิดให้บริการทุกวัน นอกจากนี้ตลาดยังเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรนำผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์จากสวนมาจำหน่ายด้วยตนเอง และรณรงค์ให้ลดการใช้โฟมและพลาสติก 100%
จุดเด่นของโครงการ
- “จริงใจ Farmers Market เชียงใหม่” ออกแบบมาเพื่อเป็นพื้นที่แห่งแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์ รายล้อมด้วยพันธ์ุไม้นานาพันธุ์ที่สร้างความร่มรื่นให้แก่พื้นที่ ตลาดแห่งนี้ประกอบด้วยหลากหลายร้านค้า ทั้งคาเฟ่และร้านอาหารโฮมเมดที่เน้นใช้วัตถุดิบท้องถิ่น พืชผักตามฤดูกาล ผักผลไม้ออร์แกนิกและปลอดภัย ทั้งยังเป็นพื้นที่แห่งการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องงานฝีมือ งานอดิเรกต่าง ๆ โดยสนับสนุนผู้ที่มีความสามารถด้านงานประดิษฐ์ รวมถึงการจำหน่ายสินค้าที่ทำด้วยมือ นำเสนอด้วยใจ ผลิตภัณฑ์จากชุมชนที่ออกแบบโดยช่างฝีมือหรือดีไซเนอร์ท้องถิ่น เพื่อให้เกิดเป็นคอมมิวนิตี้ของผู้มีใจรักด้านงานคราฟต์
- กลุ่มเซ็นทรัลได้เข้ามาพัฒนาพื้นที่เดิมของ “จริงใจ Farmers Market เชียงใหม่” ให้ขยายเป็น “จริงใจเซ็นทรัล Creative District” ตลาดเป็นที่นิยมเรื่อยมา โดยตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2565 - กลางเดือนมีนาคม ปี 2566 ได้เชิญชวนนักท่องเที่ยวให้มาเยือนตลาดได้กว่า 820,000 ราย สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้เศรษฐกิจไทยกว่า 40 ล้านบาทต่อปี
- “จริงใจ Farmers Market เชียงใหม่” ยังต้องการปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเป็นตลาดปลอดโฟม (No Foam 100%) รณรงค์ให้ลูกค้านำกระเป๋าผ้ามาใส่สินค้าเพื่อลดขยะพลาสติก มีจุดตั้งถังขยะแยกประเภท เพื่อส่งต่อไปจัดการขยะที่ถูกต้องได้ง่ายขึ้น ตามเป้าหมายโครงการ Journey to Zero มีการติดตั้งเครื่อง Cowtec เมื่อปี 2565 เพื่อนำเศษอาหารมาทำเป็นปุ๋ยและก๊าซชีวภาพให้ชุมชนภายในตลาดใช้ ปัจจุบันตลาดสามารถลดขยะอาหารไปสู่หลุมฝังกลบได้กว่า 43,000 กิโลกรัม และยังมีการปูพื้นถนนบางส่วนด้วยบล็อกปูถนนรีไซเคิลจากถุงพลาสติก
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
เป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการในท้องที่ให้มีรายได้ที่ยั่งยืน ทั้งยังสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้เศรษฐกิจไทยกว่า 40 ล้านบาทต่อปี
ผลกระทบทางสังคม
เป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กที่คนเชียงใหม่และนักท่องเที่ยวต่างต้องการไปเยือน
ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
มีส่วนปลูกจิตสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อม และเป็นโมเดลการทำตลาดแบบยั่งยืน
1.5.2 Advocacy Award
ผลงานที่ได้รับรางวัล: ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก โดย บริษัท เจ้าพระยา ดีเวล๊อปเมนต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
ผู้รับรางวัล: คุณลินดา เชง กรรมการผู้จัดการ ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก บริษัท เจ้าพระยา ดีเวล๊อปเมนต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
แนวคิดของโครงการ
เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองศิลปะ โดย ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก เป็นศูนย์รวมศิลปะและแอนทีก ที่เหล่าอาร์ตเลิฟเวอร์และนักสะสมสามารถมาสำรวจแกลเลอรี ชมนิทรรศการระดับนานาชาติ พบปะกับศิลปิน เข้าร่วมการสนทนา ชมภาพยนตร์ ประมูลชิ้นงานแอนทีก เพลิดเพลินไปกับดนตรี ตลอดจนเรียนรู้คุณค่าของงานศิลปะไทยร่วมสมัย
จุดเด่นของโครงการ
จัดนิทรรศการศิลปะและกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจมากมาย ซึ่งล้วนเปิดโอกาสให้ผู้ที่หลงใหลงานศิลปะไทยร่วมสมัยได้ดื่มด่ำกับงานศิลปะมากขึ้นและหลากหลายยิ่งขึ้น ตัวอย่างงานน่าสนใจที่เคยจัดขึ้นที่นี่ ได้แก่
- Van Gogh: Life and Art นิทรรศการมัลติมีเดียของวินเซนต์ แวนโก๊ะ หนึ่งในศิลปินผู้โด่งดังและมีอิทธิพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก
- Homecoming พาใจกลับบ้าน นิทรรศการศิลปะเชิงประสบการณ์ x สุขภาพจิต
- นิทรรศการน้องมะม่วง โดย วิสุทธิ์ พรนิมิตร
- นิทรรศการ Cocoon: Lost and Found โดย ปาน-สมนึก คลังนอก
- การฉายภาพยนตร์ชีวประวัติ Picasso หนึ่งในศิลปินระดับโลกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล
- She’s Too Much นิทรรศการเดี่ยวครั้งที่ 5 ของศิลปินสาว Juli Baker and Summer
- Mango Art Festival หรืองานเทศกาลศิลปะมะม่วง เทศกาลศิลปะที่หลากหลาย ร้อนแรง มีสีสันและเปี่ยมชีวิตชีวาที่สุดในประเทศไทย
นอกจากนี้ ภายใน ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ยังเต็มไปด้วยแกลเลอรีที่จัดแสดงงานศิลปะหลากหลายชนิด ตั้งแต่ศิลปะโบราณจนถึงศิลปะร่วมสมัยทั้งจากประเทศไทยและต่างประเทศ รวมถึงให้บริการการท่องเที่ยวที่มอบประสบการณ์ไม่เหมือนใคร นั่นคือ Big Country Experience Thailand โดยบริษัททัวร์มินิบัสเปี่ยมประสบการณ์ ซึ่งพานักท่องเที่ยวเดินทางไปยังสถานที่สำคัญในประเทศไทยมามากกว่า 20 ปี
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
เป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเมืองไทยได้เป็นอย่างดี
ผลกระทบทางสังคม
เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองศิลปะ
1.5.3 Advocacy Award
ผลงานที่ได้รับรางวัล: โรงสีแดง หับ โห้ หิ้น จังหวัดสงขลา โดย ภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม
ผู้รับรางวัล: คุณรังษี รัตนปราการ นายกภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม
แนวคิดของโครงการ
ตัวอาคารสีแดงสะดุดตาในย่านเมืองเก่า สงขลา ที่เกิดจากการอนุรักษ์และปรับปรุงโรงสีข้าวโบราณอายุ 100 กว่าปี ให้กลายเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวสงขลา
จุดเด่นของโครงการ
เมื่อปี 2457 รองอำมาตย์ตรีขุนราชกิจการี (จุ่น เลี่ยง ลิ้มเสาวพฤกษ์) เปิดกิจการโรงสีข้าว ที่ถนน นครนอก ริมทะเลสาบสงขลา ชื่อโรงสี "หับ โห้ หิ้น" เป็นภาษาจีนฮกเกี้ยน แปลว่า เอกภาพ ความกลมกลืน และความเจริญรุ่งเรือง ผู้คนเรียกว่าโรงสีแดง เพราะอาคารทั้งหลังทาด้วยสีแดง ช่วงเริ่มกิจการเป็นโรงสีข้าวขนาดเล็ก จากนั้นจึงค่อย ๆ ขยายกิจการจนรุ่งเรืองใหญ่โต เวลาผ่านมากว่า 100 ปี โรงสีแดงยังคงตั้งตระหง่านเป็นสัญลักษณ์ของเมืองสงขลา เพราะทายาทรุ่นหลังของตระกูลได้ช่วยกันทำนุบำรุงอาคารโรงสี ซ่อมแซมโครงสร้างและส่วนประกอบของอาคาร ตลอดจนทาสีภายนอกอาคารอย่างสม่ำเสมอ ทำให้สภาพอาคารและปล่องไฟโรงสีแดงยังคงความสมบูรณ์อยู่ในสภาพเดิม โรงสีแห่งนี้สามารถรักษาคุณค่าทางสถาปัตยกรรมไว้ได้เป็นอย่างดี จนได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี 2554 ประเภทอาคารพาณิชย์ จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ปัจจุบัน รังสี รัตนปราการ เจ้าของโรงสีแดงรุ่นที่ 3 และประธานภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย ในการพัฒนาโรงสีแดงให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต เป็นอุทยานการเรียนรู้นครสงขลา และเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน
ผลกระทบทางสังคม
โรงสีแดงแห่งนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทำให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเดินทางมาเที่ยวชมกันไม่ขาดสาย ตัวอาคารยังคงอนุรักษ์โครงสร้างแบบเดิมไว้ เพื่อเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความรุ่งเรืองในอดีต
Creative Excellence Awards 2023:
ประเภท Creative Business Awards
2. Creative Business Awards แบ่งเป็น 2 กลุ่ม จำนวน 6 รางวัล 12 ผลงาน
กลุ่มที่ 1: Sustainability Awards รางวัลสำหรับผลิตภัณฑ์หรือบริการหรือโครงการ ที่ให้ความสำคัญกับการออกแบบหรือกระบวนการผลิตที่เน้นความยั่งยืนและคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยนำความคิดสร้างสรรค์มาใช้เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืน
กลุ่มที่ 2: Value Creation Awards รางวัลของการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างคุณค่าเพิ่มในเชิงธุรกิจ ผ่านผลิตภัณฑ์หรือบริการ หรือโครงการ โดยเป็นการผสมผสานระหว่างมิติทางเศรษฐกิจและมิติความยั่งยืนอย่างลงตัว
กลุ่มที่ 1: Sustainability Awards
2.1 Sustainable Product Award (For Large Organization)
ผลงานที่ได้รับรางวัล: ดอยคำ ICE POP โดย บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด
ผู้รับรางวัล: คุณพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด
แนวคิดของโครงการ
จากบริษัทผู้ผลิตน้ำผลไม้ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ได้ขยายธุรกิจมาบุกตลาดไอศกรีมเป็นครั้งแรกด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ “ICE POP” ที่มาในรูปแบบไอศกรีมผลไม้แท้รูปแบบใหม่ อร่อยง่าย เก็บสะดวก เก็บได้แม้ในอุณหภูมิห้อง ภายใต้สโลแกน “FREEZE ความสุข POP ความสดชื่น”
จุดเด่นของโครงการ
- ใช้วัตถุดิบที่เป็นผลไม้แท้จากสวนของเกษตรกรไทย ซึ่งดอยคำคัดสรรคุณภาพแบบลูกต่อลูก
- มี 3 รสชาติที่ลงตัว ได้แก่ “บ๊วยไม่บ๊วย” เครื่องดื่มหวานเย็นบ๊วยผสมน้ำผึ้งและมะนาว “สตรอว์เบอร์รีทูนหัว” เครื่องดื่มหวานเย็นสตรอว์เบอร์รี และ “มะม่วงฮักเสาวรส” เครื่องดื่มหวานเย็นมะม่วงผสมเสาวรส
- ดอยคำโปรโมตวิธีรับประทานแบบ “แช่ ฉีก ป๊อป” แช่ฟรีซในช่องทำน้ำแข็ง ฉีกซองรับความอร่อย และป๊อป เนื่องมาจากการใช้บรรจุภัณฑ์ใหม่ที่ทำให้สามารถวางขายได้ในอุณหภูมิห้อง
- ดอยคำ เป็นแบรนด์น้ำผลไม้แบรนด์แรกของโลกและแบรนด์เดียวในไทย ที่ใช้นวัตกรรมการผลิต เครื่องบรรจุและบรรจุภัณฑ์รุ่น Tetra Fino® Aseptic ที่ช่วยรักษาอุณหภูมิสินค้าโดยไม่ใช้วัตถุกันเสีย ทั้งยังจัดจำหน่ายในรูปแบบอุณหภูมิห้อง ง่ายต่อการบริหารจัดการด้านการขนส่ง จึงช่วยลดการใช้พลังงาน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
- บรรจุภัณฑ์ของเต็ดตรา แพ้ค ที่ใช้บรรจุ ICE POP ยังผลิตจากกระดาษจากป่าปลูกเชิงพาณิชย์ ซึ่งผ่านการรับรองจากองค์การจัดการด้านป่าไม้ โดยสังเกตได้จากฉลาก FSC (ย่อมาจาก Forest Stewardship Council) บนบรรจุภัณฑ์ ที่มีบทบาทในการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
เป็นการสนับสนุนผลิตผลจากเกษตรกรไทย
ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
การที่สินค้าใช้บรรจุภัณฑ์ที่เอื้อต่อการจำหน่ายในอุณหภูมิปกติ จึงช่วยลดการใช้พลังงานจากการขนส่งไอศกรีมแบบปกติที่ต้องแช่เย็นตั้งแต่สถานที่ผลิตมาจนถึงร้านค้า นำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ
2.2.1 Sustainable Product Award (For SME & Community)
ผลงานที่ได้รับรางวัล: Moreloop โดย คุณอมรพล หุวะนันทน์ คุณธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์ และ คุณกมลนาถ องค์วรรณดี
ผู้รับรางวัล: คุณอมรพล หุวะนันทน์ และ คุณธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์ CEO และ Co-Founder บริษัท มอร์ลูป จำกัด
แนวคิดของโครงการ
Moreloop คือธุรกิจที่มุ่งมั่นสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ระบบเศรษฐกิจที่มีแนวคิดหมุนเวียนใช้ทรัพยากรเพื่อความยั่งยืน ภายใต้สโลแกน “Make Circular Economy a Reality” ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ที่นำผ้าส่วนเกินจากโรงงานมาส่งถึงมือลูกค้า เพื่อตอบโจทย์โรงงานที่มีสต็อกผ้าค้างในโกดังและคนซื้อ อย่างนักออกแบบรุ่นใหม่ที่ต้องการผ้าคุณภาพดีไปใช้ในปริมาณไม่มาก
จุดเด่นของโครงการ
- Moreloop เลือกเข้าไปแก้ปัญหาผ้าเหลือจากการผลิตของโรงงานในอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษให้โลกเป็นอันดับที่ 2 รองจากการผลิตน้ำมัน โดยใช้วิธีสร้างการตลาดออนไลน์เพื่อหมุนเวียนผ้าคุณภาพที่คงเหลือเหล่านี้สู่ลูกค้าที่ต้องการ โดยเรียกผ้าที่ขายว่า Surplus Fabric หมายถึงผ้าที่เกินจากการผลิตจริง ๆ
- Moreloop จำหน่ายผ้าโดยให้มูลค่า นั่นคือเมื่อโรงงานต้องการจำหน่ายผ้าชนิดใด ก็จะส่งตัวอย่างพร้อมรายละเอียดมายัง Moreloop จากนั้น Moreloop จะถ่ายภาพ อัปโหลดขึ้นเว็บไซต์ และกรองลูกค้าให้ จึงเป็นการนำวัตถุดิบคุณภาพดีที่มีจำนวนน้อยมาจำหน่ายในราคาที่ไม่ใช่ราคาผ้าของเหลือ ซึ่งประโยชน์ก็จะกลับสู่ผู้ผลิต
- ทางด้านผู้ซื้อ ธุรกิจรายย่อยไม่มีกำลังสั่งในการผลิตผ้าเองหรือสั่งออเดอร์ขั้นต่ำที่ต้องการปริมาณมากจากโรงงาน ขณะที่การไปซื้อผ้าแบบขายปลีกจากตลาดผ้าสำเร็จรูปก็อาจมีปัญหา เพราะไม่ได้บอกส่วนประกอบของเส้นใยหรือที่มา ซึ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่นำมาใช้เป็นมาตรฐานในการผลิตได้ ทำให้นักออกแบบทำงานยาก และอาจส่งผลต่อกระบวนการนำไปรีไซเคิลในตอนท้ายด้วย
- การที่ Moreloop จำหน่ายผ้าที่มีคุณภาพ ให้ข้อมูลองค์ประกอบผ้าครบ ได้มาตรฐาน จะช่วยให้ผู้ประกอบการรายเล็ก ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ หรือผู้ที่เห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านี้ ได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ นอกจากเรื่องการแจ้งองค์ประกอบผ้า Moreloop ยังให้คำปรึกษา เช่น บางคนไม่รู้ว่าผ้าตัวไหนใช้ทำอะไรได้ มีการเปลี่ยนหน่วยผ้าจากกิโลกรัมเป็นหลาให้ ส่งตัวอย่างผ้าให้ดูได้ รวมถึงคำนวณให้ได้ว่าจะลดการปล่อยคาร์บอนได้เท่าไร
- เป้าหมายสูงสุดของ Moreloop คือการทำเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นได้จริง
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
เป็นโมเดลสำคัญที่มีส่วนในการผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นได้จริง ทั้งยังช่วยส่งเสริมให้คนทำธุรกิจรายย่อยสามารถเข้าถึงวัตถุดิบที่ต้องการได้มากขึ้น
ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
ช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิตผ้าใหม่ได้อย่างเป็นรูปธรรม
2.2.2 Sustainability Product Award (For SME & Community)
ผลงานที่ได้รับรางวัล: Care Choice โดย บริษัท ด.เด็กกินผัก จำกัด
ผู้รับรางวัล: คุณกิตติมา ทองเกตุ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ด.เด็กกินผัก จำกัด
แนวคิดของโครงการ
Care Choice คือแบรนด์ผงปรุงรสจากผักปลอดสารผสมวัตถุดิบธรรมชาติและอาหารเสริมเด็ก รวมกว่า 80 ผลิตภัณฑ์ ที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเรื่องเศษอาหาร และสารเคมีสังเคราะห์เสริมรสอาหารจากกระบวนการอุตสาหกรรม ซึ่งหากสะสมมาก ๆ จะส่งผลเสียต่อร่างกาย
จุดเด่นของโครงการ
- Care Choice เป็นแบรนด์ลูกของ บริษัท ด.เด็กกินผัก จำกัด ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการจัดหาสินค้าเกษตรประเภทผักและผลไม้สด ทั้งผักปลอดสารเคมี (Pesticide Residue Free) และผักอินทรีย์ (Organic) ป้อนให้กับกลุ่มภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ร้านอาหารทั่วไป ร้านอาหารในรูปแบบ Chain Restaurant โรงแรม รวมถึงค้าปลีกอย่างซูเปอร์มาร์เก็ต
- การทำธุรกิจจัดหาสินค้าเกษตรประเภทผักและผลไม้สดของบริษัท ด.เด็กกินผัก จำกัด ทำให้พบว่าแต่ละวันมีผักและผลไม้ที่สด คุณภาพดี สมบูรณ์ แต่อาจจะมีตำหนิ ไม่สวยงามผ่านเกณฑ์การคัดเลือกประมาณ 20% ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ปริมาณของผลผลิตที่ถูกคัดทิ้งนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาสินค้านวัตกรรมอย่าง “ผักอบแห้ง” และ “ผงผัก” ในชื่อ Care Choice
- ผลิตภัณฑ์ของ Care Choice เป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ใส่ใจการดูแลสุขภาพ ภายใต้สโลแกน “อร่อย เราสบายใจ ไร้ผงชูรส” Care Choice = อร่อย สุขภาพดี ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากรสอูมามิของญี่ปุ่น มีการให้ข้อมูลและความรู้บนฉลากโภชนาการ เช่น ส่วนประกอบอย่างผักหรือปลาชนิดต่าง ๆ ผลิตภัณฑ์ไม่มีการแต่งเติมสารเคมี และลดโซเดียมลงจากผงปรุงรสทั่วไปมากที่สุดถึง 85%
- Care Choice รับซื้อผักสดจากชาวสวนในจังหวัดราชบุรีและใกล้เคียง ทั้งยังใช้ผักสดที่ตกค้างจากกระบวนการคัดหรือตัดแต่งจากโรงงาน ผลิตภัณฑ์จาก Care Choice มีรสชาติที่หลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการในการปรุงอาหารให้อร่อยสำหรับทุกคนในครอบครัว และยังมีการส่งออกไปจำหน่ายในหลายประเทศ
ผลกระทบทางสังคม
ผลิตภัณฑ์ของ Care Choice ไม่มีการแต่งเติมสารเคมี และลดโซเดียมลงจากผงปรุงรสทั่วไปมากที่สุดถึง 85% ส่งผลดีต่อสุขภาพ และมีส่วนช่วยลดการเกิดโรคต่าง ๆ ของผู้บริโภคได้
ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
สามารถลดขยะที่เกิดจากการคัดเลือกผักประมาณ 20% ของวัตถุดิบทั้งหมดได้
2.3.1 Sustainability Project Award (For Large Organization)
ผลงานที่ได้รับรางวัล: โครงการ เชฟชุมชนชวนกินถิ่นระยอง (ฮิ) โดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ร่วมกับ เชฟชุมพล แจ้งไพร
ผู้รับรางวัล: ดร. ชญาน์ จันทวสุ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
แนวคิดของโครงการ
โครงการ “เชฟชุมชนชวนกินถิ่นระยอง (ฮิ)” เป็นความร่วมมือระหว่าง GC และเชฟชุมพล แจ้งไพร เชฟกระทะเหล็ก แชมเปี้ยนอาหารไทย โดยให้เชฟชุมพลช่วยออกแบบเมนูประจำถิ่นระยองขึ้นใหม่ 10 เมนู และใช้วัตถุดิบท้องถิ่นในระยองมาเป็นส่วนประกอบสำคัญ โครงการมีเป้าหมายในการอนุรักษ์อาหารถิ่นของระยองที่เริ่มจะจางหายไปตามกาลเวลา ทั้งยังมีการพัฒนาการเรียนการสอนวิชาอาหารถิ่นและสร้างแหล่งเรียนรู้ โดยใช้ “ศูนย์การเรียนรู้อาหารถิ่นระยอง ร้านใบชะมวง” เพื่อเป็นสถานที่เรียนรู้สำหรับนักศึกษาอาชีวะในจังหวัดด้วย
จุดเด่นของโครงการ
- แกงหมูชะมวงเป็นเมนูพื้นถิ่นของคนระยอง ที่ปัจจุบันมีร้านที่ทำได้อร่อยน่ารับประทานน้อยลง GC จึงร่วมมือกับเชฟกระทะเหล็ก แชมเปี้ยนอาหารไทย อย่างเชฟชุมพล แจ้งไพร มาร่วมพัฒนาเมนู ภายใต้โครงการ “เชฟชุมพล สร้างเชฟชุมชน by GC”
- เชพชุมพลได้คัดเลือก 8 เชฟชุมชนที่นำเสนอ 8 Signature Dishes จากวัตถุดิบที่เป็นอัตลักษณ์ของระยอง ได้แก่ แกงหมูชะมวง (รางวัลชนะเลิศ), ยำสัมพันธ์ 5 สหาย, ซี่โครงหมูราย็องซอสชะมวงฮิ, เส้นหมี่น้ำแดงโบราณ, แกงคั่ว เลพลา ฮิ, กุ้งทอดซอสใบชะมวง, ยำผักกระชับทอดกรอบ และแกงส้มปูไข่หน่อไม้ดองผักกระชับ ซึ่งเชฟทั้ง 8 ท่านจะได้รับความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจร้านอาหาร เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์อาหารไทย ให้ดำรงอยู่อย่างทรงคุณค่าและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
- ต่อมา GC ได้ต่อยอดความสำเร็จของโครงการ “เชฟชุมพล สร้างเชฟชุมชน by GC” มาสู่โครงการ “เชฟชุมชนชวนกินถิ่นระยอง (ฮิ)” ในปี 2561 เพื่อเผยแพร่สูตรอาหาร “เมนูอร่อยนี้ ที่ระยอง by เชฟชุมพล” ให้กับชาวระยอง เพื่อนำไปประกอบอาชีพและเกิดการกระจายรายได้ในการจับจ่ายวัตถุดิบพื้นถิ่น
- นอกจากนี้ โครงการยังได้จัดทำ Rayong Guide Brochure เชฟชุมชนชวนกินถิ่นระยอง (ฮิ) ซึ่งเป็นแผนที่แสดงเส้นทางการท่องเที่ยวในจังหวัดระยองที่น่าสนใจ โดยเชื่อมโยงกับร้านอาหารของทั้ง 8 เชฟชุมชน เพื่อประชาสัมพันธ์เส้นทางการท่องเที่ยวตามรอยอาหารถิ่นที่พลาดไม่ได้
- เพื่อให้ “โครงการเชฟชุมชนชวนกินถิ่นระยอง (ฮิ)” และการอนุรักษ์วัตถุดิบพื้นถิ่นของระยองมีความต่อเนื่องและยั่งยืน GC จึงได้ร่วมกับศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จังหวัดระยอง วิทยาลัยเทคนิคระยอง และโรงเรียนการอาหารไทย เอ็มเอสซี พัฒนา “การเรียนการสอนรายวิชาอาหารถิ่นจังหวัดระยอง” ให้กับนักศึกษาระดับชั้น ปวช. และ ปวส. แผนกอาหารและโภชนาการ คณะคหกรรมศาสตร์ วิทยาลัยเทคนิคระยอง
- พร้อมกันนี้ GC ยังได้ปรับปรุง “ศูนย์การเรียนรู้อาหารถิ่นระยอง ร้านใบชะมวง” เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้รูปแบบการศึกษาทวิภาคี เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ฝึกงานอย่างมืออาชีพ และสร้างรายได้กลับคืนสู่การพัฒนาแผนกวิชาอาหารและโภชนาการ วิทยาลัยเทคนิคระยอง
- อาจารย์และนักศึกษาได้นำความรู้จากการได้รับการพัฒนาจากวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร ที่ GC ให้การสนับสนุนองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง มารังสรรค์ผลงานเมนู “โครเก็ตพะแนงแพลนท์เบส” เข้าประกวดในโครงการ APEC Future Food for Sustainability ทั้งนี้ ได้รับการคัดเลือกเป็น 21 ทีมสุดท้ายในการเป็นตัวแทนประเทศไทย ในการนำเสนอเมนูอาหารแห่งอนาคต Plate to Planet จานนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม ให้กับ 21 ผู้นำเขตเศรษฐกิจและสื่อมวลชนที่มาเข้าร่วมประชุม APEC 2022
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
ทำให้เกิดการสร้างงาน อาชีพ และรายได้เพิ่มให้กับชุมชนในจังหวัดระยอง ทำให้ระยองเป็นอีกจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว ที่นอกจากจะมีทะเลและหาดทรายที่ขาวสะอาดแล้ว ยังมีอาหารที่หลากหลาย อร่อย และรสชาติดีอีกด้วย
ผลกระทบทางสังคม
ช่วยอนุรักษ์อาหารถิ่นหลายชนิดของระยองที่เริ่มจะจางหายไปตามกาลเวลา
2.3.2 Sustainability Project Award (For Large Organization)
ผลงานที่ได้รับรางวัล: โครงการ reBOX #4 โดย บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP
ผู้รับรางวัล: ดร. วราภรณ์ ข้องเกี่ยวพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานกลยุทธ์และการขับเคลื่อนองค์กร บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และ คุณเอกราช นิโรจน์ Enterprise Marketing Director บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP
แนวคิดของโครงการ
บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ร่วมกับ บริษัท เอสซีจี แพ็คเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เดินหน้าต่อยอดโครงการ reBOX #4 ภายใต้แนวคิด “กล่องรักที่สัมผัสได้” เชิญชวนคนไทยมาร่วมส่งคืนกล่อง-ซองไม่ใช้แล้ว เพื่อรีไซเคิลและสร้างประโยชน์ใหม่สู่คนพิการ
จุดเด่นของโครงการ
- โปรเจ็กต์ reBOX โดย บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ที่ร่วมกับ บริษัท เอสซีจี แพ็คเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP จัดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2563 และดำเนินมาอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยมีเป้าหมายเพื่อรับคืนกล่อง-ซอง พัสดุ เพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี และนำไปใช้สำหรับสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ
- ข้อมูลสถิติการดำเนินโครงการตลอด 3 ปี ระหว่างปี 2563 - 2565 พบว่าสามารถส่งคืนกล่อง-ซองเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี ได้ถึง 400,000 กิโลกรัม โดยสามารถรีไซเคิลเป็นชุดโต๊ะ-เก้าอี้ ส่งให้โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนทั่วประเทศ จำนวนกว่า 224 ชุด เตียงสนามกระดาษส่งมอบให้โรงพยาบาลสนามต่าง ๆ ทั่วประเทศในช่วงวิกฤตการระบาดของโควิด-19 รวมถึงกล่อง BOX บุญ สำหรับบรรจุหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ จำนวน 407,300 ชิ้น ที่ส่งมอบแก่โรงพยาบาลที่ขาดแคลน
- สำหรับปี 2566 โครงการ reBOX #4 เกิดขึ้นภายใต้แนวคิด “กล่องรักที่สัมผัสได้” เปลี่ยนกล่องเก่าเป็นกล่องใหม่ สร้างประโยชน์ต่อไปไม่รู้จบ โดยเปิดรับและรวบรวมกล่อง-ซองที่ไม่ใช้แล้ว เพื่อส่งให้ SCGP รีไซเคิลเป็นกล่อง BOX บุญ และส่งมอบให้หน่วยงานคนพิการต่าง ๆ สำหรับนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป เช่น สภากาชาดไทย มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย สมาคมคนสายตาเลือนรางแห่งประเทศไทย สมาคมประชาคมคนตาบอดไทย ฯลฯ
- บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด มีเป้าหมายในการลดคาร์บอนฟุตพรินต์ในธุรกิจขนส่งอย่างต่อเนื่อง และมุ่งมั่นในการก้าวสู่ “Trendsetter” ด้านการจัดการขยะที่เกิดจากภาคอีคอมเมิร์ซ ซึ่งโครงการ reBOX นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
ผลกระทบทางสังคม
นำวัสดุเหลือใช้จากอีคอมเมิร์ซไปสร้างประโยชน์ให้หลายภาคส่วน ทั้งตำรวจตระเวนชายแดน โรงพยาบาล รวมถึงผู้พิการในสังคม
ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
ประสบความสำเร็จในฐานะเป็นต้นแบบการลดขยะจากอีคอมเมิร์ซได้เป็นจำนวนมาก
2.4.1 Sustainable Project Award (For SME & Community)
ผลงานที่ได้รับรางวัล: NAMSAI โดย คุณดาธิณี ตามเพิ่ม (ครูเต้ย) และ ชาวชุมชนบ้านหนองน้ำใส อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ผู้รับรางวัล: คุณดาธิณี ตามเพิ่ม ครู กศน. ตำบลหนองน้ำใส ผู้คิดค้น และ คุณจิดาภา สินปรีดี ประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปจากตอซังข้าว ตำบลหนองน้ำใส อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
แนวคิดของโครงการ
คราฟต์เบียร์ตอซังข้าวแบรนด์ NAMSAI หรือน้ำใส เบียร์ทำมือของชุมชนตำบลหนองน้ำใส ที่ใช้วัตถุดิบคือ “ตอซังข้าว” ในท้องทุ่งนาอำเภอภาชีมาเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต พร้อมช่วยแก้ปัญหาการเผานาที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่าง PM 2.5 ทั้งยังสร้างมูลค่าให้กับตอซังข้าวที่เคยเป็นสิ่งที่ไร้ค่าและสร้างปัญหาในชุมชน
จุดเด่นของโครงการ
- คราฟต์เบียร์ NAMSAI ได้จากการคั่วตอซังขาวจนหอมและนำมาต้มเพื่อเปลี่ยนแป้งให้เป็นน้ำตาล จนเกิดเป็นกลิ่นที่มีเอกลักษณ์ หมักบ่มจนไปสู่รสชาติที่ชัดเจนและมีเอกลักษณ์ เน้นความสดชื่นและบอดี้ไม่หนัก เพราะออกแบบมาให้มีรสชาติที่เหมาะกับทุกคนและอากาศในประเทศไทย
- ตอซังข้าวคือตอของต้นข้าวที่เก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว โดยปกติส่วนใหญ่จะถูกทิ้งแห้งไว้กับผืนนารอวันเผาและไถกลบเพื่อรอฤดูกาลใหม่ กระบวนการเผานี้เองที่สร้างปัญหา PM 2.5 เป็นอย่างมาก
- เป้าหมายของการทำคราฟต์เบียร์คือช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม สร้างรายได้ให้กับชุมชน ทุกวันนี้ครูเต้ยจะใช้วิธีให้ทีมงานไปเก็บตอซังข้าวจากชาวนา โดยชาวนาจะได้รับเงินเป็นค่าตอบแทนไร่ละ 1 พันบาท แล้วจากนั้นแม่บ้านก็จะมาช่วยกันต้มเบียร์ขายเพื่อสร้างรายได้กัน
- หลังจากที่แบรนด์ NAMSAI ได้ถูกเผยโฉมในเพจ กศน. ตำบลหนองน้ำใส อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพียงไม่กี่วัน ก็ได้รับกระแสตอบรับที่ดีอย่างท่วมท้น เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดแนวคิดที่ว่าต้องการช่วยชุมชน และมีผู้ประกอบการเป็นจำนวนมากขอให้ครูเต้ยไปเป็นที่ปรึกษา พร้อมออกทุนให้ผลิตเบียร์สำหรับจัดจำหน่ายอีกด้วย
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้านในชุมชน
ผลกระทบทางสังคม
ทำให้เกิดความร่วมมือร่วมใจกันและสร้างความแข็งแกร่งของผู้คนในชุมชน
ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
นับเป็นอีกหนึ่งวิธีจัดการตอซังข้าวอย่างชาญฉลาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการเผาที่นำมาสู่ปัญหา PM 2.5 ได้
2.4.2 Sustainability Project Award (For SME & Community)
ผลงานที่ได้รับรางวัล: ดอนพุด โมเดล โดย ชุมชนอำเภอดอนพุด จังหวัดสระบุรี
ผู้รับรางวัล: คุณพัชรพัชร์ ศรีธัญญนนท์ นายอำเภอดอนพุด จังหวัดสระบุรี
แนวคิดของโครงการ
เพื่อแก้ปัญหาเกษตรกรในดอนพุดที่มีรายได้น้อย เนื่องจากปลูกข้าวกันเป็นหลัก ซึ่งมีความเสี่ยงรอบด้าน ทั้งยังประสบปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งทุกปี ทางอำเภอดอนพุดจึงออกแบบ “ดอนพุด โมเดล” ขึ้น โดยสนับสนุนให้ประชาชนหันมาปลูกผักมูลค่าสูง 4 ชนิด ทั้งยังจะก่อตั้ง บริษัท ดอนพุด เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด เพื่อรับผักไปจัดจำหน่ายในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งในอีก 1 ปีถัดไปจะปรับเป็นบริษัทวิสาหกิจชุมชน เพื่อนำรายได้ส่วนหนึ่งมอบสู่สังคม
จุดเด่นของโครงการ
- นอกจากความเสี่ยงจากการปลูกข้าว ปัญหาน้ำท่วม และภัยแล้ง ในพื้นที่ยังมีปัญหาเรื่องการดำเนินการต่าง ๆ ขาดช่วง เพราะการเปลี่ยนย้ายข้าราชการบ่อย “ดอนพุด โมเดล” จึงเป็นโครงการแรกที่ข้าราชการคิด เอกชนทำ โดยเมื่อเปลี่ยนข้าราชการ โครงการก็จะยังอยู่
- โครงการเริ่มต้นจากการสนับสนุนให้ประชาชนหันมาปลูกพืชที่มีมูลค่าสูง ควบคู่กับการปลูกข้าวแบบเดิม จึงได้เลือกพืชผล 4 ชนิดมานำร่อง ได้แก่ 1. ผักโมโรเฮยะ ที่มีวิตามินสูง 2. เห็ดมิลกี้ ที่มีโปรตีนสูง 3. เห็ดยามาบูชิตาเกะ บำรุงสมอง 4. ข้าวเจ๊กเชยเสาไห้ ที่มีน้ำตาลต่ำ เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวานที่มีจำนวนมากขึ้นทุกปี การเลือกพืชเหล่านี้อิงกับเทรนด์การรับประทาน Plant–Based แทนเนื้อสัตว์มากขึ้น รวมถึง Healthy Trend ที่ผู้บริโภคใส่ใจสุขภาพมากขึ้น
- อำเภอดอนพุดยังจะมีการจัดตั้ง บริษัท ดอนพุด เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด เพื่อกระจายสินค้า ทำการค้าและเป็นจุดรับซื้อผลิตผล โดยมีส่วนราชการส่งเสริม บริษัทจะจำหน่ายสินค้าทั้งในรูปแบบแปรรูป สินค้าชุมชนและผักสด มีทั้งการขายปลีก-ส่งในประเทศและต่างประเทศ ส่งวัตถุดิบให้กับร้านอาหาร ทั้งยังวางแผนจะเปลี่ยนเป็นบริษัทวิสาหกิจชุมชนหลังจากดำเนินกิจการได้ 1 ปี โดยแบ่งรายได้ 70% ให้เป็นประโยชน์สาธารณะ อีก 30% คืนสู่เกษตรกรในพื้นที่ นอกจากนี้จะมีการจัดตั้งร้านอาหารชื่อพยัญชนะ เพื่อนำเสนอคอร์สอาหารที่ใช้วัตถุดิบหลักทั้ง 4 และพืชผักในชุมชนมาประกอบอาหาร รวมถึงร้านของฝากชื่อวรรณยุกต์ ที่ขายของฝากและสินค้าแปรรูปจากวัตถุดิบทั้ง 4 (ชื่อร้านอิงมาจากสระบุรี)
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
สามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่
กลุ่มที่ 2: Value Creation Awards
2.5.1 Value Creation Award
ผลงานที่ได้รับรางวัล: THAI FIGHT HOTEL โดย ดร. นพพร วาทิน
ผู้รับรางวัล: ดร. นพพร วาทิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยไฟท์ จำกัด
แนวคิดของโครงการ
THAI FIGHT หยิบเอาศิลปะการป้องกันตัวของไทย คือ “มวยไทย” มาประยุกต์ให้กลายเป็น Showbiz จนได้รับความนิยมไปทั่วโลก ทั้งยังมีการต่อยอดความสำเร็จมาสู่ธุรกิจโรงแรม ด้วยการเปิด THAI FIGHT HOTEL ที่เกาะสมุย ให้เป็น Soft Power ประเทศไทย ภายใต้คอนเซ็ปต์ Thai Fight Signature Projects และพามวยไทยมุ่งสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
จุดเด่นของโครงการ
- THAI FIGHT เกิดขึ้นจากแนวคิดของ ดร. นพพร วาทิน ผู้คร่ำหวอดในธุรกิจสื่อมากว่า 30 ปี ที่นำกีฬามวยไทยมาผนวกเข้ากับความบันเทิง จนกลายเป็น “สปอร์ตเอนเตอร์เทนเมนต์” คอนเทนต์ระดับสากลภายใต้ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ปัจจุบันเพิ่มทุนแตะ 400 ล้านบาท
- THAI FIGHT ไม่ได้เป็นเพียงเวทีชกมวยไทยที่ถ่ายทอดทางโทรทัศน์ เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมการต่อสู้ของไทยสู่สายตาชาวโลกเท่านั้น แต่ยังนับเป็นโมเดลธุรกิจด้วยเช่นกัน โดยมีการจัดอีเวนต์ที่กระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ เฉลี่ย 8 แมตช์ ทำเงินได้หลายสิบล้านบาทต่อครั้ง นอกจากนี้ยังผนึกกำลังกับไบเทค สร้างฮอลล์เป็นเวทีหลักเพื่อชกมวยไทยราว 50 ครั้งต่อปี ซึ่งเป็นการต่อยอดสู่ธุรกิจออนไลน์ ขายคอนเทนต์ให้ทั่วโลกต่อไป รวมทั้งมีการขยายการแข่งขันไปยังต่างประเทศ เช่น นำทีมนักมวยจาก THAI FIGHT ไปแข่งกับนักมวยในจีน อิตาลี สเปน ฯลฯ
- THAI FIGHT ปั้นนักมวยในสังกัดให้เป็น “ฮีโร่” โดยเดินสายสอนศิลปะมวยไทย สร้างรายได้หลักล้านบาทต่อครั้ง เรียกว่าตลอดทั้งปีสามารถสร้างรายได้หลักหลายร้อยล้านบาท
- ล่าสุดบริษัทยังได้รับไม้ต่อและปรับปรุงโรงแรมเมอร์เคียวเดิมที่หาดละไม เกาะสมุย โดยพลิกโฉมให้เป็นโรงแรม THAI FIGHT HOTEL ในธีมโฮเทลมวยไทย โดยมีอาคาร 3 หลัง ประกอบด้วยห้องพัก 50 ห้อง พูลวิลลา 4 หลัง ภายในห้องพักมีจุดขายด้วยการตั้งกระสอบทราย นวม มงคลสวมศีรษะ ประเจียดแขน และอุปกรณ์ที่จะช่วยให้ห้องสมบูรณ์แบบประหนึ่งคุณคือยอดมวยไทย
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
สร้างรายได้มหาศาล ทั้งยังช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
ผลกระทบทางสังคม
ยกระดับศิลปะการต่อสู้แบบไทยให้กลายเป็น Soft Power ที่ทรงพลังในระดับสากล
2.5.2 Value Creation Award
ผลงานที่ได้รับรางวัล: Siam Diamond โดย คุณกิตติภูมิ ชินโสภณทรัพย์ และ คุณพัชรณัฏฐ์ พงษ์ประดิษฐ ผู้บริหาร บริษัท ท๊อปฟู้ดส์ซัพพลาย จำกัด
ผู้รับรางวัล: คุณพัชรณัฏฐ์ พงษ์ประดิษฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ท๊อปฟู้ดส์ซัพพลาย จำกัด
แนวคิดของโครงการ
Siam Diamond เป็นแบรนด์ทุเรียนเกรดพรีเมียมสัญชาติไทยโดยคนไทย ที่เพิ่มมูลค่าของผลไม้ในประเทศอย่างทุเรียน ด้วยการคัดเกรดทุเรียนคุณภาพพิเศษที่แตกต่างจากทุเรียนในท้องตลาดทั่วไป และใช้ “ทุเรียนเคลือบทองคำเปลว” (หรือทองคำบริสุทธิ์) เป็นจุดขาย ที่ทำให้เกิดกระแสตอบรับดีเยี่ยมทั้งในประเทศและต่างประเทศ
จุดเด่นของโครงการ
- Siam Diamond แบรนด์ทุเรียนพรีเมียม ผ่านการคัดสรรคุณภาพจากโรงงานมาตรฐานระดับสากล GMP & HACCP การันตีคุณภาพด้วยรางวัลสุดยอดแบรนด์ที่น่าลงทุน Most Recommended SME Brand จากงาน 2ndCASH Award 2022 ร่วมกับสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
- ทุเรียนพรีเมียมไดมอนด์ของ Siam Diamond คัดสรรด้วยนวัตกรรม DiamondBRIX ทุเรียน 1 แสนกว่าลูกจะถูกคัดเลือกออกมาเหลือเพียง “ไดมอนด์” หรือเพชรแท้เพียงไม่กี่ลูกเท่านั้น Siam Diamond จะตัดทุเรียนที่ความแก่ 90% ซึ่งทำให้ได้ทุเรียนที่มีความหวานละมุนเฉพาะตัว และจะเลือกลูกที่สุกคาปลิง เพื่อให้ได้ทุเรียนเนื้อหนึ่งหรือทุเรียนที่มีความเนียนของผิว ไม่เป็นลายน้ำ มีความเป็นเนื้อไก่ฉีก ซึ่งจะแตกต่างจากทุเรียนทั่วไปตามท้องตลาดอย่างชัดเจน
- Siam Diamond มีเคล็ดลับในการตัดทุเรียน นั่นคือการตัดเมื่อทุเรียนหลับหรือในช่วงเวลาหัวค่ำในสภาพอากาศที่เย็นชื้น ซึ่งจะช่วยรักษาสภาพความสดใหม่ของเนื้อทุเรียนไว้
- มีการเคลือบทุเรียนโดยใช้ทองคำเปลว (ทองคำบริสุทธิ์ 24K) ซึ่งได้มาตรฐาน Food Grade สามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัย และไม่มีผลต่อรสชาติของทุเรียน
- Siam Diamond สร้างจุดขายด้วยการที่ผู้บริโภคสามารถเลือกพันธุ์ของทุเรียนและเนื้อทุเรียนได้ตามความชอบ เช่น เนื้อกรอบนอกนุ่มใน เนื้อห่าม หรือเนื้อสุกกำลังดี ซึ่งตอบโจทย์รสนิยมการรับประทานทุเรียนเฉพาะบุคคล ในอนาคต Siam Diamond ยังมีแผนจะนำผลไม้อื่น ๆ ในประเทศ มาสร้างมูลค่าเพิ่มและต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพิ่มเติมอีกด้วย
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
เป็นการสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนและสวนทุเรียนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงแรงงานปลายน้ำ ในการคัดสรรทุเรียนเกรดพรีเมียม ให้มีรายได้มากขึ้นกว่าการปลูกทุเรียนเกรดทั่วไป
ผลกระทบทางสังคม
สร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้กับผลไม้ไทยอย่างทุเรียน ให้ทุเรียนธรรมดาสามารถกลายเป็นผลิตภัณฑ์ในระดับพรีเมียม และเป็นแนวทางให้กับ SME รุ่นใหม่ที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจของตนเองด้วยการต่อยอดวัตถุดิบหรือผลิตผลในประเทศ
ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
การควบคุมคุณภาพตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรมที่ใช้ ตั้งแต่การปลูก การตัด การคัดเกรด การแพ็ก จนถึงการขนส่ง สามารถช่วยให้ผลผลิตทุเรียนในประเทศได้คุณภาพตามมาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจช่วยลดปัญหาทุเรียนตกเกรด ไม่ผ่านการควบคุมคุณภาพ ลดโอกาสในการที่ทุเรียนจะขายไม่ได้ ถูกตีกลับเหลือทิ้ง และทำให้เกิดของเสียต่าง ๆ ตามมา
2.6.1 Cross-Sector Collaboration Award
ผลงานที่ได้รับรางวัล: สนามมวยลุมพินี โดย บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน)
ผู้รับรางวัล: พลตรี สัจจา สุขสุเมฆ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก (มวยไทยลุมพินี) และ คุณเกรียงกานต์ กาญจนะโภคิน Co-Chief Executive Officer บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน)
แนวคิดของโครงการ
บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) ได้รังสรรค์บริเวณพื้นที่ในสนามมวยลุมพินี เพื่อให้ต่อจากนี้เวทีลุมพินีจะลุกเป็นไฟอีกครั้ง กับค่ำคืนแห่งความมันของสุดยอดการประกบคู่ในกติกามวยไทย และศิลปะการต่อสู้แบบผสม (Mixed Martial Arts: MMA) ที่เหนือจินตนาการกว่าที่เคยเป็นมา
จุดเด่นของโครงการ
สนามมวยเวทีลุมพินีเป็นสนามมวยมาตรฐานของประเทศไทย ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก ปัจจุบันได้มีการปรับปรุงสถานที่จากแค่ “สนามมวย” ให้กลายเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ แบบ Sport Stadium โดย บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) ที่เชี่ยวชาญการจัดอีเวนต์ในระดับสากล ได้เข้ามาช่วยสร้างสรรค์บรรยากาศใหม่ให้เวทีมวยดูยิ่งใหญ่ขึ้น ด้วยการเพิ่มระบบโซลูชัน Light, Sound, Visual & Special Effect ที่ทันสมัย เพื่อยกระดับมวยไทยให้กลายเป็น Sport Event น่าสนใจมาตรฐานสากล
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
เพิ่มศักยภาพในการสร้างรายได้ของสนามมวยลุมพินี และดึงดูดนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติได้มากขึ้น
ผลกระทบทางสังคม
ยกระดับเวทีมวยไทยที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างยาวนาน ให้กลายเป็น Sport Event มาตรฐานสากล
2.6.2 Cross-Sector Collaboration Award
ผลงานที่ได้รับรางวัล: See Scape x Scrubb ไอศกรีมที่สร้างสรรค์จากบทเพลง โดย Guss Damn Good และวง Scrubb
ผู้รับรางวัล: คุณระริน ธรรมวัฒนะ และคุณนที จรัสสุริยงค์ Co-Founder of Guss Damn Good
แนวคิดของโครงการ
Guss Damn Good ผลิตไอศกรีมรส See Scape ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากบทเพลงของวง Scrubb
จุดเด่นของโครงการ
- See Scape คือรสชาติไอศกรีมที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเพลง “See Scape” ของวง Scrubb เพลงนี้เกิดขึ้นตอนที่เมื่อย (ธวัชพนธ์ วงศ์บุญศิริ) หนึ่งในสมาชิกของวงนั่งรถไฟไปเชียงใหม่ ลองให้ตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ หาทางออกใหม่ ๆ ปลดปล่อยพลังงาน เหมือนเป็นช่วงเปลี่ยนของชีวิต เพลงที่แต่งออกมาจึงให้ความรู้สึกของพลังบวกและบรรยากาศของความเป็นฤดูร้อน
- ก่อนทำงาน Guss Damn Good ได้พูดคุยกับเมื่อยและบอล (ต่อพงศ์ จันทบุบผา) จากวง Scrubb เพื่อจะได้เข้าใจเรื่องราวเบื้องหลังของบทเพลงก่อนที่จะออกแบบไอศกรีมขึ้น รสชาติที่ Guss Damn Good เลือกใช้เป็น Lemon Verbena ซึ่งเป็นพืชในแถบอเมริกาใต้ ที่มีกลิ่นหอมคล้ายเลมอน แฝงไปด้วยกลิ่นดิน กลิ่นลม กลิ่นป่า ความหอมสดชื่น ชวนให้นึกถึงบรรยากาศของการผจญภัย ที่บอกเราว่าอย่ากลัวที่จะทำตามฝัน กล้าที่จะออกไปข้างนอก และใช้ชีวิตอิสระบ้าง Guss Damn Good ขึ้นชื่อเรื่องรสชาติแปลกใหม่ที่ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวหลากหลายรอบตัว โดยก่อนหน้านี้ Guss Damn Good ยังเคยร่วมงานกับนิตยสาร a day ทำไอศกรีมที่สื่อสารถึงปัญหาสุขภาพจิต เพื่อส่งกำลังใจให้กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
ผลกระทบทางสังคม
เป็นการหยิบบทเพลงมาสื่อสารผ่านไอศกรีมได้อย่างสร้างสรรค์และลงตัว ชวนให้ทั้งแฟน ๆ ของวง Scrubb และแฟน ๆ ของ Guss Damn Good ได้ดื่มด่ำรสชาติไอศกรีมอย่างเต็มอรรถรส
2.6.3 Cross-Sector Collaboration Award
ผลงานที่ได้รับรางวัล: Q-CHANG x ช้าการช่าง โดย มูลนิธิกระจกเงา
ผู้รับรางวัล: คุณศรัณย์วิศว์ ภักดีนอก Head of Q-CHANG Business บริษัท เน็กซเตอร์ ดิจิตอล แอนด์ โซลูชั่น จำกัด และ คุณเบญจมาศ พางาม เจ้าหน้าที่โครงการจ้างวานข้า มูลนิธิกระจกเงา
แนวคิดของโครงการ
สร้างงาน สร้างโอกาส ให้กลุ่มช่างผู้สูงอายุและคนไร้บ้าน
จุดเด่นของโครงการ
เปิดอบรมเพื่อ Reskill ให้แก่กลุ่มช่างสูงอายุ คนไร้บ้าน คนยากจน และนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดอาชีพช่างเพื่อ “ชีวิตทุกวันช่างง่าย” ที่ Q-CHANG Academy โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โครงการยังเป็นพื้นที่รวบรวมแหล่งจ้างงานสำหรับประชาชนกลุ่มเปราะบาง ให้สามารถมีรายได้เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
นำกลุ่มช่างสูงอายุ คนไร้บ้าน กลับคืนสู่ตลาดแรงงานเพื่อสร้างรายได้
ผลกระทบทางสังคม
สร้างความตระหนักให้สังคมเล็งเห็นความสำคัญของกลุ่มผู้ไร้บ้าน และนำกลุ่มผู้ไร้บ้านให้กลับเข้ามาอยู่ในการคุ้มครองของมูลนิธิกระจกเงา รวมทั้งช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางด้วยการจ้างงาน
Creative Excellence Awards 2023:
ประเภท Creative Social Impact Awards
3. Creative Social Impact Awards จำนวน 4 รางวัล 7 ผลงาน
รางวัลสำหรับการนำความคิดสร้างสรรค์ไปประยุกต์ใช้ เพื่อแก้ไขหรือคลี่คลายประเด็นต่าง ๆ ทางสังคม (Social) อีกทั้งช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้นให้น้อยลง
3.1.1 Community Engagement Award
ผลงานที่ได้รับรางวัล: Traffy Fondue โดย ดร. วสันต์ ภัทรอธิคม และทีมวิจัยพัฒนา
ผู้รับรางวัล: ดร. วสันต์ ภัทรอธิคม ผู้อำนวยการกลุ่มนวัตกรรมดิจิทัลสำหรับเมือง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ คุณศนิ จิวจินดา ผู้ช่วยเลขานุการ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และทีมวิจัยพัฒนา
แนวคิดของโครงการ
Traffy Fondue คือระบบการบริหารจัดการปัญหาเมืองด้วยเทคโนโลยี Chatbot AI และ Big Data โดยใช้แพลตฟอร์มเป็นตัวเชื่อมระหว่างประชาชนที่พบเจอปัญหาต่าง ๆ ในเมือง กับคนหรือหน่วยงานที่จะเข้ามาแก้ปัญหาโดยตรง เพื่อลดขั้นตอนและเวลาในการเข้าถึงหน่วยงานภาครัฐของประชาชน ทำให้การแก้ปัญหาเมืองเกิดขึ้นจริงอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการเมืองให้เข้ากับยุคสมัยใหม่อีกด้วย
จุดเด่นของโครงการ
- Traffy Fondue เป็นแพลตฟอร์มนวัตกรรมบริหารจัดการเมืองด้วยข้อมูล ที่ใช้เทคโนโลยีเซนเซอร์ (Sensor) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยเปลี่ยนปัญหาเป็นข้อมูล เปลี่ยนข้อมูลเป็นความเข้าใจ เพื่อทำให้สามารถแก้ปัญหาเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ การนำ AI เข้ามาช่วยนับเป็นข้อดี เนื่องจากทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานในขั้นตอนต่าง ๆ น้อยลง แพลตฟอร์มนี้ทุกคนสามารถใช้งานได้ง่าย ไม่ต้องลงทะเบียนใด ๆ และไม่ต้องเปิดเผยตัวตน โดยเป็นการใช้งานผ่านไลน์ (LINE) เพียงแค่แอด Traffy Fondue เป็นเพื่อน - แจ้งปัญหาเข้ามา - ถ่ายรูป - แชร์โลเคชั่น - เลือกประเภทคนหรือหน่วยงานที่จะแก้ปัญหา จากนั้น Chatbot จะคอยตอบคำถามและทำการอัปเดตสถานะการแก้ปัญหานั้น ๆ
- ปัญหาต่าง ๆ จะได้รับการแก้ได้ด้วยขั้นตอนง่าย ๆ โดยเมื่อเจ้าหน้าที่เขตเข้าไปดูแพลตฟอร์มนี้ และรับรู้ปัญหา ก็จะเข้าไปแก้ปัญหาหน้างานได้แทบจะทันทีหรือภายในไม่กี่วัน โดยไม่ต้องทำเรื่องเอกสารไปขออนุมัติเป็นขั้นตอนหลายชั้น เพื่อรอขั้นสุดท้ายให้ผู้ว่าฯ เซ็นอนุมัติ ซึ่งหากเป็นการทำงานตามระบบราชการยุคเก่า อาจใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน
- ด้วยการร่วมมือกับชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร Traffy Fondue ยังนำมาใช้ในการแก้ปัญหาอื่น ๆ ใน กทม. ด้วยเช่นกัน โดยประชาชนใน กทม. สามารถแจ้งปัญหาผ่านไลน์ “เพื่อนชัชชาติ” ได้โดยตรง และผู้ว่าฯ สามารถติดตามได้ตลอดเวลาว่าเจ้าหน้าที่เขตต่าง ๆ รับรู้เรื่องที่แจ้งเข้ามาหรือไม่ มากน้อยเพียงใด และได้ติดตามลงพื้นที่เพื่อไปแก้ไขจนประชาชนพอใจแล้วหรือยัง โดยตรวจสอบผ่านแพลตฟอร์มอัตโนมัติด้วยตนเอง และไม่ต้องรอรายงานจากผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
Traffy Fondue ไม่เพียงช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานภาครัฐ ลดเวลาและขั้นตอนของประชาชนในการติดต่อเจ้าหน้าที่ แต่ยังช่วยประหยัดงบประมาณในการดำเนินการไปมากกว่า 78.14 ล้านบาท
ผลกระทบทางสังคม
Traffy Fondue เป็นการยกระดับการมีส่วนร่วมของพลเมือง (Citizen Engagement) ในการแก้ปัญหาเมืองได้อย่างเสรี และทำให้พลเมืองมีส่วนร่วมในการเสนอความเป็นไปได้ของเมืองในรูปแบบที่ต้องการให้เป็นด้วยตนเอง
ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
Traffy Fondue เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมใหญ่ ๆ ของเมือง เช่น ความสะอาด ขยะสาธารณภัย การเผาต้นไม้ กลิ่น เสียงรบกวน และสัตว์รบกวน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมในเมืองให้น่าอยู่ และลดมลพิษในเมือง เพื่อไม่ให้ส่งกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วย
3.1.2 Community Engagement Award
ผลงานที่ได้รับรางวัล: Yindii โดย Mr. Louis-Alban Batard-Dupre
ผู้รับรางวัล: Mr. Louis-Alban Batard-Dupre ซีอีโอแอปพลิเคชัน Yindii
แนวคิดของโครงการ
แพลตฟอร์มสั่งจองเบเกอรี่และอาหารคุณภาพดีแบบสุ่มจากโรงแรม 5 ดาว ร้านค้า และซูเปอร์มาร์เก็ตระดับพรีเมียม ในราคาถูกลง 50-70% เพื่อลดปัญหาอาหารส่วนเกินในประเทศไทย
จุดเด่นของโครงการ
- ซีอีโอชาวฝรั่งเศสที่ย้ายมาใช้ชีวิตในประเทศไทย มองว่าแอปพลิเคชัน Yindii จะเป็นมากกว่าพื้นที่ซื้อขาย แต่เป็นไลฟ์สไตล์ของผู้คน เขาต้องการเปลี่ยนแปลงวงการอาหารและดิลิเวอรีให้เป็นมิตรต่อโลกมากขึ้น สร้างความตระหนักรู้เรื่องขยะอาหารและผลกระทบที่เกิดขึ้นให้แก่ผู้คน โดยเชื่อว่าวิธีการนี้จะช่วยป้องกันปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ได้
- เมื่อเดินทางมายังประเทศไทย เขาเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครของ SOS Thailand (Scholars of Sustenance หรือมูลนิธิรักษ์อาหาร) ที่ขับเคลื่อนการจัดการอาหารส่วนเกินให้เป็นประโยชน์แก่ชุมชน โดยมีส่วนเข้าไปช่วยคิดแนวทางการระดมทุน ประสบการณ์นี้ทำให้เขาค่อย ๆ เริ่มเข้าใจเรื่องปัญหาขยะอาหารในประเทศไทย จนเมื่อโควิด-19 ระบาด จึงคิดโมเดลนี้ขึ้นมาในรูปแบบแพลตฟอร์ม ผู้ใช้งานสามารถเข้าไปกดจองล่วงหน้า เพื่อสั่งซื้อเบเกอรี่และอาหารจากร้านที่ต้องการตามเวลาที่กำหนดไว้ โดยมีทั้งช่วงเช้า สาย กลางวัน และเย็น เมนูจะเป็นแบบสุ่ม จัดใส่ลงถุงปริศนา (Yindii Box) เพราะขึ้นอยู่กับอาหารที่มี ณ ช่วงเวลานั้น ๆ ทั้งนี้ผู้ใช้งานสามารถกรอกข้อมูลเพื่อแจ้งข้อจำกัดการรับประทานอาหารก่อนได้)
- ด้วยความที่ร้านเหล่านี้จะมีอาหารเหลือที่จำเป็นต้องทิ้งรายวันอยู่แล้ว หากไม่มีการขายเกิดขึ้นทางร้านก็ไม่ได้เสียอะไร (ยกเว้นอาหาร) กลายเป็นว่ามีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มจากของที่เดิมต้องทิ้งลงถัง-ขยะ เมื่อหมดวันผู้บริโภคจึงมีอาหารอร่อย ๆ รับประทานในราคาย่อมเยา ทั้งยังมีส่วนช่วยลดขยะอาหารได้ โดยทุก 3 กิโลกรัมของอาหารที่รักษาได้ จะเทียบเท่ากับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 4.5 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์
ผลกระทบทางสังคม
ช่วยให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงอาหารคุณภาพดีได้ในราคาที่ถูกลง
ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
ช่วยลดปริมาณอาหารส่วนเกินที่อาจจะกลายไปเป็นขยะในแต่ละวัน
3.1.3 Community Engagement Award
ผลงานที่ได้รับรางวัล: Agri-Map โดย กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ผู้รับรางวัล: คุณวัฒนา มังธิสาร รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ดร. กัลยา อุดมวิทิต รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ และ ดร. นพดล คีรีเพ็ชร นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยคลังอนุพันธ์ความรู้ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค
แนวคิดของโครงการ
เครื่องมือแสดงผลข้อมูลเชิงภูมิสารสนเทศ ข้อมูลพื้นฐานเชิงแผนที่ด้านการเกษตร ที่ช่วยอำนวยความสะดวกด้านสารสนเทศการเกษตรให้กับเกษตรกรและผู้ที่สนใจ
จุดเด่นของโครงการ
- ระบบแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกบนสมาร์ทโฟน ด้วยเทคโนโลยี What 2 Grow เป็นการบูรณาการข้อมูลพื้นฐานเชิงพื้นที่ด้านการเกษตรจากทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งข้อมูลทรัพยากรพื้นฐานการผลิต (ดิน น้ำ พืช) ข้อมูลด้านการตลาด ข้อมูลเกษตรกร และเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้จะมีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา (Adaptive Data)
- นักบริหาร เจ้าหน้าที่ เกษตรกร และผู้สนใจ สามารถนำข้อมูลจากแอปพลิเคชันนี้ ไปใช้เป็นเครื่องมือในการวางแผนและบริหารจัดการสินค้าเกษตร ให้สอดคล้องตามสภาพพื้นที่และสถานการณ์ปัจจุบัน สภาพความเหมาะสมของปัจจัยการผลิตและการตลาดในพื้นที่ รวมถึงช่วยวางแผนการผลิตสินค้าเกษตรในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ปัจจุบันกรมพัฒนาที่ดินยังคงพัฒนา Agri-Map อย่างต่อเนื่อง โดยปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยและเพิ่มความสะดวกต่อการใช้งานอยู่เสมอ ล่าสุดเพิ่งมีการเพิ่มเติมข้อมูลเรื่องพืชทางเลือกที่ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 10 ชนิด เช่น มะม่วง กล้วย ส้มโอ ลองกอง โกโก้ ฯลฯ รวมถึงการเพิ่มเติมพืชสมุนไพรอีก 15 ชนิด เพื่อให้ Agri-Map เป็นเครื่องมือในการวางแผนการผลิตของประเทศที่ครอบคลุมยิ่งขึ้น
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
ช่วยให้เกษตรกรปลูกพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยยกระดับผลผลิตและคุณภาพชีวิตเกษตรกรไปพร้อม ๆ กัน
ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
เมื่อได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเหมาะสม มีแนวโน้มที่เกษตรกรจะสามารถดำเนินการทำการเกษตร โดยลดการใช้สารเคมีหรือกระบวนการที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยลง
3.2.1 Creative Well-Being Award
ผลงานที่ได้รับรางวัล: Khee โดย คุณเศรษฐสิทธิ์ เศรษฐการุณย์
ผู้รับรางวัล: คุณเศรษฐสิทธิ์ เศรษฐการุณย์ ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Khee
แนวคิดของโครงการ
Khee (ขี้) แอปพลิเคชันปักหมุดและค้นหาห้องน้ำสาธารณะที่ใกล้ที่สุดที่เคยมีคนมาปักหมุดไว้ เพื่อให้ผู้ใช้รอดพ้นจากสถานการณ์ฉุกเฉินไปพร้อม ๆ กัน มีจุดเริ่มต้นจากการที่เพื่อนของผู้พัฒนาแอปฯ ประสบเหตุฉุกเฉินที่มหาวิทยาลัยและหาห้องน้ำเข้าไม่ได้ ต่อมาไม่นานเขาก็เผชิญกับสถานการณ์เดียวกันขณะเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ จึงนึกคึกทำแอปฯ ปักหมุดห้องน้ำขึ้นมาเล่น ๆ ก่อนจะกลายเป็นไวรัล จนมีคนมาร่วมปักหมุดห้องน้ำไว้กว่า 4,000 จุดทั่วประเทศ
จุดเด่นของโครงการ
- Khee (ขี้) เป็นแอปพลิเคชันค้นหาห้องน้ำสาธารณะประเภท Crowdsourcing ที่ดึงข้อมูลแผนที่จาก Google Maps โดยให้ผู้ใช้จำนวนมากช่วยกันเพิ่มข้อมูลที่ตั้งของห้องน้ำและรายละเอียดเกี่ยวกับห้องน้ำ แอปฯ กลายเป็นไวรัลและประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วจากชื่อที่ตลกและจดจำได้ง่าย รวมถึงระบบที่เรียบง่ายและใช้งานสะดวก
- แอปฯ นี้ช่วยแก้ปัญหาของการไม่รู้ว่าห้องน้ำที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ไหนของผู้คนได้เป็นอย่างดี ดังนั้นเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินที่ต้องเข้าห้องน้ำ ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองเล็กหรือเมืองใหญ่ แอปฯ ก็จะช่วยค้นหาห้องน้ำที่อยู่ใกล้ที่สุดให้ได้ จึงนับเป็นตัวช่วยที่น่าสนใจในการยกระดับสุขภาวะของผู้คน
ผลกระทบทางสังคม
เป็นโอกาสในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับภาครัฐและภาคเอกชนในการขับเคลื่อนนโยบายห้องน้ำสาธารณะในประเทศไทย ตามที่เคยได้กำหนดมาตรฐานคุณภาพส้วมสาธารณะ ไว้ในงานประชุมวันส้วมโลกขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในปี 2549 ว่า HAS หรือ Healthy, Accessibility และ Safety รวมถึงสามารถใช้เป็นฐานข้อมูลตั้งต้นในการพัฒนาแอปฯ ที่ดี และมีฟีเจอร์ครบครันขึ้นเพื่อสุขภาวะของคนไทยในอนาคต
3.2.2 Creative Well-Being Award
ผลงานที่ได้รับรางวัล: Vulcan Coalition โดย คุณเมธาวี ทัศนาเสถียรกิจ และ คุณนิรันดร์ ประวิทย์ธนา
ผู้รับรางวัล: คุณธัญชนก จิรภากรณ์ Head of Learning and Development บริษัท วัลแคน โคอะลิชั่น จำกัด
แนวคิดของโครงการ
Vulcan Coalition คือธุรกิจเพื่อสังคมที่สร้างอาชีพให้ผู้พิการประเภทต่าง ๆ ได้มีโอกาสทำงานยุคใหม่ที่กำลังเป็นที่ต้องการ อย่างด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ด้วยศักยภาพที่แท้จริงของตนเอง ไม่ใช่เพียงเพราะความสงสารตามค่านิยมของสังคมรูปแบบเดิม ทั้งยังตั้งเป้าว่าจะเป็นบริษัท AI ในประเทศไทยที่แข่งขันกับต่างประเทศได้ โดยใช้ทักษะและความสามารถของผู้พิการเป็นตัวขับเคลื่อน
จุดเด่นของโครงการ
- ด้วยจำนวนผู้พิการในประเทศไทยกว่า 1.7 ล้านคน จึงมีการตระหนักถึงความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาอัตราการจ้างงานต่ำในกลุ่มนี้ ทุกวันนี้อุตสาหกรรม AI ในประเทศไทยขาดแคลนข้อมูล เนื่องจากมีคนทำงานไม่มากพอ ทำให้มีความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ลดลง ขณะเดียวกัน ประเทศไทยมีผู้พิการกว่า 400,000 คนที่อยู่ในวัยทำงาน แต่ยังไม่ได้รับโอกาสในการจ้างงาน Vulcan Coalition จึงออกแบบแพลตฟอร์มป้อนข้อมูลหลากหลายรูปแบบขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้พิการแต่ละประเภทได้ใช้ “ศักยภาพเฉพาะ” ที่โดดเด่นของตนเอง มาเป็นเครื่องมือในการทำงานได้
- Vulcan Coalition จึงเกิดขึ้นเพื่อเปิดรับผู้พิการทั้งทางสายตา การได้ยิน การเคลื่อนไหว และปัญญา ในตำแหน่ง AI Trainer ที่ทำงานจัดระเบียบข้อมูลตามความถนัดของแต่ละคน โดยมีการจัดการสอนให้ก่อนเริ่มทำงานจริง และตำแหน่ง Software Developer ที่พัฒนาโมเดล AI และแอปพลิเคชันต่าง ๆ ปัจจุบันมีผู้พิการเป็น AI Trainer และ Software Developer ภายในบริษัทกว่า 200 คน นอกจากจะได้รับเงินเดือนแล้ว (ประมาณ 9,250 บาท ทำงาน 4 ชั่วโมงต่อวัน) Vulcan Coalition ยังเปิดโอกาสให้ผู้พิการเลือกจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมให้บริษัทนำไปพัฒนา AI โดยแต่ละคนจะถือเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา และได้รับเงินปันผล 30% ของรายได้ที่เกิดขึ้นจากข้อมูลที่ตนเองดูแล ใครทำมากเท่าไรยิ่งได้มากเท่านั้น
- Vulcan Coalition ยังใช้โมเดล Quota Partner ที่อ้างอิงกฎหมาย ซึ่งกำหนดให้บริษัทต้องจ้างงานโดยมีสัดส่วนพนักงานผู้พิการ 1 คนต่อลูกจ้างทุก ๆ 100 คน บริษัทที่มีโควตารับผู้พิการเป็นลูกจ้าง แต่ไม่สามารถจ้างงานพวกเขาได้ในแต่ละปี จะต้องส่งเงินเข้ากองทุนประมาณ 1 แสนบาทต่อคน เพราะฉะนั้นแทนที่จะส่งเงินเข้ากองทุน บริษัทสามารถนำเงินนั้นมาจ้างงานผู้พิการผ่าน Quota Partner กับทาง Vulcan Coalition ได้ ซึ่งนับว่าวิน-วินกันทุกฝ่าย โดยบริษัทจะได้รับข้อมูลคุณภาพสูงและผู้พิการก็ได้ทำงานตามศักยภาพของตนเอง โดยในปี 2022 Vulcan Coalition มี Quota Partner มาเข้าร่วมมากกว่า 60 บริษัท
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
เป็นพื้นที่สร้างรายได้แก่ผู้พิการอย่างจริงจัง มีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
ผลกระทบทางสังคม
สร้างความตระหนักรู้ให้สังคม ว่าผู้พิการก็สามารถประกอบอาชีพได้อย่างหลากหลาย มีศักยภาพ และไม่จำเป็นต้องอยู่ด้วยความสงสารของคนอื่นเพียงอย่างเดียว
3.3 Creative for Elderly Award
ผลงานที่ได้รับรางวัล: Joy Ride แพลตฟอร์มเพื่อผู้สูงอายุ โดย คุณณัฐกาญจน์ เด่นวณิชชากร
ผู้รับรางวัล: คุณณัฐกาญจน์ เด่นวณิชชกร กรรมการผู้จัดการ บริษัท วีล ออฟ จอย จำกัด
แนวคิดของโครงการ
“ลูกรับจ้างหลานจำเป็น” ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มตัว โดย 30% ของผู้สูงวัยไม่ได้มีลูกหลานดูแล ผู้สูงวัยกลุ่มนี้ก็อยากมีใครสักคนที่คอยพาไปหาหมอที่โรงพยาบาล Joy Ride จึงเป็นแพลตฟอร์มที่เข้ามาตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายนี้ โดยให้บริการไปรับ-ส่งผู้สูงอายุ เพื่อพาไปหาหมอหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ
จุดเด่นของโครงการ
- ให้บริการแก่ผู้สูงอายุเปรียบเสมือนเป็นลูกหลาน สร้างบรรยากาศเป็นกันเอง เพื่อให้ผู้สูงอายุเปิดใจพูดคุยมากยิ่งขึ้น
- ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในประเทศไทย เรื่องการเข้าถึงระบบสาธารณสุขให้เป็นเรื่องง่ายมากยิ่งขึ้น
- ช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องการไม่มีเวลาเพียงพอที่จะมาดูแลผู้สูงอายุ ของลูกหลานในสังคมเมืองที่มีความเร่งรีบสูง
- ให้บริการพาผู้สูงอายุไปยังสถานที่ต่าง ๆ ตามความต้องการ เช่น ไปวัดทำบุญ ไปเป็นเพื่อนซื้อของ ทำธุรกรรมติดต่อราชการหรือกิจกรรมต่าง ๆ
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
สร้างงาน สร้างโอกาสให้แก่ผู้ที่เป็นพาร์ตเนอร์กับ Joy Ride
ผลกระทบทางสังคม
สร้างความตระหนักถึงการเล็งเห็นถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ และช่วยให้ผู้สูงอายุได้เข้าถึงบริการสาธารณสุขได้มากยิ่งขึ้น
3.4 Creative Education Award
ผลงานที่ได้รับรางวัล: YoungHappy โดย บริษัท ยังแฮปปี้ จำกัด
ผู้รับรางวัล: คุณชาคิต พรหมยศ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยังแฮปปี้ จำกัด
แนวคิดของโครงการ
YoungHappy แพลตฟอร์มสังคมความสุขของคนวัยเก๋า มุ่งเสริมพลัง (Empowerment) เรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) และการมีส่วนร่วมทางสังคม (Social Participation) ให้กลุ่มผู้เกษียณอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป โดยต้องการเข้ามาแก้ปัญหาความเหงาหงอย ความรู้สึกหมดกำลังใจและหมดคุณค่า เพื่อให้ผู้สูงอายุยังคงความสนุก มีคุณค่า และพึ่งพาตนเองได้
จุดเด่นของโครงการ
- โครงการจัดแคมเปญพิเศษมากมายเพื่อให้ผู้สูงวัยได้พบปะและทำกิจกรรมร่วมกัน สร้างสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นเพื่อลดปัญหาด้านสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า ซึ่งอาจจะส่งผลต่อสุขภาพกายได้ กิจกรรมที่จัดมีความสร้างสรรค์และตอบโจทย์ความสนใจของผู้สูงอายุได้อย่างเข้าใจ มีทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อพัฒนาความรู้ในด้านต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยี การรักษาสุขภาพร่างกายและจิตใจ ฯลฯ
- โครงการจัดให้มีหลักสูตรการเรียนการสอนที่ออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะ โดยเข้าใจและเข้าถึงพฤติกรรมของผู้สูงอายุอย่างแท้จริง แต่ละหลักสูตรเข้าใจได้ง่าย เรียนรู้ได้จริง และมีการวางแผนบทเรียนหรือการบ้านให้ทำ เช่น วัยเก๋าทำคลิปอะไรให้ปังและสนุก, วิธีสร้างช่อง (Channel), สอนการใช้แอปฯ Google Maps, สอนวิธีค้นหาร้านของกินที่ใช่ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการออกแบบแอปพลิเคชัน YoungHappy แพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อเป็นพื้นที่ให้ผู้สูงอายุได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกับเพื่อนวัยเดียวกัน พร้อมเข้าถึงกิจกรรมความรู้และสิทธิประโยชน์มากมาย ที่คัดสรรมาเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะ
ผลกระทบทางสังคม
สร้างคอมมิวนิตี้ที่ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุรู้สึกมีคุณค่า พึ่งพาตนเองได้ ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข รวมถึงมุ่งสร้างคุณภาพชีวิตให้ผู้สูงวัย อีกมุมหนึ่งคือการสร้างความตระหนักรู้ให้กับลูกหลาน ให้หันมาสนใจผู้สูงวัยในบ้านมากขึ้น เพิ่มความใส่ใจและลดปัญหาความขัดแย้งในสังคม โดยเฉพาะสถาบันครอบครัว
หมายเหตุ: ภาพบางส่วนจากอินเทอร์เน็ต