DATA & Statistics

สถิติกิจการในอุตสาหกรรมดนตรี

จำนวนกิจการจำแนกตามขนาด (ราย)

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA สรุปข้อมูลภาพรวมของ “อุตสาหกรรมดนตรี” ที่ประกอบธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล โดยรวบรวมข้อมูลจากรหัสธุรกิจ (TSIC) ที่เกี่ยวข้อง  จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า จำนวนนิติบุคคลที่อยู่ในอุตสาหกรรมดนตรี มีจำนวนทั้งสิ้น 720 ราย (ข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม 2563)

หากจำแนกตามขนาดกิจการ  พบว่า ส่วนใหญ่เป็นกิจการขนาดเล็ก (S) มากที่สุด ถึง 705 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 98 และเมื่อจำแนกเชิงพื้นที่ระดับภูมิภาค พบว่า กิจการส่วนใหญ่จัดตั้งอยู่ในบริเวณกรุงเทพมหานคร สูงที่สุด จำนวน 461 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 64 ของจำนวนกิจการทั้งหมด รองลงมาคือ ภาคกลาง 143 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 19.8 ส่วนในภูมิภาคอื่น ๆ นั้น มีการกระจายตัวของกิจการในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน

หากจำแนกสัดส่วนรายได้ตามขนาดกิจการและประเภทธุรกิจ พบว่า กิจการขนาดเล็ก (S) มีสัดส่วนรายได้สูงที่สุดในกลุ่มธุรกิจ 85422 ประเภทกิจกรรมการเรียนการสอนด้านดนตรี ส่วนกิจการขนาดกลาง (M) มีสัดส่วนรายได้สูงสุดอยู่ในกลุ่ม  59203 ประเภทกิจกรรมการดูแลสิทธิในการผลิตซ้ำ ขณะที่กิจการขนาดใหญ่ (L) มีสัดส่วนรายได้สูงสุดอยู่ในกลุ่ม 59203 ประเภทกิจกรรมการดูแลสิทธิในการผลิตซ้ำ 

รหัสธุรกิจ (TSIC) รายได้รวม
(ล้านบาท)
กำไรสุทธิ
(ล้านบาท)
จำนวนกิจการที่ใช้
ในการประมวลผล (ราย)
18200 การผลิตซ้ำสื่อบันทึก 1,136.86 -898.27

96

59201 กิจกรรมการบันทึกเสียงลงบนสื่อ 673.41 -12.54 97
59202 กิจกรรมการจัดพิมพ์จำหน่ายหรือเผยแพร่ดนตรี 5,157.61 213.4 49
59203 กิจกรรมการดูแลสิทธิในการผลิตซ้ำดนตรีเพื่อจำหน่ายหรือเผยแพร่ 408.67 19.57 26
85422 กิจกรรมการเรียนการสอนด้านดนตรี 391.73 -19.92 120

จากข้อมูลรายได้รวมสะท้อนมาสู่กำไรสุทธิ จะพบว่า อุตสาหกรรมดนตรีมีกำไรสุทธิติดลบถึง -697.76 ล้านบาท หากแยกรายละเอียดตามรหัสธุรกิจ กลุ่มที่มีกำไรติดลบมากที่สุดก็คือ กลุ่ม 1820 การผลิตซ้ำสื่อบันทึก ซึ่งมีกำไรสุทธิติดลบถึง -898.27 ล้านบาท โดยมาจากกลุ่มกิจการขนาดเล็ก (S) มากที่สุด ซึ่งสัมพันธ์กับการที่กิจการขนาดเล็กมีจำนวนถึงร้อยละ 97 ของกิจการทั้งหมดในรหัสธุรกิจดังกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณานิยามของรหัสธุรกิจ “การผลิตซ้ำจากบันทึกต้นฉบับดนตรี หรือการบันทึกเสียงอื่น ๆ ลงบนแผ่นซีดีและเทปการผลิตซ้ำจากบันทึกต้นฉบับภาพยนตร์และวีดิทัศน์อื่น ๆ ลงบนแผ่นซีดีและเทป การผลิตซ้ำจากบันทึกต้นฉบับซอฟต์แวร์และข้อมูล ลงบนแผ่นดิสก์และเทป” เป็นข้อสังเกตว่า กลุ่มกิจการในรหัสธุรกิจนี้ยังดำเนินธุรกิจในรูปแบบเดิม หรือเทคโนโลยีแบบเดิมอยู่หรือไม่ จะมีแนวทางการส่งเสริมกิจการเหล่านี้เพื่อยกระดับหรือปรับเปลี่ยนธุรกิจไปในทิศทางใด ให้ผลประกอบการโดยรวมดีขึ้น และธุรกิจยังคงอยู่รอดได้ในระยะยาว

จากข้อมูลงบการเงินของกิจการ สามารถนำมาวิเคราะห์ถึงศักยภาพการดำเนินธุรกิจ  ได้ จากข้อมูลพบว่า ในอุตสาหกรรมดนตรีนั้น มีศักยภาพการดำเนินธุรกิจอยู่ในระดับแข็งแกร่ง (Strong) มากถึงร้อยละ 35.9 รองลงมา คือ ระดับปานกลาง (Regular) ร้อยละ 34 และระดับอ่อนแอ (Weak) ร้อยละ 30 แต่ในภาพรวมแล้ว เมื่อวิเคราะห์ในส่วนของอัตราการอยู่รอดของธุรกิจ  จะพบว่า เกือบทุกรหัสธุรกิจมีอัตราการอยู่รอดในระดับสูง มากกว่าร้อยละ 90

จากข้อมูลในข้างต้น อนุมานได้ว่ากลุ่มอุตสาหกรรมดนตรี มีผลประกอบการภาพรวมอยู่ในระดับดี ซึ่งคงต้องมีการติดตามและวิเคราะห์ข้อมูลใหม่อีกครั้งในช่วงต้นปี 2564 หลังจากที่ผู้ประกอบการมีการส่งงบการเงินปี 2563 ครบถ้วนแล้ว เพื่อพิจารณาว่าในช่วงสถานการณ์ COVID-19 เกิดผลกระทบกับกิจการในอุตสาหกรรมดนตรีมากน้อยเพียงใด 

อย่างไรก็ตาม การสรุปข้อมูลสถิติในครั้งนี้ดำเนินการรวบรวมเฉพาะในส่วนของกิจการที่จดทะเบียนนิติบุคคล ยังไม่ครอบคลุมถึงกลุ่มศิลปิน นักแต่งเพลง หรือกลุ่มคนดนตรีที่ทำงานอิสระ ทั้งนี้ CEA ได้วางแผนงานศึกษาข้อมูลเชิงลึกรายอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อรับฟังปัญหาและความต้องการของกลุ่มคนดนตรีอิสระเหล่านี้ เพื่อแสวงหาแนวทางการสนับสนุนในมิติต่าง ๆ ซึ่งจะมีการถอดผลการศึกษาเป็นบทความเพื่อเผยแพร่ในโอกาสต่อไปที่มา :
1. ข้อมูลกิจการตามรหัสธุรกิจ (TSIC) และวิธีการประมวลผล จาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
2. รวบรวมและวิเคราะห์รายอุตสาหกรรม โดย สำนักงานพัฒนาองค์ความรู้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)